ผู้เชี่ยวชาญชี้ ครูทำร้ายเด็ก สะท้อนอำนาจนิยมในโรงเรียน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ ครูทำร้ายเด็กสะท้อนอำนาจนิยมในโรงเรียน กับระบบที่ล้มเหลว ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจ พัฒนาการเด็ก นำไปสู่โรคซึมเศร้า ขณะที่ผู้ปกครอง "โรงเรียนสารสาสน์” ลั่น หาก รร.ไม่ปรับก็ควรปิด หยุดปล่อยเด็กเผชิญชะตากรรมอันตราย
จากกรณีปัญหาครูลงโทษนักเรียนขั้นอนุบาลเกินความเหมาะสม ในรร.สารสาสน์ ราชพฤกษ์ ล่าสุดมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดเสวนาเพื่อหาทางออกดังกล่าว
แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” กล่าวว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงให้อยู่ในสภาพความรุนแรง จะมีผลกระทบกับตัวเด็กมากน้อยแตกต่างกัน ยิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ เด็กจะแสดงออกหลายรูปแบบ เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด ฉุนเฉียว เพราะต้องอยู่กับอารมณ์โกรธของครู เมื่ออยู่ในโรงเรียนเขาทำไม่ได้เขาจะเลือกไปแสดงออกในพื้นที่อื่น ด้วยการก้าวร้าวกลับ หรือลงไม้ลงมือ
แต่เด็กบางคนก็จะเลือกวิธีหนีหลีกเลี่ยง ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่เข้ากิจกรรมที่ควรทำเพราะไม่อยากถูกตำหนิถูกตี เกิดความวิตกกังวล ซึม แยกตัว ส่วนเด็กที่ยอมทำตามครู ก็เพื่อที่จะได้อยู่รอด ซึ่งเด็กที่ยอม เมื่อเติบโตมาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ นับถือตัวเองต่ำ นำไปสู่โรคซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้จะต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กได้ระบายความเครียด ความอึดอัดคับข้องใจผ่านกิจกรรมบำบัด ส่วนพ่อแม่เองต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูก และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ให้เขารู้สึกว่าโลกที่เขาจะอยู่ไม่ได้น่ากลัว
ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ครูกับเด็ก แต่เป็นอำนาจนิยมในโรงเรียน อำนาจที่ผู้ใหญ่ใช้กระทำกับเด็ก อ้างหวังดีลงโทษเพื่อสั่งสอน ซึ่งจริงๆเกิดขึ้นทุกที่ เกิดในบ้าน โรงเรียน ชุมชน เราต้องกลับมาดูหลักสูตรการผลิตครู ว่าได้ใส่ความเข้าใจ การดูแลเด็กเชิงบวก ทักษะการจัดการอารมของครู อย่ามองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ
แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พ่อแม่จำนวนไม่น้อยส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่รู้สึกว่าปลอดภัยจ่ายเงินมหาศาล คำถามคือ ทำไมเราไม่สามารถมีโรงเรียนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน รวมถึงเด็กชนบท เด็กต่างจังหวัด เด็กยากจน ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงเกิดการทำร้าย
ดังนั้นควรมองไปให้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำว่า นี่ขนาดเป็นโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถจ่ายได้ จ่ายในระดับที่ค่อนข้างมีราคา ยังได้รับคุณภาพการศึกษาแบบนี้ แล้วโรงเรียนอื่นๆ ที่เหลือจะเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงคุณภาพชีวิตทางการศึกษาที่ปลอดภัย
สังคมต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ และลุกขึ้นต่อสู้ไม่ยอมรับกับสิ่งที่ถูกปฏิบัติอยู่ เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ศธ.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องลงมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นางสาวอรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กรณีครูทำร้ายเด็ก บ้านพักเด็กและครอบครัว นนทบุรี ได้เข้าไปทำงานต้องแต่แรกที่เป็นข่าว ร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อหาทางออก ในส่วนของ พม.จะเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กและผู้ปกครอง ทำการประเมินสภาพจิต รวมถึงหาแนวทางช่วยเหลือ ในเบื้องต้นได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่รับผลกระทบโดยตรงผู้ปกครองได้แจ้งความดำเนินคดี กลุ่มที่2 เป็นกลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน กลุ่มที่ 3 กลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในสายชั้นเดียวกัน และกลุ่มที่ 4 กลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในชั้นอื่นๆ หลังจากประเมินสภาพจิตใจแล้ว จะมีการทำแผนบำบัดกลุ่มต่อไป นอกจากนี้ในกลุ่มของเด็กที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูเร่งด่วน ต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบหลักในระยะยาวด้วย
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กรณีครูทำร้ายร่างกายเด็ก อนุบาลที่ปรากฎเป็นข่าว และครูคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์กลับนิ่งเฉย เหมือนเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียน ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่รับรู้ รับทราบกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ เรามีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ระบุชัดว่า มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก โดยรมว.พม.เป็นประธาน ปลัดพม.เป็นรองประธาน และยังมีปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นกรรมการ ทุกกลไกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง ดูแลช่วยเหลือเยียวยาเด็ก
ขณะที่ นายอัครพงษ์ บุญมี ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์ราชพฤกษ์ กล่าวว่า ลูกตนก็เคยเรียนซัมเมอร์กับครูจุ๋ม ตอนนั้นแก้มเขียวกลับมาบ้าน พอถามไปครูจุ๋มตอบว่า เด็กเล่นกัน และหลายครั้งที่ลูกฉี่ราดกางเกง และบอกว่า ฉี่ไม่ทัน ซึ่งทำให้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าลูกต้องโดนอะไรแน่นอน ซึ่งโชคดีที่ลูกได้เรียนกับครูจุ๋มแค่ 1 เดือน ก็เกิดการปรับเปลี่ยน ตอนนี้ลูก 4 ขวบ ขึ้นอนุบาล 2 แล้ว
จริงๆ ถึงลูกเราไม่มีคลิปในเหตุการณ์ แต่ก็เหมือนถูกกดดันจากสังคมและตั้งคำถาม เช่น ลูกเรียนที่นั่นหรือ โดนไหม จะออกไหม ทำไมยังกล้าให้ลูกเรียนอีก คือมันกลายเป็นเรื่องน่าอายที่เราให้ลูกใส่ชุดโรงเรียนนี้ แล้วไปส่งที่โรงเรียนนี้ ซึ่งการย้ายโรงเรียนอยากให้เป็นคำตอบสุดท้าย เพราะคงจะไม่ย้ายลูกออก เหตุผลคือไม่รู้สึกว่าลูกจะต้องปรับอะไร แต่สิ่งที่ต้องปรับคือโรงเรียนและระบบ ถ้าไม่ปรับก็คือต้องปิดโรงเรียนไป อย่าปล่อยให้เด็กรุ่นอื่นๆต้องมาเจอชะตากรรมแบบนี้ ไม่ใช่ต้องมาวัดดวง แต่ควรสร้างมาตรฐาน
นายอัครพงษ์ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่ผู้ปกครองเรียกร้องมีอยู่ 2 ประเด็น คือ น้องที่ถูกกระทำ ทางผู้ปกครองจะย้ายโรงเรียนและเรียกร้องค่าเสียหายเยียวยา ส่วนกรณีไม่ย้าย ทางโรงเรียนต้องมีมาตรการที่ชัดเจน วางระบบสามารถดูลูกผ่านออนไลน์ ครูที่สอนต้องแสดงใบประกอบวิชาชีพครู เพราะจะปล่อยให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้มาสอนเด็กไม่ได้ ยิ่งเคสนี้อดคิดไม่ได้ว่าผู้บริหารมีส่วนรู้เห็นให้ทำผิดหรือไม่ นอกจากนี้เรายังเสนอให้ต้องประชุมผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง ทราบว่าขณะนี้กระทรวงศึกษาเข้ามาดูแลในเรื่องนี้แล้ว และทางโรงเรียนยินยอมจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ปกครอง ส่วนค่าสินไหม ก็จะดูเป็นรายบุคคลไป