จากเคส 'สารสาสน์ราชพฤกษ์' ถึง 5 วิธีเช็คให้รู้เมื่อลูกถูกทำร้าย

จากเคส 'สารสาสน์ราชพฤกษ์' ถึง 5 วิธีเช็คให้รู้เมื่อลูกถูกทำร้าย

จากกรณี "สารสาสน์ราชพฤกษ์" ที่พบว่า "ครูจุ๋ม" และครูอีกหลายคนในโรงเรียนดังกล่าวทำร้ายร่างกายเด็ก เรื่องนี้อาจทำให้ผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนอื่นๆ กังวลว่าลูกตัวเองจะโดนทำร้ายแบบนี้หรือไม่? พ่อแม่จึงต้องรู้วิธีสังเกตลูกให้ดี

กระแสแรงไม่หยุด สำหรับกรณีโรงเรียน "สารสาสน์ราชพฤกษ์"  ที่พบว่าครูผู้สอนระดับอนุบาลอย่าง  "ครูจุ๋ม" ครูพี่เลี้ยง  "ครูอิ้ว" ครูอนุบาลประจำชั้น และครูต่างชาติอีกหลายคนมีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายเด็กวัย 3 ขวบ หรือมีการทำโทษเกินความจำเป็น เช่น การตบหัว ทุบหลัง ใช้มือผลักหน้าหงาย หยิกใบหู ไม่ให้ดื่มน้ำ ไม่ให้ปัสสาวะ ลากไปทำร้ายในห้องน้ำ รวมถึงการให้เวลากินข้าวกลางวันเพียง 7 นาที ก่อนจะดึงจานของเด็กมาเคาะอาหารทิ้งต่อหน้า เป็นต้น 

ล่าสุด.. ครูจุ๋มและครูต่างชาติก็ได้เข้ามอบตัวแล้ว ในขณะที่ผู้บริหารโรงเรียน  "สารสาสน์ราชพฤกษ์"  ก็ออกมายอมรับผิดและขอโทษต่อกลุ่มผู้ปกครองแล้ว  พร้อมยอมรับในข้อเรียกร้องทุกข้อของกลุ่มผู้ปกครอง

ประเด็นข่าวนี้ทำเอาพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกในวัยเดียวกันที่เข้าเรียนในโรงเรียนแห่งอื่นๆ อาจจะเริ่มเป็นกังวลว่าลูกตนเองจะโดนทำร้ายร่างกายแบบนี้หรือเปล่า? วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมและสรุปข้อมูลจาก  เพจเฟซบุ๊ค “ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย”  โดยหมอเม้ง การ์ฟิลด์ ที่ได้โพสต์ถึงกรณีครูทำร้ายร่างกายเด็กในโรงเรียน "สารสาสน์ราชพฤกษ์"  พร้อมมีคำแนะนำถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมลูกหากโดนทำร้ายร่างกาย ดังนี้

160146194784

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

  • ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะหวาดกลัว VS ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะติดพ่อแม่ ต่างกันอย่างไร?

“ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย”  ระบุว่า จากกรณีที่เป็นข่าวครูทําร้ายนักเรียนอนุบาลอย่างรุนแรง  ซึ่งเข้าข่ายทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกาย  ทางคำพูด  และทางจิตใจ   สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทางร่างกายอย่างเดียว​ แต่ส่งผลเป็นบาดแผลทางจิตใจให้เด็กได้ด้วย   เมื่อเด็กมีอาการแสดงออกว่าไม่อยากไปโรงเรียน  ผู้ปกครองจะแยกแยะอาการที่เด็กหวาดกลัวการถูกทำร้าย ออกจากความกังวลที่เด็กกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ตามวัยของเด็กอายุ 3 ขวบ (separation​ anxiety) ​ได้ดังนี้

