ปลูกดอกไม้ให้ ‘ผึ้ง’ ก่อนมนุษย์จะไร้ที่พึ่ง!

ปลูกดอกไม้ให้ ‘ผึ้ง’ ก่อนมนุษย์จะไร้ที่พึ่ง!

เรื่องเล็กๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง! เมื่อนักวิทยาศาสตร์และนักนิเวศวิทยาระดับโลกออกมาเตือนว่า ประชากรผึ้งที่ลดลงกำลังส่งผลกระทบถึงความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ในอนาคต(อันใกล้)

ระหว่าง ผึ้งในเมืองใหญ่ กับ ผึ้งในชนบท คุณคิดว่าผึ้งที่ไหนมีสุขภาพดีมากกว่ากัน?

ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญหน้ากับการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของประชากรสัตว์นักผสมเกสร จากการใช้เกษตรเคมี การทำเกษตรเชิงเดี่ยว มลพิษ และการรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น เพราะสัตว์ถูกมนุษย์รุกรานจากการแผ้วถางและเปลี่ยนสภาพที่ดินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อีกต่อหนึ่ง

พฤติกรรมและความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดคงหนีไม่พ้นเกษตรกร ในอนาคตราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำจึงไม่ใช่แค่ปัจจัยหลักที่ทำร้ายเกษตรกรอีกต่อไป เพราะหากไม่มี 'ผึ้ง' ก็เท่ากับไม่มี (การขยายพันธุ์ของ) พืช ไม่มีอาหาร ไม่มีสัตว์ และไม่มีมนุษย์

ฟังดูแล้วเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ แต่หากได้เห็นข้อมูลวิจัยและข้อมูลที่ได้จากการสำรวจโดยนักวิทยาศาสตร์และนักนิเวศวิทยาทั่วโลก วิกฤตที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้น และเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

160022089449

ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ระบุว่า กว่าร้อยละ 75 ของพืชพรรณดอกไม้ ต้นไม้และพืชอาหาร จำเป็นต้องอาศัยผึ้งและแมลงผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์ นอกจากผึ้งแล้วยังมีแมลงและสัตว์ชนิดอื่นที่ช่วยทำหน้าที่เป็นนักผสมเกสร หรือนักถ่ายละอองเรณู เช่น ค้างคาว ผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืน แมลงวัน แมลงหวี่ นก เต่าทองและมด

ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เสนอแผนระงับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชสามชนิดที่เป็นอันตรายต่อผึ้ง และตอนนี้รัฐบาลยุโรปกำลังลงคะแนนเสียงในการระงับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายต่อผึ้งอย่างถาวร

กลับมาที่คำถามที่ว่า ระหว่าง ผึ้งในเมืองใหญ่ กับ ผึ้งในชนบท คุณคิดว่าผึ้งที่ไหนมีสุขภาพดีมากกว่ากัน?

คำตอบที่ได้อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะผึ้งในเมืองใหญ่มีสุขภาพดีกว่า

160022088068 ภาพ : Best Bee

ข้อมูลนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 'save ผึ้ง' เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก บอสตัน ลอนดอน ปารีส และเมืองอื่นๆ ในยุโรป เพื่อทำให้ผึ้งมีโอกาสเติบโตและแพร่พันธุ์ ด้วยการจัดสรรพื้นที่ให้ผึ้งเข้ามาอยู่อาศัย ยกตัวอย่างเช่น บนดาดฟ้าชั้น 5 ของโรงแรมมิดทาวน์ ฮิลตัน (Midtown Hilton Hotel) ที่ตั้งห่างจากเซ็นทรัล พาร์ค นิวยอร์กเพียง 5 ช่วงตึก โรงแรมทาช บอสตัน (Taj Boston Hotel) หรือ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล บอสตัน (Intercontinental Boston Hotel) โรงแรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่จุดเช็คอินที่พักของคน แต่เป็น ‘กรีนรูฟท็อป’ หรือ ดาดฟ้าสีเขียว และที่โล่งที่เปิดบ้านต้อนรับผึ้งให้เข้ามาอยู่อาศัย

โนอา วิลสัน-ริช (Noah Wilson-Rich) นักนิเวศวิทยาและนักภูมิคุ้มกันวิทยาสำหรับผึ้ง กล่าวว่า จากการสำรวจรังผึ้ง พบว่า ในช่วงไม่เกินสองปีที่ผ่านมารังผึ้งในสหรัฐอเมริกาลดจำนวนลงถึงร้อยละ 40 และภายใน 10 ปี ผึ้งอาจสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ หากมนุษย์ยังไม่ช่วยกันทำอะไรบางอย่าง

“ลองจินตนาการว่าถ้าผึ้งเป็นมนุษย์เหมือนเรา แล้วจู่ๆ ประชากรมนุษย์ลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่งในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว ที่สำคัญประชากรกลุ่มนี้เป็นคนผลิตอาหารให้กับคนทั่วโลก นั่นหมายถึงจุดจบของพืชพรรณธัญญาหารที่มนุษย์ใช้บริโภค”

