‘สนามหลวง’ หมุดหมายที่ไม่เคยหายไป

‘สนามหลวง’ หมุดหมายที่ไม่เคยหายไป

ย้อนรอย ‘สนามหลวง’ อดีตท้องนาหน้าวัดมหาธาตุที่ทำหน้าที่รับใช้ตั้งแต่ ‘หลวง’ ยัน ‘ราษฎร์’ ตราบจนทุกวันนี้

ถึงหมุดจะหายแต่ สนามหลวง ยังคงเป็นเสมือนหมุดหมายเดิมในฐานะสถานที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จากวันนั้นที่สนามหลวงคือลาน Hyde Park แห่งแรกของไทย จนวันนี้ล่วงเลยมากว่า 70 ปี สนามหลวงยังถูกใช้ในบริบทเดิม

ลานกว้างแห่งนี้ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2520 ตามประกาศกรมศิลปากรเรื่องการขึ้นทะเบียนสนามหลวงเป็น "โบราณสถาน" มีชื่อว่า ‘โบราณสถานทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง)’ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยที่มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ระบุว่าผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือ ทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ

โทษของการบุกรุกและทำลายโบราณสถานจะหนักขึ้นเป็น จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าโบราณสถานแห่งนั้นเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว นั่นทำให้บทบาทของสนามหลวงที่มีต่อประชาชนนั้นค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไป

  • สนาม (ของ) หลวง

“ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า "ทุ่งพระเมรุ" นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ท้องสนามหลวง” ประกาศอันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก ทุ่งพระเมรุ เป็น ท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2398 บ่งบอกว่าในอดีตสถานที่แห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์

จากข้อมูลประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย

มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สนามหลวงยังคงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี กาญจนาภิเษก

รวมทั้งงานพระเมรุมาศเจ้านายระดับสูง เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

160068829630

ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เคยอธิบายถึงคุณค่าของ "สนามหลวง" ในบทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 26 ฉบับที่ 3, กรกฎาคม-กันยายน 2543 ซึ่งในขณะนั้นกำลังมีประเด็นที่กรุงเทพมหานครมีโครงการจะขุดใต้ท้องสนามหลวง เพื่อให้เป็นที่จอดรถบัสทัวร์ที่พานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมาเที่ยวชมพระบรมมหาราชวัง ว่า “ในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ท้องสนามหลวงหาใช่พื้นที่สาธารณะแบบทุ่งโล่ง ที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาคิดทำอะไรอย่างมักง่ายได้ไม่ หากเป็นสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวังทีเดียว เป็นพื้นที่สำหรับการประกอบพระราชพิธีและประเพณีงานนักขัตฤกษ์ที่สำคัญของรัฐและสังคมในฤดูกาลต่างๆ ของรอบปี

เช่น พระราชพิธีแรกนาขวัญ และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายองค์สำคัญ ตลอดจนงานนักขัตฤกษ์สำคัญ เช่น ประเพณีสงกรานต์ที่ควบคู่ไปกับการแสดงมหรสพนานาชนิด...

...ในด้านการเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวังและสถาบันกษัตริย์นั้น สนามหลวงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ทุ่งพระเมรุ” เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วทางกรุงเทพฯ รับเอาแบบอย่างสืบทอดมา

ในพระราชวังพระนครศรีอยุธยานั้น เมื่อยามพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต พระบรมศพจะประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อถึงเวลาถวายพระเพลิงก็มีขบวนเกียรติยศชักนำพระบรมศพออกจากพระที่นั่งมาตามสนามชัย ซึ่งอยู่ระหว่างกำแพงชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สอง ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาทและวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ไปออกประตูพระราชวังด้านใต้ เข้าสู่ทุ่งพระเมรุ คือบริเวณที่อยู่ด้านหลังวัดพระรามและด้านหน้าวัดมงคลบพิตร อันเป็นที่ตั้งพระเมรุมาศ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้วก็อัญเชิญพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งมาประดิษฐานที่ซุ้มจระนำของวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์...”

ในบทความ อ.ศรีศักรยังบอกอีกด้วยว่า ในพระบรมมหาราชวังของกรุงเทพมหานคร พระบรมศพของพระมหากษัตริย์ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อถึงคราวถวายพระเพลิงก็อัญเชิญพระบรมศพออกทางประตูพระราชวังมาตามถนนที่คั่นระหว่างพระราชวังและวัดพระเชตุพนฯ หักเลี้ยวมาตามถนนหลวง ซึ่งแต่เดิมเป็นสนามชัยคั่นอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวังสราญรมย์ มายังพระเมรุมาศที่สนามหลวง ซึ่งคนแต่ก่อนจะเรียกว่าทุ่งพระเมรุ เป็นลักษณะเดียวกันกับครั้งกรุงศรีอยุธยา

