แต่งตั้ง "ดร.สมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา" รักษาการ ผอ.องค์การสวนสัตว์
บอร์ด องค์การสวนสัตว์ แต่งตั้ง ดร.สมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา รักษาการ แทนนายสุริยา พร้อม ตั้งคณะกรรมการภายนอกตรวจสอบสวนสัตว์ทั่วประเทศ ยันเก้งตัวที่ 2 ถูกงูกินจริงซากอยู่ รพ.สัตว์ มอ. ส่วนตัวที่ 1 สาเหตุยังไม่แน่ชัด ส่งกรมอุทยานฯ ตรวจซ้ำพิสูจน์ดีเอ็นเอ
จากกรณี นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ ถูกนายสัตวแพทย์ภูวดล สุวรรณะ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา กระหน่ำยิงเสียชีวิตภายในสำนักงานสวนสัตว์สงขลา ขณะลงมาตรวจสอบกรณีลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานหายไป 2 ตัว ส่วน นายสัตวแพทย์ภูวดล ยิงตัวตายตามที่บ้านพัก
วันนี้ (6 ตุลาคม) เวลา 9.00 น. ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยประชุมผลสรุปการสอบกรณีลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทาน 2 ตัว หายไปจากสวนสัตว์สงขลา พร้อมทั้งวาระเร่งด่วนเรื่องการตั้งรักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์คนใหม่
นายชวลิต ชูขจร ประธานคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยภายหลังจากการประชุมบอร์ดวาระพิเศษหลังใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมมีมติ แต่งตั้ง ดร.สมิทธิ ดารากร ณ อยุธยาประธานหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นรักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ เบื้องต้นคณะกรรมการรู้สึกเสียใจและเสียดายที่ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่า ทั้ง 2 ท่าน หลังจากนี้จะเร่งในกระบวนการสรรหา ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ ต่อไป
- เก้งตัวที่ 2 ถูกงูกินจริง
ประเด็นสำคัญเรื่องเก้งเผือกพระราชทาน 2 ตัวที่ ชื่อ "ภูมิ" และ "ภาค" อายุ 9 เดือน สูญหาย ในวันที่ 19 ก.พ. 63 และ22 ก.ย.63 วันนี้คณะกรรมการได้มีการรายงานชัดเจนว่า เก้งตัวที่ 2 (ภาค) โดนงูเหลือมกินเนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งงูป่าสามารถหลุดลอดเข้ามาได้ โดยเจ้าหน้าที่พบงูในพื้นที่จัดแสดง บริเวณโพรง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดึงงูตัวดังกล่าวออกมา ปรากฏว่างูท้องแตกและพบซากเก้งในท้อง โดยซากดังกล่าวยังอยู่ที่ รพ.สัตว์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) สามารถตรวจสอบได้ ชัดเจนว่าถูกงูกิน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทาง นายสุริยา ทราบสาเหตุการหายไปของเก้งตัวที่ 2 ไม่แน่ชัด นำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย เกิดจากทางสวนสัตว์สงขลา รายงานในรอบเดือนตามระเบียบ จึงไม่ได้แจ้งโดยตรง ซึ่งระบบการรายงานเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ทำให้เกิดความเข้าใจว่าหายซ้ำซ้อน
ขณะที่เก้งตัวที่ 1 ยังไม่ทราบสาเหตุการหายที่แน่ชัด กรรมการสอบสวนพบซากกระดูกหลังจากที่หายไปแล้ว 2 เดือนซึ่งหลังจากส่งซากไปให้กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจสอบเบื้องต้น ผลยังไม่ชัดเจน จึงต้องทำการส่งตรวจซ้ำในระดับเซลล์ DNA อาจจะต้องใช้เนื้อเยื่อและองค์ประกอบของซากเพื่อให้สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาราว 1 เดือน
