เปิดเวที "ผ่าตัดนโยบายแก้ความรุนแรงเด็กปฐมวัย"
เผยเด็กอายุ 1-14 ปี 65% ประสบความก้าวร้าวทางอารมณ์ 56% ถูกทำโทษทำร้ายร่างกาย 4% ครอบครัวอบรมสั่งสอนทำโทษด้วยวิธีร้ายแรงที่สุด ด้าน สสส.เปิดเวที ผ่าตัดนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย แก้ความรุนแรงในโรงเรีย เตรียมชงคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย 9 ต.ค.นี้
จากความรุนแรงทางอารมณ์และร่างกายเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด โดยเด็ก 62% หรือคิดเป็น3 ใน5 ของเด็กอายุ 1-14 ปีเคยประสบความก้าวร้าวทางอารมณ์ และเด็ก 56% หรือกว่าครึ่งของประชากรโดยเด็กอายุ1-14ปี เคยถูกทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกาย เด็กอายุ 1-14ปี จำนวน4% ในประเทศไทยเคยถูกครอบครัวอบรมสั่งสอนลูกหลานด้วยการทำโทษด้วยวิธีที่ร้ายแรงที่สุด
ขณะที่ การลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกาย ถือเป็นความรุนแรงต่อเด็ก ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 7 จาก75 ประเทศ ที่มีความเชื่อว่าการลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการอบรมสั่งสอนเด็ก ซึ่งเด็กช่วงอายุระหว่าง 3-4 ปี เป็นช่วงอายุที่ถูกทำโทษด้วยวิธีที่รุนแรงมากที่สุด เช่น การตีก้น ตีด้วยมือ ตีมือหรือแขนขา จับเด็กเขย่าหรือการใช้สิ่งของตีเด็ก และการตบศีรษะ ตบป้องหู หรือตบหน้าเด็ก กระหน่ำตีเด็กอย่างรุนแรง
การทำร้ายเด็กส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจ นั่นคือ มีการคาดการณ์ว่าการกระทำรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบก่อให้เกิดความสูญเสียทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า ถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การทารุณเด็กก่อให้เกิดความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 209 ร้อยล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเท่ากับ7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2% ของจีดีพีของภูมิภาค
วันนี้(5 ต.ค.2563) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย หัวข้อ "ผ่าตัดนโยบายให้เด็กปฐมวัยมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย" โดยใช้รูปแบบ Online Policy Crowdsourcing สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ขับเคลื่อนสู่กลไกระดับชาติภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยพ.ศ.2562
"น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส." กล่าวว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย มีกลไกระดับชาติที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง มาตรฐาน และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าๆ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความต่อเนื่อง ทั่วถึงและเท่าเทียม
โดยให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สร้างการมีส่วนร่วม บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับชาติภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน จนถึงครอบครัว ให้มีกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยหลากหลายแต่เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพเป็นหลักประกันให้เด็กปฐมวัยได้รับการเลี้ยดู พัฒนาให้การศึกษาและได้รับการปกป้อง
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในวันที่ 9 ต.ค.2563 นี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายครั้งนี้ จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นการสะท้อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีความห่วงใยต่อปัญหาความรุนแรงและการดูแลเด็กปฐมวัย
“โจทย์ใหญ่ในสังคมไทยตอนนี้ คือการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ต้องเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและช่วยดูแลสังคมเราต่อไป ซึ่งจะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน เยียวยา ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก เร่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างถ้วนหน้า"น.ส.ณัฐยา กล่าว
ด้าน"ครูอุ้ย" น.ส.อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ เจ้าของโรงเรียนอนุบาลบ้านรัก กล่าวว่าอยากให้มีการยกเลิกคำว่าโรงเรียนอนุบาล เพราะเมื่อมีคำว่าโรงเรียนอนุบาล ทำให้เกิดความเข้าใจว่าครูในโรงเรียนอนุบาลเป็นครูต้องสอนเด็ก ทำหน้าที่อนุบาลเด็ก หรือเป็นแผนกหนึ่งในโรงเรียน ทั้งที่ อนุบาล เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กก่อนเข้าประถม เป็นการอนุบาลเด็กที่ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของเด็ก ต้องมองความต้องของเด็กเป็นที่ตั้งและเด็กน้อย หรือเด็กปฐมวัย เด็กอนุบาลเขาต้องการการปกป้องดูแล ต้องการความรักเป็นหลัก ซึ่งตามหลักคนที่จะให้ความรัก ความอบอุ่น และปกป้องดูแลเด็กต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของครูอนุบาลที่ต้องเป็นเสมือนแม่ครู ในการอนุบาลเด็กตามสิ่งที่เด็กต้องการ
"ในวัยนี้เด็กต้องการแม่พ่อ ดังนั้น ครูอนุบาลอย่างพึ่งรีบเป็นครู และควรเปลี่ยนจากโรงเรียนอนุบาลเป็นเรื่องการเตรียมปฐม เตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตพื้นฐานแก่เด็ก ครูอนุบาลต้องเป็นแม่ครูแก่เด็ก ทำให้ช่วงเวลาทอง 3 ปีที่อยู่ในวัยอนุบาลเป็นปีคุณภาพแก่เด็กมากที่สุด ต้องทำอย่างไรให้เด็กเกิดความอบรม บทบาทของแม่ครู ต้องให้สาระการเรียนรู้พื้นฐาน นั่นคือ งานบ้าน งานครัว และงานสวน ฝึกการเรียนรู้พื้นฐานผ่านการเล่น และแม่ครู พ่อแม่ต้องร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก"ครูอุ้ย กล่าว
นพ.บวร แมลงภู่ทอง กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า นโยบายเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 จะต้องลงทุนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงจะเกิดความคุ้มค่ามากกว่าการมาให้ความสำคัญเมื่ออยู่ในชั้นประถมศึกษา หากนโยบายเด็กปฐมวัยทำได้จะช่วยทำให้เด็กไทยมี 3 ทักษะใหญ่ ได้แก่ 1.ทักษะพื้นฐานสำหรับชีวิตประจำวัน คือ อ่านออก เขียนได้ เรียนรู้ได้อย่างมีความสร้างสรรค์ 2.ทักษะการมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ รู้จักจัดการอารมณ์และสื่อสารเหตุการณ์ที่ซับซ้อน สามารถทำงานเป็นทีมได้ 3.ทักษะบุคลิกภาพ คือ การปรับตัวในชีวิตประจำวัน รู้จักคิดริเริ่ม มีภาวะผู้นำ กล้าลงมือทำ และใจสู้