From Waste to Wear แปลงขยะสู่แฟชั่นรักษ์โลก
เทรนด์รักษ์โลก ขยายวงกว้างไปในทุกๆ วงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่น จะเห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมา สินค้าแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหม่ หรือแบรนด์ดัง ให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนำวัสดุเหลือใช้มาผลิต ดีไซน์ หรือนำเสื้อผ้าเก่ามาผลิตใหม่
แบรนด์สุดหรูจากอิตาลีอย่าง “PRADA” หลังจากที่ได้ทำการประกาศยกเลิกการใช้ขนเฟอร์แท้อย่างเป็นทางการ ก็ได้เปิดตัว “Re-Nylon” คอลเลคชันใหม่ ที่ผลิตจากผ้าไนลอน จากพลาสติกท้องทะเล ตาข่ายจับปลา พร้อมตั้งเป้ายกเลิกการใช้ไนลอนบริสุทธิ์ หันมาใช้วัสดุจากพลาสติกรีไซเคิลแทนในการผลิตสินค้าไลน์อื่นๆ ภายในปี 2564
ที่มา : Instagram - Prada
“ZERO WASTE DANIEL” แบรนด์รักษ์โลกแห่งมหานครนิวยอร์ก โดย แดเนียล ซิลเวอร์สไตน์ ซึ่งสินค้าทั้งหมดผลิต ด้วยแนวคิด Zero Waste 100% ทุกกระบวนการโดยไม่ให้เหลือเศษผ้าทิ้ง ใช้ทรัพยากรทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวัสดุ คน พลังงาน เวลา ฯลฯ อย่างคุ้มค่า และไม่ให้เหลือขยะฝังกลบ ด้าน “H&M” แบรนด์เสื้อผ้าจากสวีเดนส่งคอลเลคชั่น “Conscious” ในปี 2558 ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยออร์แกนิค รวมถึงกิจกรรม H&M World Recycle Week ให้ลูกค้านำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วมาบริจาคเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเสื้อผ้าใหม่
ที่มา : เว็บไซต์ ZERO WASTE DANIEL
สำหรับแบรนด์ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้อย่างกระเป๋า “Freitag” ผลงานจากผ้าใบคลุมรถบรรทุกของ 2 พี่น้อง Markus and Daniel Freitag โดยใบแรกเกิดขึ้นในปี 2536 จนกระทั่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กระเป๋าแบรนด์สัญชาติไทยอย่าง “Rubber Killer” ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ฝีมือโดย สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ บุตรชายของศิลปินแห่งชาติ รงษ์ วงษ์สวรรค์ โดยใช้วัสดุอย่าง “ยางในรถยนต์” ที่ได้ทั้งความคงทน และลวดลายไม่ซ้ำใคร
ที่มา : เว็บไซต์ Freitag
การรีไซเคิลไม่เพียงแค่แฟชั่นเสื้อผ้า กระเป๋า เท่านั้น เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา แบรนด์รองเท้าของไทยอย่าง “นันยาง” (Nanyang) เปิดตัวรองเท้า KHYA (ขยะ) ช้างดาวรุ่นพิเศษ Limited Edition สีสันสดใส ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ กลุ่มอาสาสมัคร ‘Trash Hero’ ซึ่งรวมตัวกันเก็บขยะทะเล ช่วยแยกขยะประเภทรองเท้าจำนวนมาก ส่งต่อไปยัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ทำการชั่วคราวของกลุ่ม “ทะเลจร” ก่อตั้งโดย ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย เพื่อเตรียมวัตถุดิบขั้นแรก จากนั้นจึงส่งต่อมาที่ บริษัทนันยาง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิต
มุมมองในฐานะดีไซเนอร์อย่าง “ปรีดากร เมธเกรียงชัย” ดีไซเนอร์ RAMS (The Personal Style Creatives) อธิบายว่า ความนิยมของกระแสรักษ์โลก เป็นเทรนด์ของแบรนด์เนมทั่วโลก แต่ละแบรนด์พยายามหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น PRADA ออกกระเป๋าคอลเลกชั่นพิเศษผลิตจากผ้าไนลอน สามารถใช้งานได้ทนทานและทำมาจากวัสดุจากวัสดุเหลือใช้ นำมาทอเป็นเส้นใยเพื่อทำกระเป๋า และเชื่อว่าปัจจุบัน ในทุกธุรกิจ หันมามอง ให้ความใส่ใจเรื่องของ Sustainable มากขึ้น รวมถึงคนทั่วไปที่หันมาใช้แก้วน้ำส่วนตัว แยกขยะ เกิดการรณรงค์ด้านการรีไซเคิล เป็นถือช่วงเวลาที่ทุกคนหันมาใส่ใจโลก