วิลสัน-ริช สร้างคอมมูนิตี้ร่วมกับชาวเมืองเคปค้อด โพรวินซ์ทาวน์ (Cape Cod, Provincetown) ที่อยู่ทางคาบสมุทรฝั่งตะวันออกสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา ช่วยกันเปิดพื้นที่ต้อนรับผองผึ้งให้มาอยู่อาศัย บางคนเลี้ยงผึ้ง 6 รังไว้ที่บ้านของตัวเอง บางคนใช้พื้นที่สนามเทสนิสซึ่งไม่ได้ใช้งานติดตั้งบ้านให้ผึ้งเข้ามาทำรังถึง 60 หลัง หลังจากนั้นพวกเขาจึงเริ่มทดสอบวัคซีนที่คิดค้นทดลองมาเพื่อช่วยให้ผึ้งมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ที่อ่านมาประโยคก่อนหน้านี้ไม่ได้เขียนผิด 'วัคซีนสำหรับผึ้ง' ที่ใช้โพรไปโอติกส์ หรือจุลินทรีย์จากภายนอกเสริมเข้าไปในปริมาณที่พอดีเพื่อทำให้ผึ้งทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันได้


160022088044 ภาพ : Best Bee

จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่ง ผุดขึ้นเป็นโปรเจคที่รวบรวมสมาชิกจากทั้งหมด 9 รัฐในสหรัฐอเมริกาในปี 2009 กลุ่มคนที่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการช่วยผึ้งและรักษาประชากรผึ้งให้คงอยู่

สวนหลังบ้าน ดาดฟ้า และพื้นที่ต่างๆ ที่ปลอดภัย ถูกจัดสรรให้เป็นบ้านหลังเล็กๆ ของผึ้ง 9 ปีให้หลังพวกเขาสามารถระดมทุนได้กว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้ามาพัฒนาโปรเจคและงานวิจัยเกี่ยวกับผึ้ง รวมถึงยังสามารถสร้างอาชีพ ‘นักดูแลผึ้ง’ ให้เกิดขึ้น แล้วขยายความรู้ความเข้าใจเรื่องผึ้งจนเกิดเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางและเข้มแข็งมากขึ้น

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่ารังผึ้งในเมืองสามารถผลิตน้ำผึ้งได้มากกว่ารังผึ้งแถบชนบทและชานเมือง ซ้ำยังมีอายุยืนยาวกว่า ผึ้งในเมืองยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ (หลากสายพันธุ์) มากกว่าผึ้งในชนบทและชานเมือง นอกจากนี้จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า

การที่ผึ้งในเมืองมีสุขภาพดีมากกว่าผึ้งชนบท ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากในเมืองปลอดยาฆ่าแมลงหรือปลอดโรคจากการทำเกษตรกรรม แต่เป็นเพราะในเมืองใหญ่มีดอกไม้และพืชที่เป็นแหล่งอาหารให้กับผึ้งหลากหลายกว่า โปรเจคนี้พวกเขาวิเคราะห์ไปถึงดีเอ็นเอของน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งแต่ละแหล่ง จนถึงขั้นที่ระบุได้ว่า ผึ้งในแต่ละพื้นที่ชอบดอกไม้ชนิดไหนมากที่สุด 

สำหรับในเมืองใหญ่โดยเฉลี่ยแล้ว น้ำผึ้งมีที่มาจากดอกไม้และพืชพรรณต่างๆ มากถึง 200 ชนิด เมื่อเทียบกับชนบทซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 150 ชนิด และชานเมืองที่มีสัดส่วนความหลากหลายของดอกไม้และแหล่งผสมเกสรน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น น้ำผึ้งจากเมืองบอสตันที่ตรวจพบดีเอ็นเอของดอกไม้และพืชพรรณต่างๆ ราว 411 ชนิด โดย ‘ลินเดน’ (Linden) เป็นดอกไม้ที่ผึ้งบอสตันชอบมากที่สุด นำมาสู่การจัดระเบียบผังเมืองและการจัดสัดส่วนการปลูกต้นไม้ ดอกไม้ในเมืองให้สอดคล้องไปกับความต้องการของผึ้งด้วย

หรือจากเหตุการณ์ที่เฮอร์ริเคนมาเรีย พัดถล่มเปอร์โตริโก้ (Puerto Rico) เมื่อปี 2018 จากการติดตามร่องรอยดีเอ็นเอในน้ำผึ้งตั้งแต่ก่อนและหลังเฮอร์ริเคน ทำให้พวกเขาช่วยวางแผนการปรับปรุงเมืองด้วยการปลูกต้นไม้ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ในพื้นที่ และเป็นที่ต้องการของผึ้งในเมืองอูมาเกา (Humacao) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พายุถล่มเข้าฝั่งเป็นจุดแรก

ถ้าอย่างนั้น...มนุษย์ในเมืองใหญ่พอจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผึ้งตัวน้อยๆ ได้บ้าง?

160022088294 ภาพ : Best Bee

คำตอบคือ ลองเปลี่ยนระเบียงห้องให้เป็นพื้นที่วางกระถางเพื่อปลูกดอกไม้ เปลี่ยนพื้นที่สวนหน้าบ้านหรือหลังบ้านเล็กๆ ให้มีสีสันมากขึ้นด้วยดอกไม้หลากหลายชนิดไว้เป็นแหล่งอาหารให้กับผึ้ง หรือใครจะลองเลี้ยงผึ้งแบบสร้างบ้านให้ผึ้งอยู่ไปเลยก็ได้ไม่ว่ากัน ...ง่ายๆ แค่นี้ก็มีส่วนช่วยสร้างสมดุลในระบบนิเวศน์ได้แล้ว