ความแตกต่างกันนั้นอยู่ที่ว่า สนามชัยของกรุงเทพมหานครอยู่นอกพระราชวัง และทุ่งพระเมรุของกรุงเทพฯ ดูจะใหญ่กว่าของทางกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ไม่ใหญ่เท่ากับสนามหลวงปัจจุบัน เพราะพื้นที่ท้องสนามหลวงที่เราเห็นในขณะนี้ได้ผนวกเอาบางส่วนของพระบวรราชวังหรือวังหน้าเข้าไปด้วย

“...เหตุนี้เมื่อมีการขุดพื้นที่สนามหลวงจึงมักพบฐานอิฐ เศษอิฐ ปืนใหญ่ และลูกปืนใหญ่สมัยโบราณกันบ่อยๆถ้ามองให้กว้างไปกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง ก็จะเห็นว่าสนามหลวงคือส่วนหนึ่งของเมืองกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทีเดียว นั่นก็คือ โดยภาพรวมกรุงเทพฯ มีคูเมืองทางด้านเหนือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ถึงสามชั้น โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองด้านตะวันตกแต่เพียงชั้นเดียว...”

160068781637

  • สนาม (ของ) ราษฎร์

ถึงคำว่า "สนามหลวง" จะตีความได้สองความหมาย คือ สนามหลวง ซึ่งหมายถึงสนามที่เป็นของหลวง กับที่หมายถึงสนามขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมานั้นออกไปทางเป็นของหลวงมากกว่า ทว่าความเกี่ยวพันกับประชาชน อดีตของสนามหลวงก็รับใช้ราษฎรมาไม่น้อยและหลากหลายบทบาทเช่นกัน

ในบทความของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ระบุว่า “...ในฤดูว่าว ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ก็มีประเพณีแข่งว่าว ซึ่งผู้ใหญ่และเด็กต่างพากันมาเล่นว่าวกันอย่างสนุกสนาน ทำให้สนามหลวงไม่เป็นแต่เพียงเรื่องของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเท่านั้น หากยังเป็นของผู้คนประชาชนส่วนรวมด้วย ยิ่งกว่านั้นท้องสนามหลวงคือที่นัดพบ ที่ชุมนุมในกิจกรรมต่างๆ ทั้งของราชการและคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ที่ดำรงมาอย่างสืบเนื่องตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาจนถึงเมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สนามหลวงก็คือไฮด์ปาร์คแห่งแรกของเมืองไทย รวมทั้งเป็นที่ซึ่งบรรดานักการเมืองทุกพรรคพากันมาหาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร การมีความหมายในสถานะทั้งหลายแหล่เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้สนามหลวงคือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง...”

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าสนามหลวงถูกใช้เป็นสถานที่แสดงออกทางสัญลักษณ์ทางการเมืองเรื่อยมา หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ วันที่ 6 ต.ค. 2519 เหตุการณ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 39 คน และบาดเจ็บ 145 คน

ต่อมาในปี 2553 สนามหลวงยังถูกใช้เป็นพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มีเป้าหมายในการล้มรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนัดรวมพลเมื่อ 14 มี.ค.2553 เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งของการเมืองไทย

และล่าสุดท้องสนามหลวงถูกใช้เพื่อการชุมนุมและแสดง "สัญลักษณ์ทางการเมือง" อีกครั้ง โดยหลังจากการชุมนุมของกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และท้องสนามหลวง ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ภายใต้ชื่อ ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ปราศรัยต่อเนื่อง 17 ชั่วโมง มีเนื้อหาโจมตีการรัฐประหาร รัฐบาล และกองทัพ อีกทั้งยืนยันข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และประกาศทำพิธี "ปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ที่สนามราษฎร" ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 20 ก.ย. 2563 ซึ่งสนามราษฎรที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงสนามหลวงนั่นเอง

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2553 ก่อนที่สนามหลวงจะกลับมาเนืองแน่นด้วยผู้คนทั้งในงานพระราชพิธีและการชุมนุมทางการเมือง กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ของสนามหลวง จากเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น จนถึงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ได้เปิดใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ

แต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 บทบาทของสนามหลวงในฐานะสนามราษฎรก็คล้ายจะเปลี่ยนไป เพราะมีการออกกฎไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เหมือนในอดีต เพื่อสงวนไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีเท่านั้น ซึ่งมีพระราชบัญญัติโบราณสถานคุ้มครอง และกำหนดโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือบุกรุกมีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท โดยทางกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และสันทนาการตามปกติ แต่ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย จอดรถหรืออาศัยเป็นที่หลับนอน ซึ่งเข้าใช้พื้นที่ได้ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. เท่านั้น

ส่วนถนนเส้นกลางซึ่งเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกา ยังอนุญาตให้ประชาชนให้สัญจรได้ตลอด 24 ชั่วโมง

...

บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปตาม ‘กาละ’ และ ‘เทศะ’ อาจทำให้สนามหลวงในสายตาของแต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะฐานะ ‘ของหลวง’ หรือ ‘ของราษฎร์’ พื้นที่นี้ยังเป็นฉากหลังของประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยเช่นเดิม