- ตั้งคณะกรรมการภายนอกร่วมตรวจสอบ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว เชื่อมโยงไปยังประเด็นที่มีคำถามว่า สวนสัตว์เป็นสถานที่ลักลอบค้าสัตว์ป่าหรือไม่ ประธานบอร์ด ระบุว่า ทางคณะกรรมการมีมติเห็นควรให้มีหน่วยงานภายนอกร่วมตรวจสอบ โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ เป็นกลางมาตรวจสอบเรื่องนี้ในสวนสัตว์ทั่วประเทศ และจะมีการโยงไปยังเก้งตัวที่ 1 ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ด้วย
"ด้านสวนสัตว์ ทางคณะกรรมการ ได้ให้นโยบายกับรักษาการ ฯ ให้ดำเนินการในเรื่องความโปร่งใส เปิดเผยบัญชีสัตว์ สถิติการเกิด การตาย การดูแลทุกสวนสัตว์ให้สาธารณชนตรวจสอบได้ รวมถึงช่องทางออนไลน์"
สำหรับการควบคุมสัตว์ในสวนสัตว์ การทำงานพบว่ายังมีจุดอ่อนอยู่จริง สืบเนื่องจากที่ไม่มีบอร์ดอยู่สักระยะหนึ่งภายหลังมีการแต่งตั้งบอร์ดมาดูแล ประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา พบจุดอ่อนในการรายงานประชากรสัตว์ จึงพยายามแก้ไขปัญหาโดย นายสุริยา ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ ต้องการสร้างความชัดเจน หรือสืบค้นเพื่อหาที่มาที่ไปได้มากขึ้น นำมาซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการด้านประชากรสัตว์ และมี นายสุริยา เป็นประธาน เพราะต้องการความชัดเจนบวกกับความรายงานที่ล่าช้าคลาดเคลื่อน ทำให้นายสุริยาต้องลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตัวเอง
- ย้อนประเด็นนกแก้วมาคอร์ และ นอแรด
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุม ได้มีการสอบถามย้อนกลับไปในกรณีปี 2557 ที่ไข่นกแก้วมาคอร์หายไป 13 ตัว มูลค่า 7 แสนกว่าบาท ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนในพื้นที่ เป็นคนนอกสวนสัตว์ มีการตามจับคืนมาได้ 2 ตัว และมีการดำเนินการตามกฏหมายเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ ปี 2561 มีกรณีนอแรดถูกขโมยไป เนื่องจากแรดตัวดังกล่าว ตายโดยเหตุธรรมชาติ มีการส่งให้ มอ. ตรวจพิสูจน์ แต่เนื่องจากนอแรดมีมูลค่าจึงมอบให้กับทาง มอ. เก็บไว้ในส่วนจัดแสดง กลับมีเจ้าหน้าที่ในสวนสัตว์ไปขอรับโดยไม่ได้รับมอบหมาย เป็นการทุจริต ทางสวนสัตว์ตรวจพบ และได้ทวงถาม ผู้ก่อเหตุแจ้งว่าได้ส่งคืน แต่จากการตรวจสอบ พิสูจน์ พบว่าเป็นนอแรดคนละตัวกับที่ขโมยไป จึงได้แจ้งความดำเนินคดีอาญา และไล่ออกไปเรียบร้อยแล้ว
ท้ายนี้ ย้ำว่า มูมู่ เก้งเผือกอีก 1 ตัวที่เหลืออยู่ จะไม่ย้ายไปที่อื่น แต่จะมีการดูแลเป็นอย่างดี
- ย้ำเหตุสลดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ส่วน ประเด็นที่นายสัตวแพทย์ภูวดล ก่อเหตุดังกล่าว ดร.สมิทธิ รักษาการ ผอ.องค์การสวนสัตว์ ระบุว่า เกิดจากความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการโยกย้ายแบบถาวร แต่ความจริงเป็นการโยกย้ายชั่วคราวเท่านั้น ประกอบกับนายสัตวแพทย์ภูวดล มีความเป็นห่วงพ่อที่ป่วย ทำให้เครียด ก่อเหตุดังกล่าวขึ้น เข้าใจว่า หนังสือคำสั่งของนายสุริยาค่อนข้างชัดเจน แต่การสื่อสารที่ไปยังหมอภูวดล อาจจะคลาดเคลื่อน ทำให้เข้าใจผิด
"สำหรับประเด็นที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเกิดจากการขัดแย้งเรื่องการสร้างสวนน้ำภายในสวนสัตว์ ไม่น่าจะเป็นประเด็นเพราะหมอภูวดลไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ แต่ดูในส่วนของการอนุรักษ์และวิจัยสวนสัตว์เพียงอย่างเดียว" รักษาการ ฯ กล่าว