"สวนนงนุช" เปิดให้ชมฟรี หนุนไทยเที่ยวไทยช่วยเศรษฐกิจ
"สวนนงนุช" หนุนการท่องเที่ยวให้คนไทยมาเที่ยวไทย จัดโปรแกรมให้แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ มาเที่ยวฟรี ระบุเดือนต.ค.นี้ เปิด 9 จังหวัด 10 เขตกทม.เที่ยวฟรีตลอดเดือน
นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช เปิดเผยว่าสำหรับเดือนต.ค. 2563 สวนนงนุช ได้เปิดให้ประชาชน 9 จังหวัดได้แก่ ชาวจังหวัดข่อนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู และกรุงเทพมหานครอีก 10 เขต คือ มีนบุรี คันนายาว คลองสามวา หนองจอก ลาดกระบัง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ภาษีเจริญบางแค และหนองแขม เข้าชมสวนนงนุชฟรี พร้อมกันนี้ได้ทำการเปิดตัว 6 ไดโนเสาร์ สายพันธุ์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ประกอบด้วย ไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ไดโนเสาร์ซอร์โรเพกาแน๊กซ์ ไดโนเสาร์อโครคานโทซอรัสไดโนเสาร์จิกาโนโทซอรัส ไดโนเสาร์คาร์คาโรดอนโทซอรัส และไดโนเสาร์สไปโนซอรัส ซึ่งทุกตัวมีขนาดอยู่ที่ 12-18 เมตร ปัจจุบันนี้สวนนงนุชมีไดโนเสาร์มากถึง 229 สายพันธุ์ 811 ตัว ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในโลก เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว
สวนนงนุชพัทยา เนื้อที่กว่า 1,700 ไร่ มีพันธุ์ไม้กว่า 19,000 ชนิด และมี 5 พันธุ์ที่มีมากที่สุดในโลก ต้นปรง ต้นปาล์มต้นโฮยา ต้นเฮลิโคเนียและเฟื้องฟ้า ตลอดจนพันธุ์ไม้นานาพรรณทั่วโลก แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ค่ายลูกเสือ เนตรนารีและที่สวนนงนุช 2 มี ค่ายมวย นวดแผนไทย ปั้นกระถาง เรียนสอนทำอาหาร บุปเฟ่ต์ผลไม้ ห้องประชุมสัมมนา 2,000 ที่นั่ง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้ ลานอารีน่าทานอาหารได้ 2,000 คน อีกทั้งยังมีโครงการเศรษฐกิจวิถีพอเพียงเกษตรอินทรีย์ เช่น ผลิตสบู่ ถ่านอัดแท่ง ปลูกผักออแกนิคอย่างครบวงจร รวมถึงยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเช่น ที่พัก สระว่ายน้ำ ห้องอาหาร สถานที่จัดเลี้ยงและห้องจัดสัมมนาสำหรับบริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวสวนนงนุช
ในช่วงโควิดธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างหนัก สวนนงนุชก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันโดยทำการปิดสวนนงนุชชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เนื่องจากนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 90% และได้ปรับลดเงินเดือนลงประมาณ20%แต่ไม่ได้ปรับลดพนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,600 คน
ที่ผ่านมาสวนนงนุชลงทุนขนาดใหญ่ไปหลายพันล้านบาท เช่น ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา จุคนได้กว่า10,000 คน รองรับงานเลี้ยงได้กว่า 5,000 คน และมีห้องประชุมหลายขนาดที่เหมาะสมต่อความต้องการของลูกค้าช่วยรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ธุรกิจไมซ์ หรือการจัดประชุม นิทรรศการขนาดใหญ่ขยายเข้ามาจัดงานในอีอีซีเพิ่มขึ้นซึ่งธุรกิจไมซ์เป็นเรื่องสำคัญของเมืองขนาดใหญ่ โดยจะเน้นลงทุนปรับปรุงความสวยงานและคุณภาพการท่องเที่ยวให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก และแข่งขันกันแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของต่างชาติได้
ทั้งนี้ โครงการ อีอีซี ของรัฐบาล ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกอย่างมากในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในด้านการพัฒนาท่องเที่ยวที่จะนำมาตรการใหม่ๆเข้ามาใช้ จากนั้นก็จะกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยยกระดับรายได้ให้กับชุมชนและประชาชนรากหญ้าเป็นจำนวนมาก