-  ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะติดพ่อแม่ จะหายไปเองได้

ความกังวลที่จะพลัดพรากจากพ่อแม่เป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการของเด็กอายุ 3 ขวบ เด็กมักจะกังวลอย่างมากเมื่อคิดถึงการจากพ่อแม่ กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับพ่อแม่  เช่น  อุบัติเหตุ  เจ็บป่วย​ หรือตาย กลัวว่าตัวเองจะถูกลักพาตัวไปแล้วไม่ได้เจอพ่อแม่ กลัวการอยู่คนเดียวโดยที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย​ อาจจะมีอาการทางร่างกายในเช้าวันจันทร์ที่จะต้องไปโรงเรียน  เช่น  บ่นปวดหัว  ปวดท้อง และไม่อยากไปโรงเรียน   แต่อาการจะดีขึ้นในวันศุกร์หรือวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียน

ถ้าพ่อแม่สามารถปลอบและทำให้เด็กมั่นใจว่า  พ่อแม่จะพาไปโรงเรียนแล้วไปรับกลับบ้านตามปกติทุกวัน   เด็กก็จะมั่นใจว่าพ่อแม่ไม่หายไปไหน  เด็กมักจะไปโรงเรียนได้ แล้วเมื่อไปถึงโรงเรียน อาการกลัวดังกล่าวจะค่อยๆ  หายไป  และเด็กจะสามารถเรียนตามปกติได้

- ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะกลัวโดนทำร้าย  จะติดตัวเด็กมาถึงที่บ้าน

แต่ถ้าเด็กกลัวการถูกทำร้ายจะมีอาการที่แตกต่างออกไป กล่าวคือเด็กจะมีความหวาดกลัวโดยที่ไม่ว่าพ่อแม่จะปลอบหรือบังคับเด็กให้ไปโรงเรียนอย่างไรเด็กก็จะไม่อยากไป​ แม้ว่าจะไปถึงโรงเรียนแล้วก็จะยังปรับตัวไม่ได้  และยังคงมีอาการหวาดกลัว​หรือหวาดผวา​อยู่  

อีกทั้งอาการหวาดกลัวนี้เด็กจะติดกลับมาจนถึงที่บ้านและเกิดขึ้นซ้ำๆ ประกอบกับมีอาการกลัวแปลกๆ  เช่น  กลัวการเข้าห้องน้ำ กลัวเสียงดัง หวาดผวาง่าย ซึม ไม่ร่าเริง มีอาการฝันร้าย โดยที่ฝันว่าตัวเองถูกทำร้าย​ ไม่ได้ฝันร้ายว่าพ่อแม่หายไปหรือพ่อแม่เป็นอันตราย  ​เป็นต้น

160146194765

  • 5 วิธีเช็ค จะรู้ได้อย่างไรเมื่อลูกถูกทำร้าย ?

คำตอบคือ พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกหลานของตนเอง และควรหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ หลังจากที่กลับจากโรงเรียน โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง  ดังนี้  

1.  ถามลูกด้วยประโยคปลายเปิด เช่น  ถามว่าไปโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เล่นอะไรกับเพื่อนบ้าง ครูสอนยังไงบ้าง วันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่สบายใจอะไรบ้าง กลัวอะไรบ้าง มีเพื่อนมาแกล้งอะไรบ้าง​ รอยแผลนี้เกิดขึ้นได้ยังไง หรือถูกครูทำร้ายอย่างไรบ้าง เป็นต้น

2.  ตรวจดูความผิดปกติตามร่างกายของลูก เช่น อาจพบมีรอยแผลแปลกๆ เช่น รอยหวดด้วยไม้ รอยฟกช้ำ หรือรอยขีดข่วนใต้ร่มผ้าต่างๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากการถูกเพื่อนแกล้ง

3.  ไม่ควรมองข้ามคำพูดของลูก เช่น การที่ลูกพูดว่าไม่อยากไปโรงเรียนนั้นต้องสังเกตดีๆ  ว่านั่นเป็นเพราะว่าลูกขี้เกียจหรือไม่รับผิดชอบ  หรือเป็นแค่ภาวะวิตกกังวลในการแยกจากพ่อแม่​ การพูดกับลูก  โดยถามเป็นประโยคปลายเปิดนั้น จะเป็นการหัดให้ลูกเล่าเรื่องบ่อยๆ  ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถค้นเจอได้เร็วขึ้นว่าลูกถูกทำร้ายหรือไม่  

