ถึงเวลาทบทวน 'ใบขับขี่ตลอดชีพ' กับความเสี่ยงของผู้ขับขี่สูงวัย
อนุมานได้ว่า อายุที่มากขึ้นและสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลง อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
จากข่าวกรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดจะเรียกผู้ที่มี ใบขับขี่ตลอดชีพ ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลับมาทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับรถอีกครั้ง ทำให้เกิดคำถามตามมาจากผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ว่า จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะได้รับผลกระทบอย่างไรหากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
ใบขับขี่ตลอดชีพจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน
การออกใบอนุญาตขับขี่ เดิมเคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทะเบียน กรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) การอนุญาตและการจัดเก็บข้อมูล ยังเป็นรูปแบบทะเบียนกระดาษ ทำให้การออกใบขับขี่จำเป็นต้องมีการออกใบขับขี่ตลอดชีพ เพื่อเป็นการลดปริมาณงานการติดต่อราชการของประชาชน
หลังจากนั้นในปี 2531 อำนาจหน้าที่การออกใบอนุญาตขับขี่ ถูกโอนย้ายมายังกรมการขนส่งทางบก และเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตขับขี่ดังเช่นปัจจุบัน
ในปี 2546 มีการยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ โดยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงอายุใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ไม่ได้กำหนดให้ยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพที่ได้ทำไปก่อนแล้ว และกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเพียงว่าใบอนุญาตขับรถยนต์ที่ออกก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตหรือใบอนุญาตขับรถยนต์ จึงมีผลทำให้ใบขับขี่ตลอดชีพยังใช้ต่อไปได้
ซึ่งหากคาดการณ์ความเป็นไปได้ว่า ใบขับขี่ตลอดชีพจะหมดไปเมื่อใด อาจตั้งสมมติฐานว่า ผู้มีสิทธิได้สามารถขอรับใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอายุน้อยที่สุดในปี 2546 คือ 19 ปี เท่ากับว่าปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอายุประมาณ 36 ปี ดังนั้น ใบขับขี่ตลอดชีพจะยังอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 35-40 ปี
เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพสะสมจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า มีจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพอยู่ประมาณ 12 ล้านใบ แบ่งเป็นใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพ จำนวน 6,176,081 ใบ ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ตลอดชีพ จำนวน 5,966,176 ใบ และใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลตลอดชีพ จำนวน 4,608 ใบ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจำนวนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545–2562 เห็นได้ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2547 จึงเกิดคำถามว่าข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บได้มีการปรับปรุงข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่
และจำนวนที่แท้จริงของใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันมีเท่าใด การที่กรมการขนส่งทางบกสามารถจัดเก็บข้อมูลที่มีความถูกต้องจะช่วยให้ทราบถึงขนาดปัญหาที่จริงของใบขับขี่ตลอดชีพ และสามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
ปัญหาใบขับขี่ตลอดชีพในผู้สูงอายุ
ประเด็นต่อมาคือ อายุส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรจำแนกตามกลุ่มอายุของปี พ.ศ. 2558-2562 จากข้อมูล 3 ฐาน โดยกรมควบคุมโรค แสดงให้เห็นว่า
จำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงที่สุดในช่วงอายุ 15-19 ปี และ 20 – 24 ปี และจะลดลงเมื่ออยู่ในช่วง อายุระหว่าง 25 – 50 ปี แต่เมื่อมีอายุในช่วง 50-79 ปี กลับพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จนถึงอายุ 80 ปีที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดอีกครั้ง
ข้อมูลจากกราฟแม้จะไม่ได้สะท้อนถึงสาเหตุในเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงไม่ได้ระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่รถยนต์หรือไม่ แต่สามารถอนุมานได้ว่า อายุที่มากขึ้นและสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลง อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ จากงานศึกษา“โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมกับประเทศไทย” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สภาวะในมิติทางการแพทย์ที่อาจส่งผลต่อสมรรถนะร่างกายเพื่อการขับขี่ (Medical conditions likely to affect fitness to drive) หรือมีผลต่อกระบวนการของร่างกายที่ต้องทำงานประสานกันเพื่อการขับขี่ปลอดภัย เกิดจากปัจจัยบางประการที่เป็นสาเหตุความบกพร่องขั้นรุนแรง เช่น การหมดสติอย่างฉับพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ความผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น
ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดสภาวะดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ การมีใบขับขี่ตลอดชีพจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการขับขี่บนท้องถนน หากผู้ขับขี่มีสมรรถภาพทางกายที่ถดถอย เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ใบอนุญาตขับขี่ในต่างประเทศ
สำหรับแนวทางการป้องกันในเรื่องสมรรถภาพทางกายของผู้ขับขี่ในต่างประเทศ เมื่อพิจารณากระบวนการออกใบขับขี่ของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป พบว่าภายหลังการทดสอบด้านสมรรถภาพทางกายของผู้ขับขี่ในตอนขอใบขับขี่ครั้งแรก ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการตรวจสอบสมรรถภาพทางกายอีกครั้ง (Retest) เมื่อผู้ขับขี่มีอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละประเทศ อาทิเช่น
สวีเดนจะกำหนดอายุที่ 45 ปี หลังจากนั้นต้องตรวจสอบสมรรถภาพทางกายในทุก 10 ปี ฝรั่งเศสกำหนดเกณฑ์อายุไว้ที่ 60 ปี และต้องตรวจสอบหลังจากนั้นในทุก 2-5 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ ในบางประเทศยังกำหนดในกฎหมายให้ผู้ขับขี่ที่พบว่าตนเอง เจ็บป่วยเป็นโรคที่ต้องห้ามในการขับขี่ มีหน้าที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
ขณะที่กรณีของออสเตรเลีย แม้รัฐจะไม่ได้กำหนดอายุสูงสุดในการขอรับใบขับขี่ไว้ แต่มีมาตรการควบคุมดูแลผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป โดยกระทรวงคมนาคมจะส่งจดหมายแจ้งให้ทราบถึงวิธีการและขั้นตอนในการขอใบรับรองแพทย์
โดยแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบว่า มีอาการหรือมีความผิดปกติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดหรือไม่ และออกเป็นใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพดีพอที่จะขับขี่รถ (Fit to Drive) ให้ โดยใบรับรองแพทย์จะมีอายุสูงสุด 13 เดือน ซึ่งหากใครที่แพทย์ประเมินว่าไม่สามารถขับขี่รถได้และฝ่าฝืนจะมีโทษปรับถึง 2,400 ดอลล่าร์ออสเตรเลียหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 75,000 บาท
ผลได้ผลเสียใบขับขี่ตลอดชีพ
ในขณะนี้โจทย์สำคัญประการหนึ่งที่กรมการขนส่งทางบกต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนคือ จำนวนของผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพ และปัญหาการมีใบขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบัน เพื่อให้การพิจารณาแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม จึงควรดำเนินการทบทวนข้อมูลจำนวนใบขับขี่ตลอดชีพที่มีอยู่จริง โดยอาจดำเนินการเชื่อมข้อมูลทางทะเบียนราษฎรกับกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบสถานะทางทะเบียนของผู้มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพในปัจจุบันว่าคงเหลือเพียงใด
หากพิจารณาแล้วเห็นว่า จำนวนใบขับขี่ตลอดชีพมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากรผู้ถือใบขับขี่และการเกิดอุบัติเหตุ ย่อมแสดงให้เห็นว่าใบขับขี่ตลอดชีพไม่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการทบทวนหรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพเพียงแต่รอให้ใบอนุญาตเหล่านั้นหมดอายุไป
แต่ในทางกลับกัน หากผลเปลี่ยนไปและแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของคนในสังคม ก็มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิของปัจเจกบุคคล โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
ดังนั้น หากรัฐมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขหรือยกเลิกเรื่องใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ รัฐต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยกำหนดเกณฑ์อายุที่จะยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ และให้ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่กลับมาตรวจสอบสมรรถภาพในการขับขี่หากยังต้องการขับขี่รถอีกครั้ง หลังจากนั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่แบบใหม่ที่ประเภทใบอนุญาตจากตลอดชีพเป็นชนิด 5 ปีที่มีในปัจจุบันแทน ซึ่งเรื่องเกณฑ์อายุควรกำหนดให้เป็นช่วงอายุ 60 - 70 ปี
ส่วนหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนในการตรวจสอบสมรรถภาพ ควรกำหนดไว้ในระเบียบหรือกฎกระทรวงสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในเรื่องนี้อาจไม่ใช่ประเด็นใหม่ และยังเป็นประเด็นที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาทุกครั้งที่มีกระแสข่าว
หากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นการลดอุบัติเหตุในการขับขี่ของผู้สูงอายุแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติได้ว่า สังคม Baby Booming ของประเทศไทยมีศักยภาพด้านการขับขี่ปลอดภัยไม่แพ้ชาติใดในโลก
..................
บทความโดย ณภัทร ภัทรพิศาล และฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)