ช่วยด้วย! เมืองเดิน(ไม่)ได้
อยู่เมืองเทพๆ แบบนี้มานาน เบื่อกันบ้างไหม อย่าเพิ่งหมดหวัง "กรุงเทพฯ "จะต้องปรับเปลี่ยนดีขึ้นกว่าเดิม
“ขอกรุงเทพฯแบบไม่ต้องรอรถเมล์ 5 ชั่วโมง”
“ขอพื้นฟุตบาทปลอดภัย”
“สิบปีที่ยังเหมือนเดิม ต้องแก้ที่ใคร?”
“เราคงไม่ต้องดิ้นรนมาเรียนกรุงเทพฯ ถ้าต่างจังหวัดดีพอ”
“เมืองเทพสร้าง ? ทำให้ได้อย่างที่พูดที” ฯลฯ
.........................
เสียงสะท้อนเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งในกิจกรรม กรุงเทพในฝัน กับงบประมาณ’64 ซึ่งเป็นครั้งแรกกับการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม โดย คณะกรรมาธิการการศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และคณะกรรมาธิการคมนาคม
กรุงเทพฯ วันนี้...มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ แต่สวนสาธารณะเล็กๆ ,ทางเท้าแคบๆ ไม่มีที่เดิน ,สะพานลอยสูงสุดเอื้อ ,ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงสุดขีด ,รถเมล์เก่าๆ ที่วิ่งไปไม่รู้ว่าชิ้นส่วนจะหลุดเมื่อไร,อากาศเป็นพิษ เดินข้างถนนไม่กี่นาทีแทบจะเป็นลม ,ฝนตก รถติดบนถนนวันละ 2-5 ชั่วโมงฯลฯ
ถ้าอย่างนั้นมีทางออกหรือทางเลือกไหม
“น่าจะให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการออกแบบสร้างโครงสร้างเหล่านั้น(กรุงเทพฯ)ด้วย”
และนี่คืออีกเวทีที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม และส่งเสียงไปถึงภาครัฐ
1.อยากได้เมืองอย่างไร
“ทรายอยากเห็นโครงสร้างที่ทำให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตได้เองอย่างอิสระ ไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น อยากออกไปเที่ยวหรือทำงานก็ทำได้ ” ทราย-คีริน เตชะวงศ์ธรรม ผู้พิการทางสายตา กล่าวในวงเสวนา กรุงเทพของฉัน วิ่งสนุกเดินสะดวก
ทรายเป็นผู้พิการทางสายตา เจ้าของเพจ ผมชื่อลูเต้อร์-My name is Luther แม้จะมีสุนัขนำทาง แต่เธอก็ไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯได้ยากลำบาก แม้บางสถานที่จะอนุญาตให้นำลูเต้อร์(สุนัขนำทาง)เข้าไปได้ แต่บางสถานที่ก็ไม่เข้าใจ ซึ่งต่างจากการใช้ชีวิตในอเมริกาอย่างสิ้นเชิง
“เวลาทรายเดินบนถนน หากเจอสิ่งกีดขวางทางเท้า ลูเต้อร์ยังช่วยได้ แต่กรุงเทพฯมีสิ่งกีดขวางเยอะมาก ส่วนสิ่งกีดขวางระดับศรีษะ ลูเต้อร์ช่วยทรายไม่ได้” ทราย เล่าถึงการใช้ชีวิตนอกบ้าน และลองคิดดู ส่วนใหญ่คนพิการทางสายตาในเมืองไทยไม่ได้มีสุนัขนำทางเป็นตัวช่วยเหมือนทราย
“คนส่วนใหญ่จะไม่เห็นว่า คนพิการทำอะไรได้บ้าง ทำให้คนในครอบครัวคิดว่าพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะไม่เคยมีการผลักดันให้โครงสร้างต่างๆ เอื้ออำนวยกับการใช้ชีวิต ทำให้พวกเขาไม่ค่อยเดินทาง ทรายอยากให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและเท่าเทียม โดยเฉพาะคนพิการจะได้ไม่ต้องรอให้คนอื่นช่วยเหลือ
ทรายอยากยกตัวอย่าง รถไฟฟ้าใต้ดินที่เมืองนอก เวลาซื้อบัตรจะมีปุ่มเสียงบอกเรา ซื้อตั๋วเองได้เลย รถเมล์ก็มีประกาศบอกเส้นทางเดินทาง ในเมืองไทยคนพิการที่ใช้รถเข็น แม้จะมีลิฟ แต่เวลาใช้ต้องให้เจ้าหน้าที่เปิดให้ เป็นการอำนวยความสะดวกที่ใช้ไม่ได้จริง ”
นอกจากเสียงสะท้อนของคนพิการทางสายตา กลุ่มmayday ซึ่งพยายามทำหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับรถเมล์สาธารณะ อาทิ ที่ป้ายรถเมล์มีข้อมูลสำหรับผู้ใช้บริการมากขึ้น กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ ตัวแทนกลุ่ม เล่าถึงปัญหาขนส่งสาธารณะว่า
“ถ้าขนส่งสาธารณะสามารถรักษาเวลาได้ ก็จะทำให้พวกเราใช้เวลาเดินทางน้อยลง มีเวลาไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบมากขึ้น การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องแลกกับราคาที่แพง เราอยากได้ขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย มีมาตรฐาน และทางเท้าทางลาดที่ดี เพราะคนพิการเดินทางลำบากมาก”
ส่วนอีกหนึ่งคนที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้เเทนราษฎร บอกว่า แทนที่จะคิดว่า ประเทศไทยคือ กรุงเทพฯ ควรมีการกระจายอำนาจและงบไปที่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
“ 3 เรื่องที่เป็นประเด็นหลักในการเเก้ไขปัญหาที่ผมอยากเสนอ คือ รถเมล์ น้ำท่วม เเละขยะ ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด เราจะจัดการให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ต้องกระจายอำนาจออกไป เเละต้องเปิดให้คนกรุงเทพฯ เข้ามาร่วมกันสะท้อนปัญหาของพวกเขาด้วย”
2.เมืองแบบนี้อยู่ยาก
ถ้าจะนัดเพื่อนหรือแฟนไปเดินเล่นที่ไหนสักแห่งในกรุงเทพฯ มีใครนึกออกบ้างว่า ควรไปที่ไหน... แค่การใช้ชีวิตในแต่ละวันก็ยากแล้ว ทำงานเสร็จต้องรีบกลับบ้าน ไม่อย่างนั้นฝนตก รถติด ฯลฯ
“คุณพ่อเคยเปรียบเทียบการขึ้นรถเมล์ไทยเหมือนการเดินขึ้นเมรุ มันสูง ส่วนสะพานลอยสูง 9 เมตร เท่าตึกสามชั้น ก็ไม่ขึ้นแล้ว บางทีเดินข้ามถนนไปเลย เหนื่อยมาก ของที่ถือก็หนัก” ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เล่าให้เห็นภาพ และไม่ต้องรอให้สูงวัย วัยหนุ่มสาวก็ใช้ชีวิตยากแล้ว
"ทำไมคนพิการสองล้านกว่าคนต้องอยู่กับบ้าน รอความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากนั่งรอ แล้วรู้สึกไม่มีคุณค่า ใครๆ ก็อยากมีคุณค่า มีอิสระในการใช้ชีวิต และเราควรมองคนพิการหรือคนสูงอายุเป็นทรัพยากรของเมืองมากกว่าเป็นภาระ เคยเห็นคนพิการที่ฝรั่งเศสสามารถใช้ชีวิตไปไหนมาไหนได้เอง แต่ในเมืองไทย คนพิการหรือมนุษย์ล้อ จะออกจากบ้านแต่ละครั้ง ไม่ใช่ว่ามีเงินค่าแท็กซี่แล้วรถทุกคันจะรับ
และเมื่อใดที่อายุมากขึ้น ไม่อยากขับรถ ลูกหลานไม่มารับ คนสูงวัยก็จะเริ่มติดบ้าน แล้วต่อมาก็ติดเตียง นั่นคือภาระของลูกหลานในประเทศนี้ หากทำให้คนสูงอายุมีโอกาสพบปะเพื่อนใช้ชีวิตสะดวกขึ้น โอกาสที่สุขภาพจะเสื่อมก็ลดลง"
เหตุใดการเดินทางในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย
ผศ.ดร.นิรมล บอกว่า การเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่รอบๆ สถานี 500 เมตร- 1 กิโลเมตร ยังไม่ดีพอ ทำให้ค่าใช้จ่ายการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ สูงที่สุดในภูมิภาคนี้ รายจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ในการดำเนินชีวิต หมดไปกับค่าเดินทาง ขณะที่คนเมืองในประเทศอื่นใช้ไปกับค่าบ้าน การเรียนรู้ ความมั่นคง และท่องเที่ยว
“มีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่ง หากวันนี้คุณอายุ 30- 40 มีโอกาสมากที่จะมีอายุถึงร้อยปี เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ คนจะตายยากขึ้น คนเจนใหม่จะอยู่เป็นศตวรรษ แล้วการอยู่แบบนั้นเป็นพรหรือคำสาป มันขึ้นอยู่กับสุขภาพและเงินของคนๆ นั้น”
เธอตั้งคำถามว่า แล้วเมืองจะสนับสนุนให้เราใช้ชีวิตดีๆ ได้อย่างไร
“ปกติของชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เมืองที่ดีจะทำให้เกิด แก่ เจ็บไม่นานก็ตาย เพราะคนๆ นั้นสุขภาพดี ในภูมิภาคนี้ ใครที่เจ็บป่วยสั้นที่สุดแล้วเสียชีวิตเลย นั่นก็คือ คนสิงคโปร์สุขภาพดีมาก มีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 58 ตารางเมตรต่อคน พื้นที่ในการเดินสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด ทำให้พวกเขาสุขภาพดี คนสิงคโปร์เดินมากกว่าหมื่นก้าวต่อวัน ส่วนคนไทยป่วยแล้วจะทุกข์ทรมานใช้เวลาอยู่ที่บ้านนาน จนเงินหมดเพราะรักษาตัว ตอนนี้คนรอบตัวดิฉันก็กินยาลดความดัน เบาหวานกันเยอะ”
