ภูเขียว...ในดวงใจ
ความยิ่งใหญ่ของ "ป่าภูเขียว" คือการเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์มากในภาคอีสาน ป่าที่เรียกว่าป่าดงดิบอย่างแท้จริง
ช่วงสัปดาห์ก่อนที่ผ่านมา มีโอกาสสัญจรผ่านทาง อ.เกษตรสมบูรณ์-หนองบัวแดง-ภักดีชุมพล ของชัยภูมิ สิ่งที่สะดุดตาอย่างมากก็คือภูเขาสูงใหญ่ทางซ้ายมือ ที่ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะขับรถผ่านไปไกลขนาดไหน ก็ยังเห็นภูเขาทะมึนนี้อยู่ตลอดเวลา คนที่อื่นอาจจะสงสัยว่าภูเขาลูกนี้คืออะไร แต่คนในย่านนั้นรู้จักกันในนาม...ภูเขียว
พื้นที่ที่เรียกว่า "ภูเขียว" สำหรับจังหวัดชัยภูมิ มีสองที่คือ "อำเภอภูเขียว" กับ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว" ซึ่งกินพื้นที่หลายอำเภอ แต่ถ้าจะเข้าต้องไปเข้าทางอำเภอคอนสาร ซึ่งถ้าเราไปจากทางชัยภูมิก็จะต้องเลยอำเภอชุมแพของขอนแก่นไปอีก ผ่านทุ่งลุยลายแล้วจึงจะขึ้นภูเขาสูง และถนนจะไปสุดทางที่เขื่อนจุฬาภรณ์
เวลาที่เรามองเห็นภูเขียวจากไกลๆ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็ตาม สิ่งที่เห็นคือ เป็นภูเขาหลังแป เหมือนภูกระดึง ภูหลวงหรือภูเวียง มีหน้าผาหักตัด น้ำตกที่อยู่ในพื้นที่อย่างน้ำตกตาดค้อ ก็จะเป็นฟอร์มแบบหน้าผาหินที่เป็นชะง่อน น้ำตกตกลงมาชั้นเดียวแบบตกดิ่ง ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะตัวภูเขียวเอง เป็นภูเขาหินทรายซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนชนิดหนึ่ง ซึ่งหินพวกนี้มาสะสมตัวกันบนผิวโลกเรานี่เอง เกิดจากการสะสมตัวซ้อนทับโดยใช้เวลาเป็นแสนเป็นล้านปี เกิดทับถมเป็นชั้นๆ แล้ววันหนึ่งแผ่นเปลือกโลกก็ชนกันจนพื้นที่ที่เคยเป็นธารน้ำโบราณเหล่านี้ก็ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขา เมื่อการก่อเกิดก็มาจากการทับกันเป็นชั้นๆ (ก็มันเป็นหินชั้น) เวลาที่ผุพังมันก็เลยผุพังไปเป็นชั้นๆ เราจึงเห็นภูเขาทางอีสานมักเป็นหลังแปก็ด้วยเหตุฉะนี้ ทีนี้เจ้าชั้นของหินที่มาซ้อนทับกัน ในส่วนปลายของชั้นหินพอมันไม่มีชั้นที่มารองรับ มันก็จะหักตกลงมาเราจึงมักเห็นปลายของเขาหลังแปเหล่านี้เป็นหน้าผาชันก็เพราะแบบนี้ เวลาเราเดินขึ้นภูเขาหินทรายที่เป็นหน้าผาทั้งหลาย สังเกตว่าเวลาจะขึ้นเมื่อจะถึงชั้นบนสุด จะเห็นก้อนหินขนาดใหญ่หักตกลงมากองอยู่มากมาย แล้วพอจะขึ้นสู่ยอดจะเป็นผาหินแบบหักดิ่ง ดูภูกระดึงเป็นตัวอย่างได้ชัดเจน ซึ่งจริงๆ ภูหลังตัดทั้งหลายก็เป็นแบบนี้หมด บรรดาภูเขาหินทรายไม่พ้นฟอร์มแบบนี้ทั้งนั้น หินที่ภูเขียวจะเป็นหินทราย โดยข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณีบอกว่าเป็นทรายเนื้อควอร์ท และอีกหลายชนิด เป็นหมวดหินพระวิหาร กลุ่มหินโคราช มีอายุในยุคครีเทเชียสมาจนถึงยุคจูราสสิค (210-66.5 ล้านปี)
