'Drip Bag Coffee' หอมอร่อย...ได้ทุกที่ทุกเวลา
หอมอร่อย...สดใหม่! ดื่มด่ำได้ทุกที่ ทุกเวลา กับ “Drip Bag Coffee” อีกสไตล์หนึ่งของ ‘กาแฟ’ พร้อมชง ทำง่าย สะดวกสบาย ใช้เวลาน้อย แค่มีน้ำร้อนก็จัดแจงชงกาแฟดริปในสไตล์นี้มาดื่มกันได้แล้ว
‘Drip Bag Coffee’ เป็นรูปแบบการชงกาแฟดื่มในอีกสไตล์หนึ่งของกาแฟดริปที่ใช้น้ำร้อนเทลงในผงกาแฟคั่วบด แต่ทำได้ง่ายกว่า สะดวกสบายกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า และต้นทุนถูกกว่า เนื่องจากไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรๆ ของกาแฟดริปให้วุ่นวาย เช่น พวกดริปเปอร์, กระดาษกรอง, กาต้มน้ำ, เครื่องชั่งดิจิตัล หรือที่บดเมล็ดกาแฟ ฯลฯ แค่มีน้ำร้อนก็จัดแจงชงกาแฟดริปในสไตล์นี้มาดื่มกันได้แล้ว
...ง่ายไหมล่ะครับ แถมรสชาติและความหอมหวนเย้ายวนใจของกาแฟ ก็ไม่แตกต่างจากกาแฟดริปไปกี่มากน้อย
การชงกาแฟวิธีนี้เริ่มเป็นที่นิยมกันมากที่บ้านเราประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีชื่อเรียกกันในหลายรูปแบบ เช่น Coffee Filter Bag, Drip Coffee Filter Bag, Paper Coffee Bag หรือ Drip Bag Coffee ธุรกิจไทยที่ทำกาแฟสไตล์นี้ออกจำหน่ายมักจะทับศัพท์ไปเลย หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็มักใช้คำว่า กาแฟคั่วบดในถุงกรอง, กาแฟสดแบบถุงชง หรือ กาแฟดริปแบบหูแขวน ในทีนี้ผู้เขียนขอใช้คำเรียกว่า 'กาแฟดริปถุง' ก็แล้วกันนะครับ เพราะสั้น ได้ใจความ และกระชับลงตัว
กาแฟดริปถุงนั้น กินเวลาในการชงประมาณ 2 นาที สิ่งที่ต้องการมีเพียง แก้ว น้ำร้อน และกาน้ำ (ถ้าเป็นกาคอยาวแบบที่เรียกว่า Drip Kettle จะตรงสเป๊กที่สุด) เริ่มแรกก็ฉีกถุงเยื่อกระดาษที่ภายในบรรจุกาแฟคั่วบดออก ซึ่งปกติปริมาณของกาแฟคั่วบดนั้นอยู่ที่ 10-15 กรัม แล้วกางหูแขวนออกนำไปวางพาดบนแก้ว หยิบกาค่อยๆ เทน้ำร้อนใส่ลงไป ง่ายๆ เท่านี้ก็ได้กาแฟสดหอมกรุ่นมาดื่มกันแล้ว
บรรจุภัณฑ์ของกาแฟดริปถุงนั้น นิยมทำจากกระดาษทั้งหมด ทำให้ย่อยสลายง่าย ไม่สร้างปัญหาขยะล้นโลก อย่างแพ็คเกจกิ้งและซองใส่ถุงเยื่อกระดาษนั้น ก็ทำจากกระดาษคราฟท์ เหตุที่ต้องมีซองบรรจุถุงเยื่อกระดาษนั้น ก็เพื่อไม่ให้กาแฟคั่วบดสัมผัสเข้ากับอากาศ ป้องกันกาแฟเสื่อมคุณภาพนั่นเอง
ยุคสมัยนี้ การชงกาแฟคั่วบดหรือกาแฟสดดื่มเองถือเป็นไลฟ์สไตล์ที่กำลังมาแรง นับเป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งของกลุ่มผู้นิยมดื่มกาแฟทั้งหลาย แล้วก็เป็นกาแฟดริปนี่แหละที่สร้างวิถีสโลว์ไลฟ์ ในการดื่มกาแฟขึ้นมา ผู้เขียนเป็นอีกคนที่พกพาอุปกรณ์ชงกาแฟดริปติดตัวยามไปเที่ยวต่างจังหวัด เอาทุกอย่างใส่ลงตะกร้าหิ้ว ด้วยความอยากดื่มกาแฟดีๆ อย่างที่ชอบ เรียกว่า “อร่อยแบบเลือกได้”
