Care The Wild ‘ปลูกป่า’ วิถีใหม่

Care The Wild ‘ปลูกป่า’ วิถีใหม่

โครงการ "ปลูกป่า" ที่ชวนคนไทยมา "ปลูกป้อง Plant & Protect’' ผ่านแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้คุณสามารถติดตามความเติบโตของต้นไม้ได้  

 

ป่าเป็นแหล่งกำเนิดสรรพชีวิตส่วนใหญ่บนพื้นโลก การขยายตัวของเมืองส่งผลกระทบให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อน เกิดภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น 'การปลูกป่า' จึงเป็นหนทางหนึ่งที่มนุษย์ลงมือทำเพื่อชดเชยพื้นที่ป่าธรรมชาติที่หายไป สร้างสมดุลของระบบนิเวศให้กลับคืนมา  ทว่าหลายต่อหลายครั้งที่ลงทุนลงแรงไป เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ต้นไม้ที่ได้รดน้ำพรวนดินไว้นั้น...เติบโตหรือยืนต้นตาย

 

160020098528

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย และ อรรถพล เจริญชันษา

  • สถานการณ์ป่าเมืองไทย

“ก่อนหน้าปี 2557 เราเสียพื้นที่ป่าปีละ 800,000-1,000,000 ไร่ ปัจจุบันป่าของเราอยู่ที่ 102.48 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.5 ของประเทศ หากต้องการให้มีความสมดุลของสิ่งแวดล้อม เราควรมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 หรือ 128 ล้านไร่ 

พื้นที่ป่าของเราตอนนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ยังดีที่ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน สนใจเรื่องการปลูกป่า แต่จะทำอย่างไรให้ป่าหล่อเลี้ยงประชาชนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พื้นที่สีเขียวทั้งประเทศควรมีอย่างน้อย 55 เปอร์เซ็นต์ แยกเป็น 3 ส่วน คือ ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และป่าในเมือง 

ปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม ดินถล่ม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นและมีพระราชปณิธานว่าให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุคือฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อให้เราได้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี จึงมีโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าเกิดขึ้น” อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดถึงสถานการณ์ป่าไม้ในเมืองไทย ในงานเปิดโครงการ Care The Wild ‘ปลูกป้อง Plant & Protect’ ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนให้มากขึ้น

“การสร้างป่า เหมือนการสร้างน้ำ สร้างชีวิต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ป่าที่เราปลูกไม่ได้ให้ประโยชน์แค่สิ่งแวดล้อม แต่สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้อีกด้วย โดยเฉพาะป่าชุมชน เรามีพื้นที่อยู่ 11,327 ชุมชน กำลังจะเพิ่มให้ได้ 15,000 ชุมชน ตลาดหลักทรัพย์ฯได้เริ่มปลูกไปแล้ว 10 ไร่ เรายังมีพื้นที่ให้จองปลูกได้อีกเยอะ ถึง 2.68 ล้านไร่ เราจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ ได้มีส่วนร่วมเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูเพิ่มพื้นที่ป่าไปสู่เป้าหมาย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งตรงนี้เรามีกฎหมายรองรับอยู่แล้วคือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า”

ด้วยบทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มุ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม คำนึงถึงความสำคัญของการผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลของโลก ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติ จึงได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อทำงานและสร้างความเข้มแข็งร่วมกัน ดำเนินโครงการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอาการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็นโครงการล่าสุดขึ้นมา

“ความกังวลว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลร้ายอย่างถาวรนำไปสู่จุดที่ไม่สามารถกลับมาสู่สมดุลของโลกได้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ และพันธมิตร จึงได้ร่วมกันเสริมสร้างระบบนิเวศผ่านเครือข่าย Care The Wild ภายใต้แนวคิด ‘ปลูกป้อง Plant & Protect’ เป็นการระดมทุนเพื่อปลูกต้นไม้และร่วมดูแลต้นไม้ให้เติบโตในผืนป่า สร้างระบบธรรมาภิบาลปกป้องไม้ที่ปลูกด้วย 

ผู้ปลูกจะได้เรียนรู้และทำงานร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น ออกแบบระบบนิเวศให้มนุษย์เป็นกลไกในการเกื้อกูลธรรมชาติอย่างยั่งยืนผ่านแอพพลิเคชั่น ที่ทำให้ผู้ปลูกได้มีส่วนร่วมดูแลติดตามความเจริญเติบโตของต้นไม้ในพื้นที่ห่างไกลร่วมกับชุมชนได้ เป็นโอกาสดีที่ภาคตลาดทุนได้มีส่วนร่วมทำสิ่งดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านี้เราทำเรื่องสังคม เรื่องเมืองกันมา คราวนี้เป็นเรื่องของป่าต้นน้ำที่เราจะช่วยกันดูแล” ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ

 

  •  หัวใจของความสมดุล

โครงการ Care The Wild ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าได้ง่ายๆ ด้วยการเข้าไปที่แอพพลิเคชั่น เลือกสถานที่ที่จะปลูก เลือกบริจาคในพื้นที่ที่ต้องการ เมื่อปลูกแล้วสามารถติดตามผลการเจริญเติบโตได้ โดยจะมีการรายงานผลทุกครึ่งปี ถึง 6 ปี มั่นใจได้ว่าต้นไม้ที่เราปลูกเจริญเติบโตได้ดีมีคุณภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ต่อไปอย่างแน่นอน

160020196612

นพเก้า สุจริตกุล

"เป็นความพยายามของภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาครัฐ เพื่อให้การพัฒนาของมนุษย์อยู่บนเส้นทางเดียวกับสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกไม้ให้เป็นป่า ปกป้องผืนป่า ติดตามการเจริญเติบโตด้วยแอพพลิเคชั่นโครงการ Care The Wild ‘ปลูกป้อง Plant & Protect' 

เพราะป่าไม้เป็นด่านสำคัญช่วยบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นที่ฟูมฟักความหลากหลายทางชีวภาพ, 2 ใน 3 ของพันธุ์พืชมีแหล่งกำเนิดจากป่า, 3 ใน 4 ของสัตว์ปีกมีป่าเป็นบ้าน เป็นที่อาศัยของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นแหล่งกำเนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 68 เปอร์เซ็นต์ เป็นแหล่งอาหารของผู้ยากไร้ 9 ใน 10 ทั่วโลก มีคนกว่า 1,000 ล้านคนอาศัยอาหารจากป่ายังชีพ ตอนนี้โลกกำลังสูญเสียผืนป่าในอัตราเร่งอย่างรวดเร็วเท่ากับขนาดของประเทศโปรตุเกสในแต่ละปี” นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พูดถึงโครงการที่กำลังทำอยู่

การปลูกป่าในโครงการนี้มีการจัดการโดย สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ และชาวบ้านในชุมชน เป็นหลักในการดูแลป่า มีส่วนร่วมตั้งแต่เลือกพันธุ์ไม้ปลูกให้ตรงกับระบบนิเวศ ใช้หลักเกษตรอินทรีย์ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ให้ชาวบ้านสามารถหาอยู่หากินจากต้นไม้ที่ร่วมดูแลได้ด้วย โครงการนี้ทดลองทำไปเมื่อปี 2019 ด้วยเห็นว่า 2 โครงการแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ทำไปนั้นมุ่งเน้นให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ต้นไม้ก็ยังคงถูกตัดอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ป่าให้เกิดความสมดุล 

"หัวใจหลักอยู่ที่การปลูกป่า โครงการปลูกป่าที่เราเคยเห็นผ่านๆ มา เราไม่เคยรู้เลยว่าป่านั้นเป็นอย่างไร จึงคิดโครงการปลูกป่าที่ตรวจสอบได้ขึ้นมา ถ้าเราสร้างป่าได้เยอะ ก็ช่วยเราได้มาก ต้นไม้มันโตเอง ถ้า 6 ปีแล้วเราไม่ไปทำอะไรเขาที่แย่มาก คุณได้ป่าแน่ๆ 

ชุมชนก็สำคัญมาก เราไม่ได้ไปเบียดเบียนเขาว่าต้องทำอย่างนี้ๆ เขาเองก็ควรจะได้ประโยชน์จากป่าด้วย อยากจะขอเชิญชวนพันธมิตรภาคธุรกิจมาร่วมกันสร้างผืนป่าบน 7 พื้นที่ 717 ไร่ใน 7 จังหวัดได้แก่ ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน จ.ราชบุรี, ป่าชุมชนบ้านพุตูม จ.เพชรบุรี, ป่าชุมชนบ้านใหม่ จ.เชียงราย, ป่าชุมชนบ้านนาหวาย จ.น่าน, ป่าชุมชนบ้านหนองปิงจ.กาญจนบุรี, ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง จ.นครราชสีมา และป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม โดยมีเป้าหมายปลูกไม้ทั้งสิ้น 100,000 ต้น จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 900,000 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี” นพเก้า กล่าว

 

 