ความยิ่งใหญ่ของ "ป่าภูเขียว" คือการเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์มากในภาคอีสาน ป่าที่เรียกว่าป่าดงดิบอย่างแท้จริง ยิ่งเมื่อมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ มาต่อกันอย่างทางด้านตะวันตกก็ต่อกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาดหมอก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ ด้านเหนือติดทางอุทยานฯน้ำหนาว ทางตะวันออกติดเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าผาผึ้ง ลำพังเขตฯภูเขียวนี้ก็เป็นพื้นที่ที่ภูเขาที่สูงกว่าพื้นดินคือสูงราว 235-1,310 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเพชรบูรณ์ มียอดเขาที่สูงที่สุดได้แก่ ยอดเขาโป่งทองหลาง (1,310 เมตร)
มีเนื้อที่ 975,000 ไร่ หรือ 1,500 ตารางกิโลเมตร พอมีเนื้อที่อื่นมาเชื่อมต่อกันอีก เลยเป็นป่าผืนใหญ่ร่วม2,800,000 ไร่ เรียกว่ากว้างใหญ่มหาศาล ท่านผู้อ่านลองไปดูแผนที่รวมของประเทศ ก็จะเห็นว่าป่าผืนนี้มันเป็นป่าผืนใหญ่มากที่ต่อเชื่อมระหว่างภาคอีสานกับภาคเหนือตอนล่าง แล้วยิ่งสภาพป่ามันสมบูรณ์แบบนี้ ผมถึงบอกว่านี่แหละคือสิ่งล้ำค่าของภาคอีสาน
เมื่อป่ามีพื้นที่ที่กว้างใหญ่ มีความสมบูรณ์ของตัวพื้นที่ ป่าจึงทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ลำห้วยหลายสายที่เกิดจากป่าผืนใหญ่เหล่านี้ไหลออกไปหล่อเลี้ยงคนมหาศาล คิดง่ายๆ ถ้าป่าไม่สร้างลำห้วยที่มีน้ำออกมา เขาจะมาสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์ทำไม คำว่ามีป่าก็มีน้ำนี้จึงเป็นเรื่องจริงและเสมอมา
เมื่อมีป่าที่สมบูรณ์ แน่นอนว่ามันก็ต้องมีสัตว์ป่าในธรรมชาติอยู่ด้วย แล้วป่าภูเขียวรวมทั้งป่าที่ต่อเนื่องกัน มีสัตว์ป่าทุกชนิด บอกได้เลยว่าทุกชนิด เก้ง กวาง ช้าง หมี ละอง ละมั่ง กระทิง หมาใน หมาจิ้งจอกสารพัด แต่เสือนี่ทางหน่วยงานเขายังไม่ยืนยัน และที่เป็นตำนานของป่าภูเขียวก็คือ กระซู่ ซึ่งเป็นแรดสองนอ ที่เคยมีการพบเจอในป่าภูเขียวเมื่อในอดีต แต่ไม่มีการพบเจอตัวมานานหลายปีแล้ว นานๆจึงจะมีข่าวว่ามีการเจอร่องรอยขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง
การเป็นป่าที่สมบูรณ์ทั้งสัตว์ป่าและพื้นที่ที่ถูกรายล้อมด้วยชุมชน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกลักลอบ ทั้งการล่าสัตว์ ทั้งการแอบบุกรุกแผ้วถาง แต่ด้วยการทำงานที่ทุ่มเทของจ้าหน้าที่ "ป่าภูเขียว" ทุกวันนี้จึงยังคงสภาพสมบูรณ์เป็นของล้ำค่าของแผ่นดินให้คงอยู่ มีการปล่อยสัตว์ป่าพื้นถิ่นเพิ่มเข้ามาในป่าภูเขียวอยู่บ่อยๆ เช่น เก้ง กวาง ละอง ละมั่ง ไก่ฟ้า ไก่ป่าทั้งหลาย ซึ่งสัตว์เหล่านี้เคยอยู่ เคยหากิน แล้วก็ถูกล่า ทั้งโดยสัตว์ผู้ล่าในธรรมชาติและจากคนที่ลักลอบล่า การปล่อยสัตว์พื้นถิ่นจึงเป็นการเติมเต็ม โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จมาปล่อยเนื้อทรายและประทับแรมบริเวณทุ่งกระมัง เมื่อ 21 ธันวาคม 2535 แล้วเนื้อทรายเหล่านั้นก็เติบโตขยายพันธุ์มาจนปัจจุบัน และหลังจากนั้นก็มีการปล่อยสัตว์อีกหลายครั้งล่าสุดก็เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งปลัดกระทรวงฯนายจตุพร บุรุษพัฒน์ และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแหงชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ปล่อยสัตว์ป่าที่มาจากการเพาะเลี้ยงของศูนย์เพาะเลี้ยงต่างๆในสังกัดกรมอุทยานฯ นำมาปล่อยรวมทั้งสิ้น 360 ตัว มีทั้งละอง ละมั่ง เก้ง กวาง เนื้อทราย ไก่ฟ้า นกยูง โดยก่อนปล่อยก็มีการตรวจโรคตรวจเลือด จากสัตว์แพทย์ของศูนย์เพาะเลี้ยง มีการติดเครื่องหมาย ให้สัตว์ออกสู่ป่าธรรมชาติดำรงชีวิตของเขาอย่างอิสระ เติมเต็มคำว่าป่าให้สมบูรณยิ่งขึ้น
เพราะ "ภูเขียว" อยู่บนภูเขาสูง มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ อากาศจึงเย็นสบาย เงียบสงบ คนที่สนใจและชอบธรรมชาติแบบป่าเขาจริงๆ เช้าจิบกาแฟ ฟังเสียงนกเสียงชะนี กลางคืนเสียงจักจั่นเรไร และนกกลางคืน ก็สามารถเข้าไปเที่ยวชมหรือไปพักแรมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้ เขาจัดเตรียมที่กางเต็นท์ไว้ให้ มานอนสูดบรรยากาศป่าเงียบๆ (เพราะนักท่องเที่ยวน้อย) นอนอ่านหนังสือได้เป็นวันๆ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ไปชมสัตว์ที่ทุ่งกะมัง ดูนก โดยเฉพาะนักดูนกคงคุ้นกับที่นี่ดีเพราะมีนกป่าที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งมีบ่อนกไว้ให้ไปซุ่มดักถ่ายนกแต้วแล้วและอื่นๆ ภายใต้บรรยากาศที่ร่มรื่นและสงบเงียบ รวมทั้งการเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆใกล้เคียง ทั้งเขื่อนจุฬาภรณ์ น้ำผุดทัพลาว ศูนย์เพาะเลี้ยงเขาเขียว
เมื่อกรมอุทยานฯเขาเก็บรักษาของดีที่เป็นสมบัติของชาติ ของคนไทยไว้ให้ทั้งยังเพิ่มความสมบูรณ์ของป่าโดยเติมสัตว์ป่าให้ด้วยแล้ว จะไม่อยากไปชื่นชมความสมบูรณ์ของบ้านเรากันดอกหรือ ไปชื่นชมจะได้ร่วมภูมิใจว่าบ้านเราก็น้อยหน้าใครๆ
จุดหมายปลายทางครั้งหน้า ขอเป็นที่ภูเขียวสักครั้งก็แล้วกัน...