Trail Running วิ่งผ่าป่า...อย่าหาทำ?
ก้าวข้ามงาน "วิ่งเทรล" สุดดราม่า มองไปข้างหน้าสู่เส้นทางที่เหมาะสม ด้วยมุมมองรอบด้านจากนักอนุรักษ์ นักวิ่ง และผู้จัดงาน
หลายบทเรียนที่ยิ่งกว่าราคาแพงของสนามวิ่งเทรล ถูกถอดรหัสพร้อมปรับทัศนคติให้งานวิ่งที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นอาชญากรผู้ก่ออาชญากรรมต่อธรรมชาติ เป็นงานวิ่งเชิงสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์ทั้งนักวิ่งหัวใจสีเขียวและไม่เกิดผลกระทบต่อ "ระบบนิเวศ"
- วิ่งเทรล (ต้อง) ไม่ทำลาย
เมื่อธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหา นักวิ่งหลายคนจึงก้าวเท้าวิ่งเข้าป่าเพื่อสัมผัสธรรมชาติ ถึงเสน่ห์ของพงไพรจะน่าหลงใหลสักเท่าไร แต่ก็อาจต้องตระหนักกันสักนิดว่าบางพื้นที่ก็ “อย่าหาทำ!”
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คุณหมอนักอนุรักษ์ บอกว่าโดยเจตนาของการ "วิ่งเทรล" เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการออกกำลังกาย และเป็นการใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีงานวิ่งเทรลน้ำดีมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางงานส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ
“ถ้าจัดงานในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยาน เขตห้ามล่า หรือแม้แต่ป่าสงวนแห่งชาติ สิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเลยคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพราะเหตุผลของการกำหนดเขตเพื่ออนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าโดยตรง ไม่ได้มีเรื่องของนันทนาการ ไม่มีการรองรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก อย่างดอยหลวงเชียงดาวเป็นที่อาศัยของกวางผา หรือพันธุ์ไม้ถิ่นเดียว บางคนไม่รู้จักหรือไม่ได้มองก็อาจเหยียบได้
ส่วนอุทยานแห่งชาติจะซับซ้อนขึ้นนิดหนึ่ง คือมีโซนเพื่อนันทนาการได้ เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวไปอยู่แล้ว ก็คงต้องดูว่าถ้าไม่ใช่พื้นที่เปราะบางมาก หรือเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ก็จัดกิจกรรมได้ แต่จำนวนไม่มาก
สรุปว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องไม่มีการจัดงานเด็ดขาด อุทยานแห่งชาติคือต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ ดูปริมาณคน ขีดความสามารถในการรองรับเพียงพอหรือเปล่า จริงๆ แล้วมีพื้นที่ธรรมชาติเยอะแยะไปหมดเลยที่ไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ และเป็นพื้นที่ที่สวยงาม จัดกิจกรรมเพื่อการกีฬาได้ ถ้าจะจัดงานวิ่งเทรลจึงไม่ควรจัดในพื้นที่มีสัตว์ป่าหรือพันธุ์ไม้พิเศษ”
นอกจากนี้ผู้จัดงานบางรายยังพยายามใส่กิจกรรมที่ดูคล้ายว่าเป็นเชิงอนุรักษ์ เช่น ปลูกป่า, ทำฝาย ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรม CSR ทำนองนี้หากทำผิดวิธีหรือทำอย่างไม่เข้าใจจะกลายเป็นความเสียหายอย่างมหันต์ นพ.รังสฤษฎ์ อธิบายว่า การปลูกป่าในพื้นที่ป่าสมบูรณ์นั้นไม่มีความจำเป็น เพราะอาจเป็นการทำลายระบบนิเวศ
“อาจเป็นเพราะความรู้ไม่มากพอ คิดเพียงว่าปลูกป่าทำฝายเป็นสิ่งดี แต่ความจริงแล้วถ้าผิดที่ผิดทางก็ไปกันใหญ่ ถ้าไม่ใช่หมอจริงแล้วไปรักษาคนไข้ จะเยียวยาธรรมชาติแต่ไม่มีความรู้ เหมือนใช้หมอเถื่อนรักษา บางทีโรคก็ยิ่งร้ายได้นะ นี่ก็ต้องปรึกษาคนที่มีความรู้ อันนี้ก็ต้องยอมรับเพราะแม้แต่กรมอุทยานเองก็ปล่อยให้มีการปลูกป่าที่ไม่ถูกต้อง เช่น เอาพันธุ์ไม้ไม่ใช่ท้องถิ่นมาปลูก ฝายนี่ชัดเจน เพราะการกั้นลำน้ำที่เป็นลำน้ำถาวร จากระบบนิเวศน้ำไหลเป็นระบบนิเวศน้ำนิ่ง สัตว์น้ำตายเยอะแยะมากมาย”
- มนต์ ‘รักษ์’ นักวิ่ง
“เสน่ห์ของการวิ่งเทรลคือเรารู้สึกว่าได้สัมผัสธรรมชาติ เราเข้าไปในที่ที่รถเข้าไปไม่ถึง มันทำให้เรามีความสุข วิ่งแล้วเพลินไม่เหมือนถนนที่เราวิ่งไปมองตึกไป การวิ่งในป่ามันเป็นเหมือนธรรมชาติบำบัด ทำให้เรามีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี และที่มันเกินกว่าเรื่องสุขภาพ มันคือ Challenge ตัวเอง ท่ามกลางสีเขียวและความสดชื่นของป่า”
เสียงสะท้อนจาก อุทัยทิพย์ สังข์วิศิษฐ์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์และเป็นหนึ่งในคนที่หลงใหลการวิ่งเทรลอย่างมาก โดยเริ่มจากการวิ่งถนนปกติ แล้วติดใจเสน่ห์ของ "การวิ่ง" แต่ความท้าทายของการ "วิ่งเทรล" ที่ทั้งโหด มัน ฮา ทำให้เธอลองมาวิ่งเทรล จนถึงปัจจุบันก็ผ่านมาแล้วหลายสนาม เรียกได้ว่าแม้ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพแต่เป็นนักวิ่งเทรลที่จริงจังคนหนึ่ง
ตลอดการวิ่งเทรลของเธอมีทั้งแง่งามที่น่าจดจำ และความพังของบางงานที่เธอบอกว่าพลาดอย่างมหันต์ที่เสียทั้งสตางค์ค่าสมัคร ทั้งแรงในการวิ่ง และที่สำคัญเสียความรู้สึก
“เคยวิ่งที่สนามแถวอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งตรงนั้นมีสัตว์ป่าด้วย ตอนแรกเราไม่รู้ ตอนนั้นด้วยความที่อยากวิ่ง ช่วงนั้นติดวิ่งเทรลมาก อยากไปวิ่งที่นู่นที่นี่ และเลือกสนามนี้เพราะมันใกล้กรุงเทพฯ พอไปวิ่งจริงๆ ในป่า ก็เห็นรอยขี้ช้าง รอยหักกิ่งไม้ ถึงขนาดได้กลิ่นช้างเลยนะ แต่ไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นสาบช้างหรือจากขี้ช้าง แล้วขี้ช้างก็ยังใหม่ไม่กี่วัน เรารู้สึกว่าเริ่มกลัว
ซึ่งงานวิ่งในที่ที่มีช้าง หรือมีสัตว์ป่าหายาก มันไม่เหมาะกับจัดงานวิ่งเทรล เพราะมันเป็นการรุกล้ำ อุทยานได้นะ แต่ต้องดูโซนว่าโซนนี้อันตรายหรือเปล่า ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า อันนี้ไม่ควรจัดเทรลอยู่แล้ว”
ไม่เพียงแค่ตัวอย่างงานที่ปัญหาอยู่กับผู้จัดเลือกสถานที่ไม่เหมาะสม แต่ตัวนักวิ่ง (บางคน) ก็เปลี่ยนบทบาทจากคนที่จะเข้าไปเรียนรู้กลายเป็นผู้รุกราน นอกจากฝากรอยเท้าเอาไว้ยังนำขยะไปทิ้งเป็นบาดแผลแก่ผืนป่าอีกด้วย
