"การศึกษายกกำลังสอง" มุ่งสร้างทุนมนุษย์เรียน-ทำงาน
“การว่างงาน” เป็นปัญหาของประเทศไทยที่สะสมมาอย่างยาวนาน ยิ่งเกิดสถานการณ์การแพร่ะระบาดของโรคโควิด-19 เหมือนยิ่งซ้ำเติมคนกำลังหางาน โดยเฉพาะบัณฑิตป้ายแดงที่คาดการณ์ว่าจะว่างงานหลายแสนคน
“ระบบการศึกษา”ดูจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอัตราการว่างงาน เพราะมีเสียงสะท้อนของผู้ใช้แรงงานผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
“ภาคเอกชน” จึงกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาไทย “การศึกษายกกำลังสอง” ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” กล่าวว่าอาจจะช้าไป ต้องเป็นยกกำลังห้า และต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน กำลังสำคัญร่วมปรับเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาให้แตกต่างไปจากเดิม ขณะที่ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ประกาศนำพาการศึกษาไทยสู่ยุคใหม่ สร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่เน้นความเข้าใจระหว่างภาครัฐและเอกชน
“ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี” กล่าวว่าภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยเรื่องการศึกษาตั้งแต่แรก โดยโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) มีเอกชนเข้าร่วมกว่า 40 ราย และแก้ไขปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนต่างๆ จากเดิม 3,000 กว่าแห่ง
ตอนนี้มีขยายผลมากกว่า 5,000 แห่ง นอกจากนั้น เทคโนโลยี และกระบวนการต่างๆ ที่แต่ละภาคเอกชนไปสร้างร่วมกับโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการ สามารถนำไปต่อยอดสู่ในโรงเรียนอื่นๆ 20,000 กว่าแห่ง
สำหรับบทบาทการยกกำลังสองครั้งนี้ “ภาคเอกชน” จะเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโรงเรียน รวมถึงนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้าสู่สถานศึกษาเพื่อให้เข้าถึงครู นักเรียน และโรงเรียนมากที่สุด ภายใต้โจทย์ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะทำอย่างไร? ให้ทุกคนมองเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนบทบาทจากครูผู้ที่กำหนดว่าเด็กทำอะไร? ครูต้องเป็นผู้ที่ช่วยส่งเสริมดึงศักยภาพของเด็กออกมาผ่านกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะจากการลงมือทำ จะต้องเป็นการเรียนเพื่อรู้ เทรนเพื่อทำ
“เอกชนต้องเข้ามาช่วยระบบการศึกษา เพราะเอกชนเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งระบบ เอกชนต้องเป็นผู้สร้างงาน หรือรับบุคลากรของประเทศเพื่อให้ประเทศแข่งขันได้ การที่เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษา พัฒนาเด็กตั้งแต่แรกถือเป็นเรื่องที่ดี และทำให้เอกชนกลายเป็นสถาบันที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต”ศุภชัย กล่าว
จากการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ทำให้สถานประกอบการ บริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมได้เห็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยและร่วมกันจัดวางระบบ แก้ไขปัญหา“ศุภชัย”กล่าวต่อว่า ปัญหาในระบบการศึกษาที่ควรปรับปรุงเป็นหลัก มี 4-5 ประเด็น คือ 1.ระบบนิเวศน์ของการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการสอน ความโปร่งใส่ของข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องตัวชี้วัดต่างๆ ที่ต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง 2.กลไกของตลาดในการเชื่อมโยงทั้งผู้ปกครอง ชุมชน เอกชนในท้องถิ่นท้องที่ และเอกชนในระดับอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน
3.เรื่องบุคลากร โดยเฉพาะตัวผู้นำทางการศึกษา อย่าง ผอ. ครู ต้องใช้กระบวนการทางองค์ความรู้ภาคเอกชนเข้ามาผสมผสาน และ4.เรื่องของการทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น สมุดพกดิจิตอล เพราะต่อไปทุกเรื่องเข้าสู่ยุคของข้อมูลมหาศาล ระบบการศึกษาต้องนำเทคโนโลยีและศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการประเมิน ดึงศักยภาพของเด็ก
“การดำเนินงานของเอกชนขั้นต่อไป คือ การจัดทำคราวด์ฟันดิ้งในภาคเอกชนทุกแห่งร่วมกัน เป็นการนำเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เขาไปถึงเด็กทุกคนในโรงเรียนทั่วประเทศ จะมีการกำหนดเนื้อหา สาระ และกลั่นกรองเนื้อหาบนโลกอินเตอร์เน็ตให้แก่เด็ก และต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยระบบการศึกษาของไทย”ศุภชัย กล่าว
ขณะนี้การจะนำระบบเศรษฐกิจมาช่วยระบบการศึกษา“ศุภชัย” กล่าวต่อไปว่า ระบบเศรษฐกิจ ของไทยอยู่ในช่วงที่เปราะบาง เพราะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทุกภาคฝ่ายมีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกัน ทั้งเสริมสร้างระบบการศึกษา และเตรียมพร้อมในการสร้างผู้ประกอบการ สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ยุคใหม่ เพื่อให้บุคลากรของไทยได้ใช้ทักษะ และศักยภาพของภาคเอกชนด้วย เพราะการดำเนินเรื่องเศรษฐกิจ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยศักยภาพของมนุษย์ที่เข้มแข็ง เรื่องนี้มีความสำคัญมากๆ
อย่างไรก็ตาม การศึกษายกกำลังสองแสดงถึงความสามัคคีของภาคเอกชน ประชาชนสังคมในการร่วมกันแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประเทศโดยเฉพาะเป็นเรื่องของเยาวชน อนาคตของชาติ ซึ่งถ้ามีความสามัคคีเป็นพื้นฐาน ก็จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจ และสังคมของเราสามารถก้าวผ่านช่วงวิกฤต หรือหลังวิกฤตโควิด-19
ด้าน“อติวิท เติมลาภ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการศึกษาและความร่วมมือ บ.ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)”กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่บริษัท ไมเนอร์ฯ ได้เข้าร่วมในการพัฒนาการศึกษาผ่านโครงการคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) โดยได้ร่วมจัดการเรียนรู้หลักสูตรด้านโรงแรมให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ที่มุ่งเน้นการสร้าง Digital mindset ให้แก่เด็กๆ เพราะตอนนี้ทักษะเชิงดิจิตอล ถือเป็นทักษะพื้นฐานที่ตอบโจทย์การทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
รวมถึงการฝึกฝนด้านภาษาเพิ่มเติมให้แก่เด็ก เพราะจากการทำงานร่วมกับโรงเรียน เด็กอาชีวะมีปัญหาเรื่องภาษาอย่างมาก ดังนั้น การศึกษายกกำลังสอง เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องเข้ามาทำงานร่วมกับโรงเรียน สร้างโมเดลทางด้านธุรกิจในวิทยาลัย และให้เด็กได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริงๆ อีกทั้งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาเสริมเด็ก ช่วยลดครูให้เรียนรู้ไปพร้อมกัน