  • ฮีโร่นักปลูกป้อง

ขณะที่คนในเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ บุคคลสำคัญที่จะช่วยให้ความตั้งใจนั้นงอกงามกลายเป็นป่า ก็คือชาวบ้านในพื้นที่  สุปราณี คาทิพาที ผู้ใหญ่บ้านหนองทิศสอน หมู่ 5 ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เล่าถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา

“เราเป็นผู้ดูแลป่า ป่าทำให้ชาวบ้านมีรายได้ สร้างรายได้ให้กับชุมชน พื้นที่ที่เขาเอาไปลง 2,515 ไร่ เป็นป่าสมบูรณ์ขึ้นทะเบียน เราก็ช่วยกันอนุรักษ์ แล้วก็มีป่าเสื่อมโทรม 1,109 ไร่ เราก็จะช่วยกันฟื้นฟู ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์เหมือนกัน เรามี 132 ครัวเรือน ดูแลกันหมดทุกคนเลย ไร่หนึ่งปลูก 200 ต้น ปลูกไม้ 6-7 ชนิด มีไม้ผล ไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจรวมกัน เริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 57 เพิ่งได้ 400 ไร่ ตอนนี้ต้นไม้เติบโตสมบูรณ์ ส่วนที่ออกดอก เราก็ได้เก็บเมล็ดที่สมบูรณ์มาเพาะชำแล้วไปจำหน่ายส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เอาไปปลูก ได้พึ่งตรงนั้นต่อ” เธอว่าป่าสมบูรณ์ถือเป็นแหล่งอาหาร ชาวบ้านได้พึ่งพาจากตรงนั้น

160020198779

นภ พรชำนิ

นอกจากผู้ดูแลป่าแล้ว พันธมิตรที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อย นภ พรชำนิ ตัวแทนจากบริษัท LIFEiS เครือข่ายศิลปินที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า

“ตลาดหลักทรัพย์เป็นเหมือนศูนย์กลางเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัดมหาชนต่างๆ และบริษัทเล็กๆ อย่างพวกเรา ที่ทำในเรื่องของภาคสังคม เป็นหนึ่งในบริษัทจำกัด และมีอีกส่วนหนึ่งคือวิสาหกิจเพื่อชุมชน เพื่อสังคม LIFEiS เป็นบริษัทที่ผมและพี่บอย โกสิยพงษ์ทำขึ้นมาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคธุรกิจกับภาคคนธรรมดา ตลาดหลักทรัพย์ทำโครงการดีๆ ขึ้นมามีบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์มาช่วย แต่ยังไม่พอ คนธรรมดาทั่วไปควรจะทราบว่ามีโครงการแบบนี้ จะได้มาร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ได้”

นภ บอกว่านอกจากจะใช้ความเป็นศิลปินในการสื่อสารกิจกรรมดีๆ ให้สังคมได้รับรู้แล้ว เขายังเชื่อว่า สังคมจะดีขึ้นได้ต้องมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งในความเป็นมนุษย์ ในความเป็นธรรมชาติ และทุกบริบท

"เราไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน คนๆ นั้นต้องมีความพอในตัวเอง แล้วจะเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นได้ สังคมก็จะดีได้ เราทำกันมา 3 ปีแล้ว ก่อนหน้าเราทำเพลงกันในนาม LOVEiS  มันคือความรู้สึก มันคือความรัก ที่จับต้องไม่ได้ แล้วก็มาเป็น LIFEiS คือจิตวิญญาณที่เมื่อเราเติมเต็มความรักเข้าไปแล้วคุณต้อง Take Action ออกมาเป็น Life Is ทำให้ชีวิตของคนที่อยู่รอบๆ ตัวเรามีชีวิตที่ดีขึ้น มีประโยชน์ต่อกันและกัน

ปีนี้ทาง SET ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้อย่างเป็นระบบที่คนในชุมชนเป็นคนปลูก ผมมีหน้าที่นำเรื่องของเขามาเล่าต่อให้คนธรรมดาที่อยู่ในเมืองฟังว่า ไปช่วยฮีโร่ปลูกต้นไม้กันดีกว่า ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไรก็ให้พวกเขาเป็นคนปลูกได้ สปอตไลท์ที่เคยส่องมาที่ผมก็หันไปส่องที่คนปลูกป่า ให้เขามีกำลังใจปลูกป่าไปเรื่อยๆ หันไปที่เกษตรกร คนเก็บขยะ คนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในสังคม คนเหล่านั้นเป็นฮีโร่ของเราทั้งสิ้น”

เช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่สามารถมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ ด้วยการปลูก-ป้อง 'ป่าไม้' เพื่อโลกของเรา