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถพกพาอุปกรณ์ชงกาแฟทั้งหลายบรรดามีติดตัวไปด้วยตลอดเวลา กาแฟดริปถุงถือว่าตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เช่น เวลาประชุมทางธุรกิจหรือสัมมนาที่มักเสิร์ฟ กาแฟผงสำเร็จรูป (Instant Coffee) แค่มีน้ำร้อนให้เท่านั้น เราก็นำกาแฟดริปถุงขึ้นมาชงดื่มอย่างหอมๆ ได้แล้ว หรืออยากดื่มกาแฟสดที่ออฟฟิศแต่ไม่อยากยุ่งยากกับอุปกรณ์ชงหรือไม่อยากเสียเวลาออกไปซื้อกาแฟข้างนอก กาแฟดริปถุง นี่แหละครับนับว่าเหมาะมาก
หรือเวลาไปเดินป่าไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะไกล ต้องควบคุมน้ำหนักของเป้สะพายหลัง จะได้เดินสบาย คล่องตัวขึ้น ไม่เหนื่อยหนักเกินไป ก็ได้อาศัยกาแฟดริปถุงช่วยเอาไว้ได้เยอะเลย ลองจินตนาการดูนะครับ เช้าๆ ตื่นขึ้นมารับแสงอรุณรุ่ง ท่ามกลางเสียงหมู่มวลวิหคที่บรรเลงเพลงซิมโฟนีสนั่นพงไพร แล้วเราก็นั่งจิบกาแฟสดหอมกรุ่นอย่างครึ้มอกครึ้มใจ บรรยากาศจะสุดวิเศษขนาดไหน
หอมอร่อย...สดใหม่! ดื่มด่ำได้ทุกที่ ทุกเวลา น่าจะเป็นคำนิยามที่ตรงกับกาแฟดริปถุงมากที่สุดแล้ว
แต่ก่อนจะเอ่ยถึงประวัติความเป็นมาของกาแฟดริปถุงนั้น ขอย้อนเวลากลับไปเมื่อ 112 ปีก่อน อันต้นกำเนิดของกาแฟดริปครั้งแรกของโลก เมื่อปี ค.ศ. 1908 เมลิตตา เบนซ์ (Melitta Bentz) แม่บ้านชาวเมืองเดรสเดนในเยอรมัน ได้คิดค้นฟิลเตอร์ที่ทำจากผ้า มาใช้กรองผงกาแฟต้มได้เป็นผลสำเร็จ ถือเป็นต้นกำเนิดของกาแฟดริปเป็นครั้งแรก ต่อมามีการปรับปรุงพัฒนามาใช้ฟิลเตอร์กระดาษแทน จนทำให้กาแฟดริปเป็นหนึ่งในสไตล์การชงกาแฟได้รับความนิยมไปทั่วโลกในที่สุด
กาแฟดริปในปัจจุบัน กลายเป็นตัวหลักของร้านกาแฟแบบ สโลว์บาร์ (Slow Bar) ซึ่งเป็นคำเรียกร้านกาแฟที่ใช้อุปกรณ์ชงโดยอาศัยแรงคนเป็นหลัก เช่น กาแฟดริป, เฟรนช์เพรส, ไซฟอน, แอโรเพรส และกาแฟไนโตร (Nitro Cold Brew) การชงกาแฟดื่มจากอุปกรณ์เหล่านี้ในแต่ละครั้งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10-20 นาที เป็นอีกสไตล์ที่แตกต่างไปจาก สปีดบาร์ (Speed Bar) ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ใช้เครื่องเอสเพรสโซในการชงกาแฟ ปกติใช้เวลาในการสกัดช็อตประมาณ 25 – 30 วินาที เท่านั้น
ญี่ปุ่นรับเอาสไตล์การชงกาแฟดริปมาเพาะสร้างเป็นวิถีเฉพาะตัว พัฒนาวิธีดริปกาแฟที่ช่วยลดรสขมในกาแฟและคงไว้ซึ่งรสชาติอันซับซ้อนของกาแฟคั่วเข้มในขณะนั้น จนกลายเป็น ‘ตัวพ่อ’ ของวงการกาแฟแนวสโลว์บาร์ไป เพราะใส่ความพิถีพิถัน และเพิ่มเติมรายละเอียดด้านการคำนวณชั่ง-ตวง-วัด ลงไปนั่นเอง ต่อมา กาแฟคั่วอ่อนและคั่วกลางเริ่มได้รับความนิยมเแทนที่กาแฟคั่วเข้มทีละน้อยๆ
แม้เป็นชาติผู้ชำนาญการด้านการชงและดื่มชามาแต่โบราณ แต่ตลาดกาแฟในญี่ปุ่นก็ได้รับความนิยมสูง มีอัตราการเติบโตเร็ว แต่ละปีนำเข้าเมล็ดกาแฟจำนวนมหาศาล จนติดอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว อย่างในปี ค.ศ. 2019 ญี่ปุ่นนำเข้าเมล็ดกาแฟคิดเป็นมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ มาเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี
อย่างไรก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาจนเข้าสู่ระดับยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจของโลก การแข่งขันทางธุรกิจในประเทศก็ดำเนินไปอย่างดุเดือด ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็วิ่งล้อไปกับเวลาที่วัดกันเป็นเงินเป็นทอง จนส่งผลไปถึงวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในที่สุด
ผู้ผลิตกาแฟเริ่มปรับตัวไปตามพลวัตทางธุรกิจ หวังสนองตอบความต้องการของมนุษย์เงินเดือนที่นิยมดื่มกาแฟทั้งหลาย มีการเพิ่มการทำตลาดกาแฟสำเร็จรูป กาแฟกระป๋อง รวมไปถึงปรับวิธีชงดื่มกาแฟดริปให้รวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น พกพาไปไหนต่อไหนได้ง่าย แถมยังมีขนาดกะทัดรัดอีกต่างหาก เลยเกิดไอเดียจับเอากาแฟคั่วบดมาใส่ถุงเยื่อกระดาษ เหมือนกับเครื่องดื่มชาที่เคยทำกันมาก่อนหน้า จึงกลายเป็นที่มาของ ‘กาแฟดริปถุง’ ไปในที่สุด
ตามปูมกาแฟโลกบันทึกไว้ว่า กาแฟดริปถุงเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นราวทศวรรษ 1990 มานี่เอง ก่อนแพร่ขยายเข้าไปในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ยุโรป และอเมริกา รวมถึงไทยเราด้วย จัดเป็นอีกวิธีหนึ่งของการชงกาแฟแบบครั้งเดียวต่อหนึ่งแก้ว (Single Serve) ที่ได้รับความนิยมมาก
สาเหตุความนัยที่ซ่อนอยู่อันเป็นที่มาของกาแฟดริปถุงนั้น เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องบริบททางธุรกิจ และรสนิยมการดื่ม ...ญี่ปุ่นเด่นดังในเรื่องกาแฟดริปและกาแฟสำเร็จรูป ต่างฝ่ายต่างมีจุดดีและจุดด้อย อย่างกาแฟสำเร็จรูปเน้นที่ชงง่าย ราคาถูก แต่รสชาติและความสดอร่อยเป็นรองกาแฟดริปที่มีการชงดื่มยุ่งยากกว่า และราคาก็สูงกว่าด้วย
สมการทางการตลาดคือ ทำอย่างไรจึงจะได้กาแฟที่ชงเร็ว ดื่มง่าย แต่รสชาติดีกว่ากาแฟสำเร็จรูป สามารถดื่มได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา ต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ แนวคิดคือเอากาแฟคั่วบดมาในบรรจุซองแบบที่เรียกว่า Single Serve แต่กาแฟคั่วบดมีผงหรือกากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จำเป็นต้องมีฟิลเตอร์เป็นตัวกรอง
อย่ากระนั้นเลย ลองหยิบเอาถุงชงชามาทำเป็นถุงใส่กาแฟคั่วบดแล้วทำที่แขวนขึ้นมาเพื่อวางไว้บนขอบปากแก้ว แล้วเอาน้ำร้อนเติมลงไปในถุงเยื่อกระดาษที่ทำหน้าที่เป็นฟิลเตอร์ ไม่ต้องเพิ่มความหวานหรือครีมเทียมลงไป ได้กาแฟกลิ่นรสโดยธรรมชาติ กลายเป็น มินิกาแฟดริป ดีๆ นี่เอง เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกแนวทางหนึ่งทั้งแบบการชงดื่มในบ้านและนอกบ้าน