4.  สอนลูกให้กล้าพูดความจริง   พ่อแม่ควรสอนลูกด้วยว่าหากถูกใครทำร้ายที่โรงเรียนควรมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง​ โดยไม่ต้องกลัวใครขู่​ เพราะพ่อแม่จะปกป้องไม่ให้ถูกทำร้ายซ้ำ​

5.  ผู้ปกครองต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา  พ่อแม่ควรมีกลุ่มผู้ปกครองทั้งออนไลน์และในชีวิตจริง​ เพื่อช่วยกันสังเกตพฤติกรรมของลูกว่ามีอาการแปลกๆ  ที่เปลี่ยนไปหรือไม่   ช่วยกันเป็นหูเป็นตาจะได้รู้ได้เร็วขึ้น

160146544654

  • เมื่อพบว่าลูกถูกทำร้ายร่างกาย พ่อแม่ควรจะทำอย่างไรต่อ?

1.  อย่างแรกพ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกจะปลอดภัยไม่โดนทำร้ายซ้ำ พ่อแม่จะไม่บังคับลูกไปโรงเรียนซ้ำถ้าปัญหายังไม่ได้รับการคลี่คลาย  เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าปลอดภัยจริงๆ

2.  หากพบว่าปัญหาเกิดจากครูที่โรงเรียนทำร้ายจริง ควรแจ้งฝ่ายบริหารของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อทำการตรวจสอบ แล้วจัดการตามความผิดเพื่อไม่ให้เด็กถูกกระทำซ้ำ

3.  ถ้าพบว่าเด็กมีปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึกแล้วพ่อแม่ไม่สามารถจัดการได้​ อย่าปล่อยปัญหานั้นไว้โดยคิดว่ามันจะหายเอง​ แต่ควรมองตัวช่วย  เช่น  พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อให้ประเมินและรับการช่วยเหลือ  เพราะการช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ  จะสามารถเยียวยาจิตใจเด็กได้ดีกว่าการปล่อยปัญหาไว้ยาวนาน

160146195055

  • เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายจะมีผลกระทบในชีวิตระยะยาว

จากเคสของโรงเรียน  "สารสาสน์ราชพฤกษ์"  ที่มีครูอนุบาลทำร้ายร่างกายเด็ก บางช่วงบางตอนของรายงานข่าวระบุด้วยว่า  เด็กบางคนโดนลากไปทำร้ายในห้องน้ำเกิดอาการกลัวห้องน้ำไม่กล้าเข้าห้องน้ำ​ เด็ก​มีอาการฝันร้ายไม่กล้าไปโรงเรียนเพราะกลัวการไปโรงเรียนและกลัวครู รวมถึงพฤติกรรมเด็กที่เดินไปตบหน้าพ่อเมื่อเรียกแล้วพ่อไม่หัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป​

อาการดังกล่าวเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นต่อเนื่องก็จะทำให้เด็กบางคนเลียนแบบความก้าวร้าว  มีพฤติกรรมความรุนแรง  เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้​   หากเด็กมีการถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆ  เป็นเวลายาวนานเด็กอาจจะเกิดบาดแผลภายในจิตใจไปอีกนาน และส่งผลกระทบอื่นๆ ดังนี้

1.  เด็กมีบาดแผลทางจิตใจจนอาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ  เช่น  โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรค phobia เช่น กลัวครูโดยเฉพาะ 

2.  เด็กรู้สึกตนเองมีคุณค่าต่ำ มีความคิดลบต่อตัวเอง 

160146194946

3.  เด็กมีอาการหวาดผวาหรือกลัวการถูกกระทำซ้ำ​ หลังจากเจอเหตุการณ์รุนแรงทั้ง acute stress​ disorder, post traumatic stress​ disorder​ หรืออาการซึมเศร้า​ เป็นต้น

สุดท้ายนี้  หากทุกฝ่ายทั้งทางโรงเรียนและทางผู้ปกครองช่วยกันสอดส่องดูแลคัดกรองครูอย่างดี  โดยให้ประเมินสภาพจิตใจก่อนจะเข้าสอนและพ่อแม่ก็ช่วยกันสอดส่องว่าลูกๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในแง่ไม่ดีอย่างไรบ้าง  ก็น่าจะเป็นการดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

------------------------

อ้างอิง :   https://www.facebook.com/thaichildpsy/