หากใครนึกไม่ออกว่า เมืองส่งผลต่อการสะสมต้นทุนการใช้ชีวิตอย่างไร ผศ.ดร.นิรมล ให้ลองนึกภาพนี้...ตกเย็นทำงานเสร็จ เดินกลับบ้าน มีทางเท้าที่สวยงาม ต้นไม้หอมๆ สถาปัตยกรรมงามๆ ถึงบ้าน ก็หายเครียด แต่กรุงเทพฯมีแบบนี้ไหม
3.ผังเมืองในฝัน
แม้คนทำงานด้านการออกแบบผังเมือง จะเพียรพยายาม ร่วมแก้ปัญหาเมืองที่แออัด รถติด น้ำท่วม ทางเท้าไม่ดีมาหลายเวที ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอย่างจริงจัง
"ถ้าเมืองยังทำให้คนเดินไม่ได้ เดินไม่ดี ไม่มีอนาคตหรอกคะ ศึกษากันมาห้าปีแล้ว การสะสมทุนสุขภาพไม่เกิดขึ้นในเมืองที่คนใช้รถเป็นหลัก เราลงทุนกับระบบรางไปเท่าไรแต่ไม่ได้คิดต่อว่า จากสถานีนี้ จะทำให้คนเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ไปจับจ่ายใช้สอยสะดวกอย่างไร ยังไม่มี คนส่วนใหญ่ก็ยังต้องใช้รถยนต์
ในโตเกียว จำนวนรถยนต์ต่อจำนวนประชากรมากกว่ากรุงเทพฯ เมืองที่ดีต้องมีพื้นที่ถนน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่กรุงเทพฯมีแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ แล้วใน 7 เปอร์เซ็นต์ มี 5 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นทางเท้า ปกติคนญี่ปุ่นจะทิ้งรถไว้ที่บ้าน ใช้เมื่อจำเป็น ส่วนใหญ่ใช้ขนส่งมวลชนเพราะสะดวกกว่า" ผศ.ดร.นิรมล กล่าว
“จากที่เคยทำงานกับผู้ว่าฯ บางคนมีวิสัยทัศน์ แต่กรอบการรวมศูนย์อำนาจต้องขออนุญาตส่วนกลาง ทั้งๆ ที่มีงบประมาณเยอะ ผู้ว่าฯ มีอำนาจตัดสินใจไหม หากอยากแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อยากทำให้เมืองๆ นี้ดีขึ้น ไม่ว่ายากดีมีจนสามารถเข้าถึงความสุขได้ประมาณหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้งบมาก สามารถทำได้ แต่ผู้ว่าฯไม่มีอำนาจ ”
แม้อัตราเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครจะเพิ่มจาก 6.9 ตารางเมตรต่อคน เป็น10 ตารางเมตรต่อคน แต่ก็ยังเป็นอัตราส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่มีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 58 ตารางเมตรต่อคน
ผศ.ดร.นิรมล บอกว่า ตามสถิติค่าเฉลี่ยจากบ้านคุณไปสวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุด ระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินไปถึง หอศิลป์แบบที่เราทำกิจกรรมอยู่ก็ไม่มี หรือคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง
"ตอนที่ไปแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศส วันอาทิตย์ห้างสรรพสินค้าปิด เป็นวันที่ครอบครัวอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่ทำอาหารกินกัน ก็ไปสวนสาธารณะที่ใหญ่และสวยมาก หรือไปพิพิธภัณฑ์ นักเรียนหรือผู้สูงอายุลดครึ่งราคา เคยเห็นเด็กตัวเล็กนั่งลอกงานของแวนโก๊ะ เขาสามารถเข้าถึงปัญญาโดยไม่ต้องใช้เงินเยอะในหนึ่งวัน สามารถเดินหรือขี่จักรยานในเมืองได้ เมืองที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นแบบฝรั่งเศส นี่เป็นการยกตัวอย่าง
ส่วนโรงพยาบาลที่เราได้ศึกษาในบางเขต เราพบว่า การเข้าถึงสาธารณูปการด้านสุขภาพ ความสุขและสุขภาวะของประชาชน มีไม่เท่าเทียมกันในทุกๆ พื้นที่ หากคุณหัวใจวาย คุณตายแน่นอน ใน 30 นาทีที่คุณป่วยต้องปั๊มสัญญาณชีพบวกกับรถติด และไม่มีสาธารณูปการด้านสุขภาพในพื้นที่"