ปลูกจิตสำนึกเด็กปฐมวัยห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

ปลูกจิตสำนึกเด็กปฐมวัยห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

สสส.หนุนปลูกจิตสำนึกเด็กปฐมวัยห่างไกลปัจจัยเสี่ยงนำร่องอนุบาลราชบุรี ก่อนขยายเครือข่ายสู่ รร.ทั่วประเทศ

ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่สำคัญในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ยังคงเป็นเรื่องบุหรี่และเหล้า ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและมีผลต่อเนื่องไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงอื่น เช่น อุบัติเหตุทางถนน การทะเลาะวิวาท และความรุนแรงทางเพศเป็นต้น จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่และดื่มเหล้าในเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มการสูบและดื่มครั้งแรกในช่วงอายุที่น้อยลง ในขณะที่อัตราการสูบและดื่มยังมีจำนวนที่ทรงตัว ซึ่งหากไม่มีการเฝ้าระวังในการลดนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ ก็อาจกลายเป็นนักสูบและนักดื่มประจำได้

โครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่และสุราในเด็กปฐมวัย เด็กเล็ก ก่อนที่จะย่างเข้าสู่วัยรุ่นเนื่องจากเด็กเล็กอายุ 5-10 ปี เป็นวัยที่กำลังพัฒนาทัศนคติ ความเชื่อ อันจะเป็นรากฐานของการมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเหล้าและบุหรี่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายครูโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น เพื่อพัฒนาจิตสำนึกให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่และสุรา

160067593563

สำหรับกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้น   โรงเรียนอนุบาลจังหวัดราชบุรี ได้รับเกียรติจาก นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการด้วยการให้พรในพิธีงานผูกแขนเรียกขวัญ อันเป็นประเพณีเดือนเก้าของชาวปกากะญอที่มุ่งเน้นการเรียกขวัญเด็กๆ ให้ขวัญกลับมาอยู่กลับตัวและสอนให้ห่างไกลจากสิ่งไม่ดี

ดร. อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่และสุรา  และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย กล่าวว่า โครงการฯ นี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาจิตสำนึกต่อปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้าและบุหรี่ ในรูปแบบการสร้างเครือข่ายกลุ่มเด็กระดับอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น ที่ยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ เพื่อป้องกันไม่ให้ก้าวเข้ามาเป็นนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่

มีข้อมูลงานวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กอนุบาลอายุ 3 – 6 ปี สามารถซึมซับทัศนคติ ความเชื่อ รับรู้เรื่องการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าได้จากผู้ใหญ่และสภาพแวดล้อมของสังคม โดยเฉพาะเด็กที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เด็กเหล่านี้จะรับรู้ว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่-ดื่มเหล้าเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน ซึ่งถ้าปล่อยให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นผู้เสพไปโดยไม่รู้ตัว

ส่วนใหญ่ โครงการรณรงค์ต่าง จะทำกับเด็กวัยรุ่น ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรง พบว่ามันสายเกินไป งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาวเพราะเด็กกลุ่มนี้เคยได้รับอิทธิพลและเกิดทัศนคติต่อเรื่องเหล้าบุหรี่ทั้งที่บ้าน ในชุมน เหตุการณ์ในสังคมต่างๆ หรือจากสื่อ ก่อนที่เด็กจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น คือในวัยเล็กๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาล เด็กจึงมีทัศนคติว่าเหล้าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เท่ การเข้าถึงเด็กจึงกลายเป็นการบำบัดมากกว่าการป้องกัน"ดร. อัญญมณี กล่าว

160067601494

เพราะฉะนั้น สสส.จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยสร้างเป้าหมายใหม่เป็นกลุ่มเด็กอนุบาล ว่า เราจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไร สำหรับโครงการนี้ เราไม่ได้มุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องเหล้าบุหรี่ไม่ดี ตอนนี้ทุกคนรู้ว่าไม่ดี แต่ตัวที่เป็นปัญหา คือ ทัศนคติ ความเชื่อ ซึ่งมาจากการซึมซับจากครอบครัว สื่อ สิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เราจึงเน้นในการพัฒนาสมรรถนะ ทั้งความเชื่อ ทัศนคติ ลักษณะนิสัย ภาพลักษณ์ต่อตนเอง ความรู้ ทักษะ นำมาประมวลกัน โดยผ่านกระบวนการพัฒนากายและใจไปพร้อมกัน

