คร.เผยผู้ต้องขังติดโควิดไร้นัยยะเกิดระบาดในไทย
กรมควบคุมโรคเผยผู้ต้องขังติดโควิด19 ไร้นัยยะทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในไทย หลังตรววจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-ต่ำกว่า 1 พันคน ไม่พบติดเชื้อ เผยจุดเสี่ยงไทยอยู่ที่นำเข้าเชื้อ เร่งตรวจค้นหาเชิงรุกพื้นที่ชายแดนให้มากขึ้น รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งผิดและถูกกฎ
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่อิมแพค เมืองทองธานี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการสอบสวนหาต้นตอการติดเชื้อในผู้ป่วยรายล่าสุดซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ประกอบอาชีพดีเจในผับว่า เวลาเกิดการติดเชื้อในประเทศหลังจากควบคุมได้ดี การจะหาว่าติดที่ไหน เมื่อไหร่ จากใคร เป็นเรื่องยากเหมือนกันทุกประเทศ แต่สำหรับกรณีนี้สิ่งที่ดำเนินการคือการสอบสวนโรค โดยจุดตัดสำคัญคือวันที่ 26 -27 ส.ค.2563 ซึ่งไปขึ้นศาลและเข้าเรือนจำเมื่อถอยจากตรงนั้นออกไป ทำให้ค้นพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำกว่า 1 พันราย ตรวจแล้วไม่พบว่าใครติดเชื้อ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าคนภายนอกก็ไม่มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้ หมายความว่านัยยะของการระบาดที่เกิดจากผู้ป่วยรายนี้ไม่มีแล้ว
“ก็ไม่ได้นิ่งเฉยเพราะมีการตรวจหาสายพันธุ์เพื่อบอกว่าสายพันธุ์ที่ติดนั้นมีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก ขณะนี้คือสายพันธุ์ G ดังนั้น สมมติฐานคืออาจจะรับเชื้อมาจากคนที่มีเชื้อในประเทศ แต่มีเชื้อน้อยๆ ก็ได้ หรืออาจจะติดมาจากคนที่มาจากต่างประเทศก็ได้ ด้วยลักษณะงานของเขา โดยเฉพาะในช่วงการผ่อนปรน แต่ถ้าพบว่าเป็นสายพันธุ์ S การอธิบายเรื่องนี้จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มาจากจีน จะมีคำถามตามมามาก เพราะบ้านเราไม่มีสายพันธุ์นี้แล้ว”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ความเสี่ยงสำคัญของประเทศไทย คือ การนำเชื้อมาจากต่างประเทศ สิ่งที่ทำต่อไป คือ การตรวจเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเข้ามาถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย จะตรวจสอบและเฝ้าระวังหมด บนพื้นฐานความเชื่อเอาไว้ก่อนว่ามีการลักลอบเข้ามาในประเทศแน่ อีกส่วนหนึ่งคือการตรวจเชิงรุกแถบชายแดนให้มากขึ้น ซึ่งจริงๆ แถบชายแดนนั้น ประเทศเพื่อนบ้านเองก็กลัวคนที่เดินทางไปจากประเทศไทยเหมือนกัน ดังนั้น ตรงนี้ต้องมีการประสานงาน 2 ประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของทั้งคู่ ทั้งเรื่องการตรวจจับ และตรวจวิเคราะห์ให้เร็วและมีมาตรฐาน
“สถานบริการ สถานบันเทิงมีความเสี่ยง ซึ่งเราไม่ได้ไปตีตรา แต่การใช้บริการสถานที่เหล่านี้จะต้องมีการถอดหน้ากาก ดังนั้นจึงถือเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงอยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาประชุมและซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้ตรงที่สุด ไม่อย่างนั้นจะมีเหตุการณ์ 2 แบบคือ ทำน้อยเกินไป กับเกินกว่าเหตุ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว