วัคซีนโควิด-19 จากใบยาสูบ ตั้งเป้าสิ้นปีหน้าสำเร็จ
คืบหน้า วัคซีนโควิด-19 จากใบยาสูบ ทดสอบในหนู-ลิง พบกระตุ้นภูมิดี เตรียมทดสอบความเป็นพิษ จัดหาโรงงานผลิตเพื่อทดลองในคนกลางปีหน้า ตั้งเป้าสำเร็จปลายปี ย้ำต้องปลอดภัยและใช้ได้ผล ชี้ จะหยุดโควิด-19 คนไทย 60-70% ต้องมีภูมิคุ้มกัน
วันนี้ (11 กันยายน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula The Impact ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ "จุฬาฯ - ใบยาวัคซีน นวัตกรรมไทย ไขวิกฤติ Covid-19" นำเสนอความก้าวหน้าการผลิตวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบยาสูบ โดย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มพาะจาก CU Innovation Hub ณ เรือนจุฬานฤมิต
ผศ. ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยผู้ร่วมคิดค้นวัคซีน Covid-19 จากใบยาสูบ ในฐานะ Co-founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าของวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบยาสูบ ว่า วัคซีนโควิด-19 ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีของบริษัทฯ คือ "แกล้ง" โดยศึกษากลไกการเกิดโรคในใบพืชและปรับปรุงจนได้ เทคโนโลยีที่สามารถแกล้งพืชให้ผลิตโมเลกุลของโปรตีนที่ต้องการได้
พอโควิด-19 เกิดขึ้น ในระยะแรกมีการพัฒนาชุดตรวจโดยใช้โปรตีนที่เราพัฒนาขึ้นมา และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับไวรัส มีการผลิตเป็นโปรโตไทป์ วัคซีนต้นแบบทั้งหมด 6 ชนิด และทดสอบในหนูไปแล้ว 2 ชนิด โดยเลือกมา 1 ชนิด ไปทดสอบในลิง พบได้ผลค่อนข้างดี ทั้งนี้ ใบยาสูบที่นำมาใช้ไม่ใช่ใบยาสูบที่ทำบุหรี่แต่อย่างใด
“ทั้งนี้ การใช้พืชตระกูลใบยาสูบ ข้อดี คือ เป็นต้นไม้ที่ไม่ได้ตัดแต่งพันธุกรรม เพราะก่อนโควิด-19 เรามีต้นไม้ในบริษัทฯ ที่ผลิตโปรตีนตัวอื่นอยู่แล้ว พอเกิดโควิด-19 เราสามารถเปลี่ยนมาผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยห้องต้นไม้ที่ปลูกขนาด 50 ตารางเมตร สามารถทำวัคซีนได้เทียบเท่ากับ 1.5-2 แสนโดสต่อเดือน แต่ข้อจำกัด คือ สถานที่ผลิตวัคซีนสำหรับการฉีดในมนุษย์ยังไม่พร้อม”
ผศ. ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวต่อไปว่า กระบวนการวิจัยและพัฒนาใช้เวลานาน เป็นการวิ่งมาราธอนด้วยความรวดเร็ว แต่เนื่องด้วยวัคซีนเราต้องฉีดให้กับคนแข็งแรง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องการมั่นใจว่าปลอดภัย เราทำการศึกษาในหนู และ ลิง พบว่า กระตุ้นภูมิได้ ตอนนี้ ลิงอยู่ที่ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ โดยลิงฉีดไป 2 เข็ม ซึ่งกระตุ้นภูมิได้ ในระดับที่ดี และสามารถเป็นภูมิที่จัดการไวรัสได้ และต้องดูต่อไปอีก 6 เดือนว่าภูมิลดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ภูมิลดก็ไม่ได้แปลว่าป้องกันไม่ได้ เพราะหากได้รับไวรัสทีหลัง ภูมิอาจจะเพิ่มขึ้น หลังจากนั้น คือ ฉีดไวรัสเข้าไป และหากลิงไม่เป็นอะไร ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี
ถัดมา คือ การเทสในหนูแฮมสเตอร์ (เนื่องจากหนูธรรมดาไม่ติดโควิด-19) โดยการฉีดวัคซีน และ ฉีดไวรัสเข้าไปเช่นกัน ขณะเดียวกันระหว่างนี้ เรายังทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง โดยฉีดในโดสที่เยอะขึ้น และดูว่าจะไปทำอะไรกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และเป็นพิษหรือไม่ เพื่อความปลอดภัย รวมถึงมองหาสถานที่ผลิต ที่ได้มาตรฐานตามที่ อย. กำหนด เพื่อสามารถใช้ในมนุษย์ได้
“เป้าหมาย คือ กลางปีหน้าจะทำการศึกษาในมนุษย์ ระยะ 1 เหตุผลที่นานเพราะต้องสร้างโรงงานวัคซีน ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่ได้ทำแค่วัคซีนโควิด-19 แต่ทำวัคซีนอย่างอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก มีการพูดคุยกับ โรงงาน Pilot Plant ของ ม.มหิดล ว่าผลิตวัคซีนได้หรือไม่ ตั้งเป้าว่ากลางปีหน้าต้องทดลองในมนุษย์ระยะ 1 ให้ได้ และสิ้นปีหน้าจะมีวัคซีนให้คนไทยใช้ เพราะคนทั่วโลกมีมากกว่า 6-7 พันล้านคน แม้ประเทศอื่นผลิตได้ก็ใช่ว่าวัคซีนจะมาถึงเรา ดังนั้น เราจึงต้องเดินหน้าผลิตต่อ”
“ทั้งนี้ กระบวนการทดสอบในมนุษย์ต้องพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ คณะแพทย์ทั้งจุฬาฯ และ ที่อื่นๆ ในการออกแบบการวัดผลวัคซีน ขณะที่ 9 เดือนหลังจากนี้ คงมีองค์ความรู้เรื่องอื่นออกมาอีก ดังนั้น ในระยะแรกต้องดูเรื่องความปลอดภัย พูดคุยกับ อย. เป็นระยะ เพื่อจะไม่ให้ไปผิดทาง จะฉีดในมนุษย์ต้องมีความระมัดระวัง”
“โควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้เราทำงานเร็วขึ้น เราเดินหน้า แต่ไม่ได้ปิดประตูความช่วยเหลือที่มีอยู่ เรารู้ว่ารัฐบาลต้องช่วยหลายอย่าง และหากเราเดินหน้าไปได้ เป็นการช่วยเหลือประเทศแบบหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ก็มีคนเริ่มเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณ องค์ความรู้ ทดสอบในสัตว์ รวมถึงมีการคุยกับนักลงทุนหลายท่านเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนในประเทศได้เอง หากมีการระบาดครั้งหน้าเรามั่นใจว่าเราจะผลิตได้เร็วกว่านี้ และเราอาจจะเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ผลิตเอง นี่คือความฝันของเรา และไม่ได้ช่วยแค่คนไทย แต่ช่วยเพื่อนบ้านที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 ได้ด้วย” ผศ. ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมินประสิทธิภาพในการทดลองวัคซีน ได้มีการเอาน้ำเหลืองของหนูและลิง มาดูว่าสามารถยับยั้งไวรัสได้หรือไม่ พบว่า ในการฉีด 2 เข็ม ระดับของการยับยั้งไวรัสสูงเท่ากับรายงานจากต่างประเทศ ประเด็นที่สอง คือ วัคซีนของ ใบยาฯ ไม่ได้กระตุ้นยับยั้งในระบบน้ำเหลืองเพียงอย่างเดียว แต่ไปกระตุ้นเซลล์ด้วย
“การที่จะมีการทดสอบในมนุษย์กลางปีหน้านั้น เป็นโอกาสเหมาะที่ทำให้เราได้รอดูว่าวัคซีนที่ทั่วโลกทำอยู่ขณะนี้ปลอดภัย และได้ผลจริงหรือไม่ เพราะโควิด-19 เมื่อเข้าตัวมนุษย์ และออกจากตัวมนุษย์จะมีสารพันธุกรรมไม่เหมือนเดิม แต่ 9 เดือนต่อจากนี้ไป ประเทศไทยต้องไม่มีการระบาด เพราะไม่เช่นนั้นเราต้องเข็นวัคซีนออกมา เราก็จะเจอทั้งอันตรายของโควิด-19 และผลข้างเคียงจากวัคซีน ตอนนี้คนไทยต้องการ์ดไม่ตก รักษาระยะห่าง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤติระดับโลกตั้งแต่ต้นปี เป็นปัญหาในหลายมิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ แม้ทั่วโลกกำลังเร่งผลิตวัคซีน แต่สิ่งสำคัญ คือ ความปลอดภัย และ ได้ผล ดังนั้น ถึงแม้เราจะสังเคราะห์วัคซีนจากพืชสำเร็จ ต้องยืนยันว่าปลอดภัยจริงๆ
"ตอนนี้วัคซีนทั่วโลกโอกาสที่จะทดลองในคนเพิ่งจะเริ่ม ราว 100 ตัวเท่านั้น ส่วนของไทยยังไม่สามารถเข้าถึงในคนได้เลย ยังอยู่ในขั้นตอนสัตว์ทดลอง ขณะเดียวกัน หากปลอดภัย และ ได้ผล คนจะได้รับวัคซีนมากน้อยแค่ไหน เข้าถึงได้หรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง หากจะหยุดโควิด-19 เราต้องทำให้คนไทยอย่างน้อย 60-70% มีภูมิคุ้มกัน และต้องมาดูว่าใครควรจะได้วัคซีนก่อนหลัง แต่เป้าหมายของเราก็คือ ให้ได้รับวัคซีนทั้งหมดเพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นประเด็นที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยยังควรให้ความสำคัญอันดับแรก"
เรื่องของโควิด-19 ความปลอดภัยของวัคซีนเป็นกุญแจสำคัญ สิ่งที่เรากำลังพัฒนา เช่น ศูนย์วิจัยไพรเมทฯ เป็นสิ่งสำคัญ ในการทดลองวัคซีน เตรียมให้พร้อมในการวิจัยวัคซีนเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการวิจัย
ขณะเดียวกัน ต่อให้วัคซีนได้ผลดีในสัตว์ทดลอง แต่ขั้นตอนต่อไปที่จะทดลองในคน ต้องมีแหล่งผลิตวัคซีนเพื่อนำมาใช้ หากเราจะไปเฟส 3 ต้องใช้เป็นหลักพันหรือหลักหมื่น ถึงตรงนี้หากเราพึ่งพิงต่างชาติคงลำบาก เพราะต่างชาติก็ต้องเร่งทดลองในประเทศก่อน ดังนั้น การมองหาโรงงานในประเทศที่ได้รับมาตรฐาน จึงเป็นตัวเร่งในการผลิตวัคซีนให้คนไทยได้เร็วขึ้น