โครงการได้ออกแบบยุทธศาสตร์น้ำดีไล่น้ำเสียคือสอนวิธีการจัดการความกลัว-ความเครียดในแนวทางและค่านิยมที่จะพึ่งตนเองในการแก้ปัญหา มากกว่าการพึ่งเหล้าบุหรี่ รวมทั้งมีการดูแลตนเองให้มีสุขอนามัยในสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอกับภัยจากควันบุหรี่มือสองหรือมือสาม ที่เกิดจากเถ้าบุหรี่ที่ติดตามตัวผู้สูบ เสื้อผ้า หน้าผม และตามสิ่งแวดล้อมต่าง   ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรมของคนราชบุรี เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้สอดรับกับวิธีชีวิตของเด็ก

นางปราณี ทัยคุปต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลราชบุรี . ราชบุรี   กล่าวว่า ครอบครัวเป็นสถาบันหลักที่สำคัญในการปลูกฝัง บ่มเพาะเรื่องของวินัยเด็กรวมไปถึงทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นพ่อแม่มีส่วนสำคัญ  ในการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับบุตรหลาน  เรื่องเหล้าบุหรี่ จึงไม่ควรมีในบ้าน ถ้ามีพฤติกรรมดื่มและสูบให้เด็กเห็นเขาก็จะซึมซับไปโดยปริยาย ถ้าเขาเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวัน เด็กจะคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ มันเป็นภัยเงียบ เมื่อเด็กโตไปก็อาจมีโอกาสติดได้ ถ้าผู้ปกครองเป็นต้นแบบที่ดี เด็กก็จะซึมซับในสิ่งที่ดีๆ เหล่านั้นติดตัวเขาไป ซึ่งเด็กอายุ 0-6 ปีเป็นวัยทองของชีวิต

พ่อแม่จะต้องตระหนักว่า เราอยากให้ลูกของเราเป็นอย่างไร สามารถปลูกฝังในช่วงนี้ได้ เพราะมีผลโดยตรงต่อสมองส่วนหน้าที่กำลังพัฒนา วัยนี้จะซึมซับง่ายจากสิ่งที่เราปลูกฝังและจะไปอยู่ที่จิตใต้สำนึก ดังนั้น หากพ่อแม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ลูกก็จะซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก ฉะนั้น หากท่านต้องการให้ลูกของท่านเป็นเด็กดี ท่านก็ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกด้วย ฝากถึงผู้ปกครอง อยากให้ความสำคัญกับเด็กช่วงวัยนี้ให้มาก บ่มเพาะสิ่งที่ดีๆ ให้กับเขา  การสอนที่ดีที่สุด คือ การเป็นแบบอย่างที่ดี การกระทำมีค่ากว่าคำสอน ต้องทำให้ดู การกระทำสำคัญกว่าคำพูด

160067603781

นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่องอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนันต่างๆ ต้องป้องกันตั้งแต่เด็กๆ  โดยการปลูกจิตสำนึกตั้งแต่เด็กๆ ให้รู้จักเรื่องพิษภัยของปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เพราะถ้าจะไปแก้ตอนโตมันยาก เข้าตำรา ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก  การปลูกฝังตั้งแต่เด็กแรกเริ่มรู้ความ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติ นิสัยของเด็กให้ห่างไกลจากเรื่องเหล่านี้ จะดีกว่า รอตอนโตแล้วจะเลิกยากหากใครที่มีกำลังพร้อมในการสร้างรากฐานที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็กเพื่อให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีความพร้อมทั้งคุณภาพและคุณธรรมก็อยากให้มาช่วยกันในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการฯ ได้วางแผนการลงพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นให้กับโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยนำร่องใน 10 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนที่อยู่ในเขตหัวเมืองใหญ่ โรงเรียนประจำท้องถิ่นในต่างจังหวัด และโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร โดย ได้มีการผนวกคติความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ลงไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ นำมาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมให้เด็กและโรงเรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ไปด้วยกัน ด้วยแนวคิดสำคัญ ว่านำประเพณีวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามาลบภาพจำของวัฒนธรรมบิดเบี้ยวของงานปาร์ตี้เหล้าบุหรี่ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทางสังคมให้ซึมซับในตัวเด็กตั้งแต่วัยเยาว์