เด็กจบใหม่อย่าพลาด!!เงื่อนไข จ้างงานเพิ่มวุฒิ ม.6
รมว.แรงงาน เผย จ้างงานใหม่ผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน เพิ่มวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.6 ) เงินเดือน 8,690 บาท/เดือน มอบกรมการจัดหางานเร่งทำระบบรองรับ หวังเป็นโครงการทำงานร่วมกับนายจ้าง สถานประกอบการแบบบูรณาการ
"การจ้างงานเด็กจบใหม่" จำนวน 260,000 อัตรา ที่รัฐบาลช่วยเอกชน สนับสนุนค่าจ้าง 50% จากหลักเกณฑ์เดิมที่ช่วยเหลือผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
วันนี้ (28ก.ย.2563) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าในโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน ได้มีการพิจารณาให้เพิ่มวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.6 ) ค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 8,690 บาท รัฐช่วยอุดหนุนค่าจ้างครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 4,345 บาท เพื่อการดูแลผู้ว่างงานอย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยนายจ้างและสถานประกอบการที่ต้องการร่วมโครงการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการและทำสัญญาจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่เข้าทำงาน เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือหากผู้จบการศึกษาใหม่ลาออกในระหว่างโครงการสถานประกอบการสามารถหาผู้จบการศึกษาใหม่ทดแทนได้
ในส่วนของผู้จบการศึกษาใหม่ ต้องมีสัญชาติไทยและไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาก่อน อายุไม่เกิน 25 ปี หรือหากอายุเกินกว่า 25 ปี ต้องเป็นผู้จบการศึกษาประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2562 หรือ พ.ศ. 2563 ซึ่งได้มอบกรมการจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ การ Matching งาน ระหว่างสถานประกอบการและผู้หางานให้ตอบโจทย์และสะดวกต่อการใช้งาน เพื่อประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
"ตามนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลายลง โดยสนับสนุนการจ้างงานระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ ให้ส่งเสริมการมีงานทำก่อน อย่างไรก็ตามมิให้ละเลยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นให้คนไทยต้องมีงานทำในทุกพื้นที่ สนับสนุนการจ้างงานที่มั่นคงและต่อเนื่อง เน้นเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตของประเทศไทย” นายสุชาติ กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าสำหรับขั้นตอนเข้าร่วมโครงการ 4 ขั้นตอนดังนี้
1.การลงทะเบียนนักศึกษาจบใหม่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เข้าลงทะเบียนในระบบ Co-payment บันทึกข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมแนบTranscript ในส่วนของนายจ้างและสถานประกอบการ เข้าลงทะเบียนในระบบ Co-payment แจ้งตำแหน่งงานว่างและจำนวนลูกจ้างที่ต้องการรับเข้าทำงาน
2.การตรวจสอบเอกสารข้อมูลเข้าร่วมโครงการ ระบบจะทำการตรวจสอบTranscript ของผู้สมัคร และสถานประกอบการนั้นๆ ว่าอยู่ในระบบของสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ หากตรงตามเงื่อนไข จึงอนุมัติเข้าร่วมโครงการ
3.การ Matching งาน สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการเมื่อลงทะเบียนในระบบเรียบร้อยแล้ว สามารถค้นหาผู้สมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจ้างงานกันแล้ว ให้ Download สัญญาจ้างเพื่อลงลายมือชื่อร่วมกัน และ upload สัญญาจ้างเข้าระบบอีกครั้ง
4.เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานตรวจสอบเอกสารสัญญาจ้าง หากถูกต้องจึงอนุมัติผลการจ้างงาน เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ไปถึงวันที่30 กันยายน 2564
สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ตามระดับการศึกษาให้กับลูกจ้าง ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และแจ้งข้อมูลการจ่ายเงินให้ลูกจ้าง พร้อมส่งหลักฐานให้กรมการจัดหางานภายในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป และกรมการจัดหางานจะเป็นผู้โอนเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีลูกจ้างโดยตรงภายใน 5 วันทำการ หลังจากได้รับแจ้งหลักฐานจากนายจ้าง/สถานประกอบการแล้ว
ทั้งนี้ ผู้จบการศึกษาใหม่ คนหางาน นายจ้างและสถานประกอบการ ที่กำลังมองหา”งานและคน” สามารถเข้าร่วมงานJob Expo Thailand 2020 มหกรรมการจัดหางานครั้งยิ่งใหญ่ สนับสนุนให้คนไทยมีงานทำ ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงาน วันที่ 26-28 กันยายนนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร Hall EH 98-99 และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางา