ทำไม "พ่อ-แม่"ต้องเข้าโรงเรียน
การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยต้องมีระบบที่ส่งเสริมให้ครอบครัวในการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับครูอาจารย์และกำหนดให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยมีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องแก่ผู้ปกครองเพื่อทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
วันที่ 20 ตุลาคมนี้กระทรวงศึกษาธิการจะเสนอแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย 2563-2570 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อยกระดับคุณภาพเด็กปฐมวัยทั่วประเทศให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาเด็กตามสมรรถนะการพัฒนาทักษะตามช่วงวัย ผ่าน 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัยที่เด็กปฐมวัยจะต้องมีโอกาสเข้าถึงการบริการอย่างเท่าเทียม 2.การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 3.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย 4.การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกันเช่นเด็กที่มีความสามารถพิเศษเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการ เป็นต้น
5.การจัดทำและปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย 6.การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ 7.การบริหารจัดการการสร้างกลไกประสานการดำเนินงานและการติดตามประเมินผลเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัยรวมถึงการจัดสรรงบประมาณ
โดยมี 4 กระทรวงหลัก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม. )และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำงานร่วมกันสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะการสอบเข้าป.1 เพราะจะเป็นการสร้างความกดดันแก่เด็กทำให้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
- สิ่งที่เด็กปฐมวัยต้องเรียนรู้
"ครูหวาน- ธิดา พิทักษ์สินสุข" อุปนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า เด็กปฐมวัยจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะสมอง Executive Function (EF ) หรือการพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ซึ่งพ่อแม่คือคนที่สร้างและพัฒนาทักษะ EF ได้มากที่สุดในช่วง 0-8 ปี คือสอนให้ลูกคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น ซึ่งเด็กปฐมวัยจะสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากพ่อแม่มากกว่าจากในโรงเรียน
ดังนั้น พ่อแม่ควรใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับลูก ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นกีฬา ทำอาหาร เป็นต้น การเรียนรู้จากการได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายฝึกให้ลูกรู้จักกล้าแสดงออก คิดเป็น ทำเป็น และรู้จักการแก้ปัญหา รวมถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย พ่อแม่ควรให้อิสระในการเล่น ปล่อยให้ลูกได้เลือกเล่น กำหนดรูปแบบและสิ่งที่จะเล่นด้วยตัวเอง โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้กำหนดกฎ กติกา ในการเล่น
พ่อแม่ช่วยฝึกความเป็นผู้นำและรู้จักรักษากฎเกณฑ์ ฝึกให้เด็กรับผิดชอบและช่วยเหลือตนเอง เรียนรู้ถูกผิดเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น ติดกระดุมเสื้อด้วยตนเอง สวมรองเท้า และเพิ่มความยากของกิจกรรมไปทีละนิดตามวัย เพื่อท้าทายให้ลูกได้คิดและได้ลงมือทำเล่านิทาน ช่วยพัฒนาสมอง ความคิด ความจำ และเสริมสร้างจินตนาการการเล่าเรื่องเป็นการฝึกลูกให้คิดอย่างเป็นระบบ
"พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย 2562 พูดถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเริ่มตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ ต้องให้สาธารณสุขดูแลสุขภาพอนามัยทั้งแม่และเด็กในครรภ์ ควบคู่กับการให้ความรู้พ่อแม่ กระทั่งพอเด็กมาอยู่ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ต้องดูแลตัวเด็กแล้วต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่ด้วยเช่นกัน ตรงนี้ต้องให้ความรู้พ่อแม่ด้วยว่า การสร้างทักษะ EF สามารถทำได้อย่างไร จากที่บ้านและการเลี้ยงดู และเมื่อถึงวััยที่เด็กต้องเข้าเรียนระดับอนุบาล โรงเรียนจะสามารถส่งต่อและเชื่อมโยงการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้"
ครูหวาน ระบุว่า สิ่งที่สำคัญของเด็กปฐมวัยมากที่สุดคือ การที่มีพ่อแม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะแม่ที่ควรจะต้องเลี้ยงลูกด้วยตนเองมากที่สุดใน 3 ขวบปีแรกเพราะเป็นฐานของการเติบโตควรสอนเด็กเล็กๆให้สามารถดูแลตัวเองช่วงอนุบาล 4-6 ขวบต้องสอนให้ดูสิ่งของรอบตัว เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน ทิ้งขยะเองเป็น ต่อมาระดับประถมเขาต้องช่วยดูแลบ้านได้ เช่น การล้างจาน ซักผ้า และเริ่มขยายสู่สาธารณะได้ เช่น รู้จักเข้าคิว ไม่ทิ้งขยะบนถนน แยกขยะ ฯลฯ เป็นพื้นฐานพลเมืองดีของประเทศโลกควรสอนลูกให้ทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อเขาออกไปสู่สังคม เขาจะรู้ว่าควรจะปฏิบัติตามกติกาสาธารณะอย่างไร
- ครูมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะ EF
เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาได้สูงที่สุด โดยเฉพาะทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เรียกว่า Executive Function หรือ EF โดยมีอัตราการพัฒนาสูงกว่าทุกช่วงวัยในช่วง 3-6 ปี เพราะฉะนั้นสมองที่กำลังพัฒนาได้ดีก็เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปตลอดชีวิตมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยทักษะ 9 ด้านได้แก่ 1. Working memory ความจำเพื่อใช้งาน 2.Inhibitory Control การยั้งคิด ยับยั้งชั่งใจ 3. ShiftหรือCognitive Flexibilityการยืดหยุ่นความคิด 4.Focus / Attentionการใส่ใจจดจ่อมุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง
5.Emotional Controlการควบคุมอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 6.Planning and Organizingการวางแผนและการจัดระบบดำเนินการเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย 7.Self -Monitoringการรู้จักประเมินตนเอง 8.Initiatingการริเริ่มและลงมือทำงานตามที่คิด และ 9.Goal-Directed Persistenceความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย
ดังนั้น การพัฒนาเด็กปฐมวัยครูจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องพัฒนาการด้านตัวตน พัฒนาการ 4 ด้าน และพัฒนาการของทักษะสมอง EF และที่สำคัญวิธีการที่ครูสอน ต้องคอยรักษาพัฒนาการ 3 ด้านนี้ให้สมดุล เพราะ EF จะทำงาน เด็กต้องดึงประสบการณ์เดิมออกมาใช้ เพื่อประมวลผลกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนจะคิด ติดสินใจ แก้ไขปัญหา ดังนั้นการสร้างประสบการณ์ที่มีค่า ในช่วงปฐมวัย จะเป็นต้นทุนในการเผชิญกับสถานการณ์ในอนาคต
ครูหวาน กล่าวว่า ดังนั้นเวลาจัดการเรียนการสอน ครูควรจะอยู่บนพื้นฐาน “5 สิ่งมีอยู่จริง”ได้แก่ 1.ครูมีอยู่จริงครูต้องมีความมั่นคง ปลอดภัย ไว้ใจได้ เป็นที่ปรึกษาได้ตลอด 2.เด็กมีอยู่จริงทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีอยู่จริง ครูต้องปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้ครบทุกคน รับฟังเด็ก ให้เด็กได้คิด ได้ตัดสินใจเลือก 3.โอกาสและความสำเร็จต้องมีอยู่จริงซึ่งอยู่ในหลักสูตรปฐมวัย ครูต้องดึงหลักสูตรออกมาใช้ และยื่นโอกาสให้กับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จ 4.พ่อแม่ต้องมีอยู่จริงครูปฐมวัยต้องทำงานกับพ่อแม่ และ 5.เพื่อนร่วมงานของครูต้องมีอยู่จริงทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย
"อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับเด็กปฐมวัย เพราะต่อไปประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ หากสามารถทำให้พวกเขาเติบโตมาอย่างมีคุณภาพแล้ว ดังนั้นครูปฐมวัยต้องเป็นครูมีอยู่จริง ให้เด็กมีอยู่จริง จัดกิจกรรมที่หลักสูตรมี ครอบครัวพ่อแม่ก็มีอยู่จริง และเพื่อนร่วมงาน ต้องทำงานร่วมกัน และสุดท้ายผู้บริหารต้องมีอยู่จริง เราก็จะได้บุคลากรของชาติที่มีคุณภาพ”
ครูหวาน บอกว่า หลักการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย คือการรักษาความเป็นธรรมชาติของเด็กไว้และเปิดโอกาสให้จิตวิญญาณร่างกายอารมณ์สังคมและสติปัญญาพัฒนาไปพร้อมกันอย่างสมดุลและเหมาะสมตามวัย ต้องมีระบบที่ส่งเสริมให้ครอบครัวในการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับครูอาจารย์และกำหนดให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยมีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องแก่ผู้ปกครองเพื่อทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
"การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย คือการเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือทำ การกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อไปกระตุ้นสมอง เป็นช่วงวัยที่ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาสูงมาก ดังนั้นโรงเรียนควรยกเลิกการเร่งเรียน เขียน อ่าน เพราะเป็นภาวะที่กดดัน ไม่เฉพาะด้านจิตใจเท่านั้น สมองของเด็กเมื่ออยู่กับความเครียดระยะยาว สมองจะถูกทำลาย ควรสอนทักษะที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมอง และเตรียมความพร้อมผ่านการเล่นและทำกิจกรรม ไปจนถึงวัยรอยต่อประถมศึกษา 0-8 ปี จะช่วยให้เด็กมีทักษะ EF และเรียนรู้ได้ดีขึ้น"
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย 2562 เขียนไว้ชัดเจนว่าผู้จัดการศึกษาจะต้องดูแลเด็กในช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลกับประถมให้มีความราบรื่นเด็กอยู่อนุบาลมีครูประจำชั้น มีครูผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงดูแล ห้องเรียนจะเป็นห้องเรียนที่มีของเล่น มีมุมกิจกรรมอยู่ในห้อง ครูดูแลเด็กทุกอย่างทั้งชีวิต กิจวัตรประจำวัน ดูแลกันไปเสมือนแม่ดูแลลูก
พอไปเรียนต่อระดับประถมรูปแบบการเรียนการสอนควรปรับให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมก่อนจะไปนั่งเรียนเขียนอ่านนิ่งๆ อาจจะเป็นการทำโปรเจ็กต์ การเรียนแบบบูรณาการ เชื่อมโยงเนื้อหากับกิจกรรม ต่อยอดจากอนุบาลไปเพราะฉะนั้นทุกส่วนต้องสอดประสานกันตั้งแต่ บ้านเข้าสู่เนอร์สเซอรี่ สู่โรงเรียนอนุบาล จากอนุบาลเข้าสู่ประถมต้องร้อยเรียงกันให้ดี
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ต้องสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้กับพ่อแม่ ครู โรงเรียน ผู้บริหารและสังคม ตามมาตรา 8 เขียนไว้ว่า“…ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย”โรงเรียนจึงต้องมีวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้มีวิธีการที่เหมาะสม
หลักการที่สำคัญ คือ การคัดเลือกต้องไม่กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ต่อความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ไม่ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด ซึ่งรูปแบบคัดเลือกอาจจะมาจากข้อเสนอทั้งจับสลาก สัมภาษณ์ผู้ปกครอง หรือเอื้อประโยชน์ให้เด็กที่มีพี่น้องอยู่โรงเรียนเดียวกัน หรือบ้านใกล้โรงเรียน อาจพิจารณาพ่อแม่ที่ทำประโยชน์ด้วย หรือใช้หลายๆ เกณฑ์ร่วมกันทั้งสัมภาษณ์พ่อแม่คู่กับ portfolio ของเด็ก ที่สำคัญต้องยกเลิกการเร่งเรียนเขียนอ่านในชั้นป.1 และคนที่มีบทบาทที่จะหนุนช่วยให้ทำได้จริงคือพ่อแม่
สามารถเรียนออนไลน์พัฒนาการเด็กปฐมวันผ่านกิจวัตรประจำวันในชีวิตจริงยุค 4.0 กับครูหวาน บ่ายวันที่ 17 ตุลาคมฟรี ได้ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ลงทะเบียนล่วงหน้าคลิกที่นี่