อุทัยทิพย์ เล่าให้ฟังว่า เคยเห็นอยู่หลายครั้งที่มีนักวิ่งทิ้งขยะจำพวกซองเจลให้พลังงานตามเส้นทาง จนเธอต้องเก็บนำมาทิ้งถังขยะ ซึ่งน่าจะมีที่เล็ดลอดสายตาเธอไปอีกจำนวนมาก
“ถามว่ามีนักวิ่งทิ้งขยะไหม ก็ตอบได้ว่ามี แต่มีแบบตั้งใจกับไม่ได้ตั้งใจ บางคนกินแล้วเก็บใส่กระเป๋าแต่เวลาวิ่งหรือหยิบสิ่งของแล้วขยะมันหลุดร่วงโดยไม่ตั้งใจก็มี อย่างเราก็เคยนะแต่เก็บทัน ซึ่งก็มีนักวิ่งบางคนตามเก็บให้ ล่าสุดที่งาน CM6 ที่เชียงใหม่ เห็นมีนักวิ่งคนหนึ่งที่ DNF (Do Not Finish = วิ่งไม่จบ) แต่เขาลงมาเก็บขยะต่อ ถ้ารอรถมารับก็นานเขาเลยเดินเก็บขยะลงมาเรื่อยๆ นักวิ่งแบบนี้มีเยอะนะคะ
แต่พูดกันตามตรงก็ไม่ใช่เรื่องที่คนเดียวหรือกลุ่มเดียวต้องมารับผิดชอบ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ แม้กระทั่งผู้จัดงานที่ต้องคิดถึงเรื่องสถานที่และเรื่องขยะ ส่วนนักวิ่งก็ต้องรับผิดชอบ เห็นขยะกลางป่าก็ควรเก็บ อย่าผ่านเลย เพราะเราไม่รู้ว่าสัตว์ป่าจะมากินขยะพวกนี้หรือเปล่า ที่มีแน่ๆ คือ หมูป่า เม่น”
เรื่องเส้นทางวิ่ง นักวิ่งสาวคนนี้เสนอแนะว่าถ้าเป็นไปได้ควรแบ่งพื้นที่การวิ่งให้กระทบป่าน้อยที่สุด เช่น วางเส้นทางให้ผ่านชุมชนเพื่อได้เห็นวิถีชีวิตคนท้องถิ่น หรือสลับกับพื้นที่เรือกสวนไร่นา ไม่ใช่วิ่งผ่าป่าอย่างเดียว แน่นอนว่าไม่ใช่ข้อผูกมัดว่าต้องทำได้ทุกสนาม เพราะแต่ละแห่งที่ข้อจำกัดแตกต่างกัน
สำหรับตัวเธอเองก็เลือกที่จะจัดการตัวเองให้พร้อม ทั้งการซ้อมและความพร้อมเรื่องจัดการขยะ ทั้งพกถุงขยะส่วนตัว พกอุปกรณ์เช่น แก้วน้ำแบบซิลิโคนพับเก็บได้ พกช้อนส้อมส่วนตัว เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในงานวิ่งเทรล
“อีกอย่างที่สำคัญมากคืออย่าเก็บของป่า เราไปโดยเป็นภาพความทรงจำพอ อย่าเอาอะไรออกมาเลย เคยเห็นอยู่ เช่น เก็บลูกไม้ เก็บก้อนหิน บางคนคิดว่าเก็บได้ แต่ตามกฎหมายเก็บไม่ได้นะ เปลี่ยนเป็นถ่ายภาพก็พอแล้ว”
แต่ก็ต้องยอมรับว่ายุคนี้กระแสการวิ่งเทรลกำลังมาแรง และอาจแซงหน้าการวิ่งทางเรียบเสียด้วยซ้ำ นั่นทำให้ผู้จัดงานบางรายเลือกจัดสถานที่ที่คิดว่าปัง Unseen โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเชื่อมั่นไปเองว่าถึงอย่างไรก็มีนักวิ่งมาสมัครอยู่ดี ทว่า จะลืมข้อเท็จจริงประการหนึ่งไม่ได้ว่า นักวิ่งเทรลส่วนมากรักธรรมชาติ การจัดงานอย่างมีจิตสำนึกก็มีผลต่อการตัดสินใจสมัครร่วมงานนั้น
กราฟิกดีไซน์เนอร์คนดังกล่าวก็เป็นนักวิ่งคนหนึ่งที่ประกาศชัดว่าเลือกงานวิ่งที่ไม่สร้างผลกระทบ เพราะบางสถานที่เหมาะกับเดินสำรวจธรรมชาติ บางสถานที่เหมาะกับเทรล แต่ละแห่งมีความเหมาะสมและไม่เหมาะสม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีในรีวิวครั้งก่อนๆ หรือจากข้อมูลทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ เหล่านี้บอกได้หมดว่าดีหรือไม่ดี
