คกก.สั่งปิดสถานประกอบการรับแรงงานผิดกฎหมายทำโควิด-19ระบาดในไทยได้

คกก.สั่งปิดสถานประกอบการรับแรงงานผิดกฎหมายทำโควิด-19ระบาดในไทยได้

คาดโควิด-19ระบาดเมียนมาใช้เวลาอีกระยะกว่าจะลดลง-สงบ สธ.ประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมยกระดับมาตรการให้เหมาะสมทันที  ระบุสถานประกอบการรับแรงงานผิดกฎหมายทำโควิด-19ระบาดในไทย คกก.โรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจสั่งปิด

       เมื่อวันที่  25 กันยายน 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในประเทศเมียนมาว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วมาก อาจเกิดขึ้นจาก 2 ข้อหลัก คือ โรคระบาดเร็วมาก และเครื่องมือในการตรวจหาเชื้อทำได้มากขึ้น  แต่ไม่ว่าจะเหตุผลใดก้แสดงถึงการเจอผู้ติดเชื้อจำนวนมากและแพร่ระบาดเร็วขึ้น ส่วนจะควบคุมสถานการณ์ได้เร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถของหน่วยงาน ซึ่งเมียนมาได้มีการสั่งปิดย่างกุ้งและลดการเดินทาง อาจจะทำให้การแพร่ระบาดลดลง  โดยความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าเมียนมาจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งโรคจึงจะลดลงและสงบ ทั้งนี้  ประเทศไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเรื่องต่างๆกับเมียนมาหากได้รับการร้องขอ และเข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศ(กต.)อยู่ในขั้นตอนเตรียมจัดหาเครื่องมือในการตรวจหาเชื้อสนับสนุนให้เมียนมา

       “ผลกระทบที่จะส่งมายังประเทศไทยนั้น ขึ้นอยู่กับการเดินทางของคนเพียงอย่างเดียว ทั้งคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศ แรงงานเข้ามาทำงานและผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะถ้าคนไม่เข้ามา เชื้อโรคก็ไม่ข้ามมา ซึ่งการกั้นคน ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองมีการเฝ้าระวังและควบคุมอย่างเต็มที่ แต่หากมีการหลุดรอดและลักลอบเข้ามา ฝ่ายสาธารณสุขจะเข้าไปกั้นโรค โดยจะมีการประเมินสถานการณ์การระบาดในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมยกระดับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทันที อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบความปิดปกติใดในแนวชายแดนไทย”นพ.โสภณกล่าว

        ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการตรวจพบว่าสถานประกอบการมีการรับแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเข้าทำงานแล้วพบว่าทำให้โรคระบาดในประเทศจะมีการดำเนินการทางกฎหมายได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า  โดยหลักจะเป็นความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง ส่วนในแง่ของสาธารณสุขนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานมีอำนาจสั่งปิดสถานประกอบการแห่งนั้นได้ ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  ซึ่งระยะเวลาการสั่งปิดขึ้นอยู่กับขนาดการระบาดของโรค เช่น หากพบผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน ก็อาจจะปิดเพื่อทำความสะอาดเป็นเวลา 3 วัน แต่หากพบว่ามีการระบาดไปมากขึ้นก็อาจจะขยายเวลาสั่งปิดต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการปิดสถานประกอบการนานกว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการฯสั่ง ด้วยเหตุผลต้องการป้องกันความเสี่ยง