“สำหรับวงการแฟชั่นในประเทศไทย เริ่มหันมาให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า Material ของวัสดุรีไซเคิลมีต้นทุนสูงกว่า Material ธรรมดาทั่วไป ดังนั้น ต้องให้เวลากับการพัฒนาโปรดักส์สักระยะหนึ่ง ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เชื่อว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะช่วยเราให้มีวัตถุดิบที่ดี และราคาถูกลง” ปรีดากร กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงต้นปีที่ผ่านมา ได้นำขวดพลาสติก PET ใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลไปแล้วกว่า 50,000 ล้านขวด หรือคิดเป็นน้ำหนักมากถึง 750,000 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก เส้นด้าย และเส้นใย PET รีไซเคิล ที่สามารถนำไปใช้งานได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมแฟชั่น ล่าสุด กับการเดินหน้าโครงการ “RECO Young Designer Competition 2020” ปีที่ 9 เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ 17-35 ปี ประกวดออกแบบแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน คอนเซ็ปต์ ‘REVIVE: Start from Street’ เสื้อผ้ารักษ์โลกสวมใส่ได้ง่าย ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 60%
“อาราธนา โลเฮีย ชาร์มา” รองประธาน ในฐานะประธานโครงการ RECO Young Competition Designer กล่าวว่า เมื่อเราเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อวัสดุเหล่านี้ ไอเดียใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น สร้างสรรค์เป็นผลงานแฟชั่นที่สวมใส่ได้ทั้งในโอกาสพิเศษและชีวิตประจำวัน กระแสตอบรับของโครงการในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการรวมแล้วกว่า 3,000 ชิ้น จากดีไซเนอร์กว่า 2,000 คน
- ยูนิฟอร์มดิจิทัลรักษ์โลก
กระแสรักษ์โลก ซึ่งครอบคลุมไปทั่วทุกวงการขณะนี้“กลุ่มทรู”แม้จะเป็นธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ก็หันมาให้ความสนใจในการนำเอาแฟชั่นผนวกกับความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนชุดพนักงานธรรมดาสู่ “ยูนิฟอร์มดิจิทัลรักษ์โลก” ที่สะท้อนความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมผ่านชุดพนักงานที่ให้บริการลูกค้า 300 สาขา กว่า 4,000 คนทั่วประเทศ ด้วยแนวคิด “From Waste to Wear” เสื้ออีโคแฟชั่นจากเส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ผลิตจากส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิล (PET) และเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ
“โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่ากลุ่มทรู ที่ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน เป็นเทคคอมปานีที่ให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมนำเทคโนโลยีที่อัจฉริยะร่วมเปลี่ยนสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนสร้างนวัตกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด ได้ปรับโฉมชุดยูนิฟอร์มของพนักงานทรูช็อปให้เป็น “ยูนิฟอร์มดิจิทัลรักษ์โลก” ภายใต้แนวคิด “From Waste to Wear” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100 % เปลี่ยนขยะที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นชุดที่สวมใส่สบายแบบอีโคแฟชั่น
“ยูนิฟอร์มดิจิทัลรักษ์โลก สะท้อนเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ไม่เพียงมุ่งพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่ยังใส่ใจสังคม และสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3”