สำหรับการชงกาแฟดริปถุงแบบมาตรฐานนั้น แนะนำให้ใช้สัดส่วนกาแฟ 1 กรัมต่อน้ำ 15 กรัม ถ้ากาแฟมีปริมาณ 10 กรัม ก็ใช้น้ำร้อน 150 กรัม หรือกาแฟ 12 กรัม ก็ใช้น้ำ 180 กรัม เป็นต้น และน้ำร้อนอุณหภูมิ 90-96 องศาเซลเซียส คือหลังจากน้ำเดือดแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ชั่วครู่จึงนำไปใช้ชง
มาดูวิธีการชงกาแฟดริปถุงแบบง่ายๆ กันบ้างครับ
- ฉีกถุงเยื่อกระดาษบรรจุกาแฟคั่วบด ตามรอยปุ
- กางหูแขวนออกแล้ววางค่อมลงบนขอบแก้วกาแฟ
- ค่อยๆ รินน้ำร้อนลงในกาแฟพอให้ท่วมแล้วหยุด น้ำร้อนที่ใช้ตรงนี้ก็ราว 30 กรัม ปล่อยทิ้งไว้ 30 วินาที เพื่อให้กาแฟคายก๊าซออกมา
- จากนั้น รินน้ำร้อนลงอีกครั้งอย่างช้าๆ 2-3 รอบ จนครบปริมาณน้ำตามที่กำหนดไว้ แล้วแช่ทิ้งไว้ 2 นาที
- ยกถุงกาแฟออกจากแก้ว พร้อมดื่มได้ทันที
ขั้นตอนที่ 3 ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะถือเป็นหัวใจของการดริปกาแฟเลยทีเดียว เรียกขั้นตอนนี้ว่า บลูมกาแฟ (Coffee Bloom) เป็นปฏิกิริยาการปล่อยก๊าซ CO2 ตามปกติของกาแฟคั่วบดเมื่อสัมผัสกับน้ำร้อน เพื่อให้น้ำเข้าไปสกัดรสชาติกาแฟได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกก๊าซขัดขวาง จังหวะนี้กาแฟจะพองตัวขึ้นมาก่อนค่อยๆ ยุบตัวลง ถือเป็นการปลุกกาแฟให้ตื่นขึ้นมาพร้อมชงนั่นเอง
ทางฝั่งอมริกาก็เห็นมีข้อมูลว่า มีการใช้กาแฟดริปถุงกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่รูปแบบถุงนั้นแตกต่างไปจากญี่ปุ่น คือ ถุงใส่กาแฟคั่วบดแบบอเมริกา จะเหมือนถุงชาเป๊ะ และก็มีเชือกสีขาวเส้นเล็กๆ ติดตรงด้านบนถุงด้วย ไม่ต้องฉีกถุงออก และไม่มีที่แขวนกับแก้ว วิธีชงก็เพียงนำถุงกาแฟลงแช่ในน้ำร้อนราว 3 นาที ระหว่างนั้นก็ใช้ช้อนคนภายในแก้วเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผงกาแฟออกมามากที่สุด เสร็จสรรพก็หยิบเชือกขึ้นดึงถุงกาแฟออกจากแก้ว
สมัยหนึ่งที่กาแฟสดหรือกาแฟคั่วบดยังไม่แพร่หลาย แบรนด์กาแฟไทยอย่าง Aroma ก็นำกาแฟดริปแบบถุงชา ไม่มีหูแขวน มาบรรจุในแก้วกระดาษพร้อมฝาปิดพลาสติก ออกจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อชื่อดัง เรียกว่ากาแฟสดกึ่งพร้อมดื่ม แค่แกะฝาออก กดน้ำร้อนใส่ ทิ้งไว้ไม่กี่นาที ก็มีกาแฟสดชนิดคั่วเข้มๆ ดื่มกันแล้ว ถือเป็นยุคแรกๆ ของตลาดกาแฟ Drip Bag Coffee ในเมืองไทยเลยทีเดียว
แบรนด์กาแฟหลายเจ้าทั้งของไทยและต่างประเทศ ก็หันมาจำหน่ายกาแฟดริปถุงกันเป็นจำนวนมาก นอกจากกาแฟระดับคั่วเข้มที่เคยเป็นหลักๆ แล้วที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างน่าจับตาคือ กาแฟคุณภาพพิเศษ (Specialty Coffee) ทั้งระดับคั่วอ่อนและคั่วกลาง รวมไปถึงกาแฟสายพันธุ์ดังๆ จากแหล่งปลูกเด่นๆ ก็มีการจำหน่ายเป็นกาแฟดริปถุงด้วย ... เรียกว่ามีให้เลือกกันแบบจุใจเลยทีเดียว