- ‘ผู้จัด’ ตัวชี้วัดความรับผิดชอบ
สำหรับการที่งาน "วิ่งเทรล" จะสร้างสรรค์หรือทำลายนั้น "ผู้จัดงาน" คือตัวแปรหลัก เพราะเป็นผู้กุมบังเหียนของงานว่าจะจัดที่ใด จัดอย่างไร แน่นอนว่ามีทั้งที่นักวิ่งชื่นชมและก่นด่า แต่สำหรับ เสมา ไกรพานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรคเรซ สปอร์ต จำกัด หนึ่งในผู้จัดงานวิ่งเทรลที่มักจะได้รับคำชม อธิบายถึงการจัดงานวิ่งเทรลว่าแตกต่างจากงานวิ่งถนน เพราะต้องทำให้นักวิ่งได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับแรกคือเรื่องธรรมชาติ
“งานวิ่งที่ดีคือต้องไม่รบกวนธรรมชาติ ถ้าพื้นที่อย่างเช่นอุทยานแห่งชาตินั้นไม่เหมาะสม ก็ควรเปลี่ยนสถานที่หรือเปลี่ยนเส้นทาง เพราะการจัดงานต้องคำนึงถึง 1.เจ้าของสถานที่ 2.ปริมาณนักวิ่ง 3.ความเหมาะสมของธรรมชาติว่าวิ่งแล้วจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไหม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จะเป็นผู้อนุมัติหรืออนุญาตตามความเหมาะสม”
ในประเด็นจำนวนนักวิ่งต่อปริมาณพื้นที่ ปัจจุบันแตกต่างจากก่อนช่วงโควิด-19 คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมด้านการกีฬาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า 1 คน ต่อ 5 ตารางเมตร ทำให้ในหลายพื้นที่แออัดจนไม่เหมาะสมที่จะจัดงานวิ่ง
นอกจากข้อจำกัดของพื้นที่จัดงาน เส้นทางการวิ่งก็มีข้อจำกัดไม่แพ้กัน เสมาบอกว่าเส้นทางวิ่งเทรลที่หลายงานใช้ทางแบบซิงเกิลแทรค (Single Track) ทำให้นักวิ่งแซงกันไม่ได้จนเกิด DNF อย่างไม่ควรเป็น จนผู้จัดต้องพยายามเลือกเส้นทางให้หลากหลายมีทั้งถนนกว้าง, ถนนแคบ และถนนลาดยาง ในแง่ดีคือการพยาบาลเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ผู้จัดงาน (ที่ดี) ต้องประเมินถึงผลกระทบด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้
“แต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกัน บางที่เป็นอุทยานไม้ดอกไม้ประดับจะแตกต่างจากไม้ยืนต้น ซึ่งมันเป็นเส้นทางวิ่งแบบถนนที่มีการสัญจรอยู่แล้วมันจึงไม่ค่อยกระทบ แต่โดยปกติคนจะจัดงานหนึ่งงาน ประเมินสิ่งแรกเลยคือพื้นที่จัดงานเพียงพอไหม สอง เส้นทางการวิ่งเหมาะสมไหม สาม ความปลอดภัยและอันตรายอยู่ระดับไหน สี่ ทรัพยากรทางธรรมชาติจะเกิดผลกระทบไหม
ซึ่งเราไม่สามารถประเมินคนเดียวได้ เราต้องคุยกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงคืออุทยาน อุทยานต้องประเมินว่ามีผลกระทบไหม ผู้จัดมีหน้าที่ประเมินจำนวนคน ประเมินพื้นที่จัดงาน ประเมินเส้นทาง การจัดงานจึงต้องครอบคลุมทั้งระบบ”
เพราะฉะนั้นสารพัดดราม่าและข้อกังขาถึงผลกระทบจากงานวิ่งเทรลจะไม่เกิดขึ้นเลย หากตัวแปรอย่างผู้จัดงานวิ่งมีจิตสำนึกและวางแผนงานอย่างเหมาะสม โดยนักวิ่งก็ปฏิเสธต่อความรับผิดชอบไม่ได้เมื่อย่างเท้าเข้าสู่ผืนป่า