5 แอพฯ เตือนภัย 'น้ำท่วม' เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำให้ทันก่อนใคร
จากสถานการณ์ "น้ำท่วม" ที่เกิดในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 นี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันภัยให้ทันท่วงที ชวนคนไทยติดตามสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ด้วย "แอพฯ เตือนภัยน้ำท่วม"
สถานการณ์ "น้ำท่วม" ช่วงนี้คาดเดาไม่ได้ ต้องเฝ้าระวังทุกชั่วโมงเพราะอาจเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่อีกระลอก เนื่องจากมีพายุเข้าไทยหลายลูก ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดมวลน้ำมหาศาลไหลเข้าเขื่อนหลายแห่งจนเกินความจุของเขื่อน รวมถึงอ่างเก็บน้ำบางแห่งก็ถูกกระแสน้ำซัดจนอ่างแตก เป็นเหตุให้มวลน้ำทะลักท่วมบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่เขาใหญ่ ปักธงชัย ปากช่อง อุบลฯ สระแก้ว จันทบุรี เป็นต้น
เพื่อเป็นการเตรียมตัวป้องกันอุทกภัย ก่อนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง ประชาชนควรติดตามและเฝ้าระวัง "สถานการณ์น้ำ" อย่างใกล้ชิด โดยหนึ่งในวิธีติดตามข้อมูลน้ำง่ายๆ ก็คือการติดตั้งแอพพลิเคชั่นเตือนภัย "น้ำท่วม" ในมือถือ ก็สามารถช่วยให้คุณเข้าถึง "ข้อมูลน้ำ" และการเตือนสาธารณภัยต่างๆ ได้รวดเร็วและทันท่วงที
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมแอพฯ เตือนภัย "น้ำท่วม" ที่ควรมีไว้ในมือถือมาให้รู้จักกัน ดังนี้
1. DPM REPORTER เตือนสาธารณภัยทุกรูปแบบ
แอพพลิเคชัน DPM REPORTER ถูกจัดทำและพัฒนาโดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบการแจ้งเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น อันจะนำไปสู่การมีศักยภาพในการรู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งแอพฯ นี้จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ภัยไปยังประชาชนผ่านระบบ Smart Phone ในลักษณะ Private และ Public Channels มีการพัฒนาให้แอพฯ สามารถรับส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ใช้งานกับแอดมินรวดเร็ว ทันเวลามากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ฝนจะตกไหม? 5 แอพฯ 'พยากรณ์อากาศ' แม่นๆ ที่ต้องมีติดมือถือ
- กอปภ.ก. รายงาน 31 จังหวัดประสบภัยน้ำท่วม พบ ปชช.เสียชีวิต 3 ราย
- อัพเดทสถานการณ์น้ำ-เขื่อน รับมือพายุฝน วันที่ 21 ต.ค.63
- สรุปชัด! ผ่าเกณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เมื่อเกิด ‘ภัยพิบัติ’ กรณีฉุกเฉิน
“DPM REPORTER” มีฟังก์ชันต่างๆ คือ
- ฟังก์ชันข่าวสาธารณภัย : รายงานสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ในรูปแบบภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ และรายละเอียดของภัยต่างๆ
- ฟังก์ชันแจ้งเตือนสาธารณภัย : รวบรวมข่าวแจ้งเตือนภัยทุกประเภท และข้อมูลสรุปสาธารณภัยประจำวัน
- ฟังก์ชันรายงานข่าว : โดยเปิดให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมเป็นผู้รายงานสถานการณ์ภัยด้วยตนเอง
- ฟังก์ชันแผนที่ข่าว : แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าทั่วประเทศ
- ฟังก์ชันสถิติสาธารณภัย : รวบรวมการเกิดสาธารณภัยครอบคลุมตั้งแต่รายปี รายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน
2. NDWC เตือนภัยน้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว
แอพพลิเคชั่น NDWC จัดทำและพัฒนาโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยพิบัติทุกรูปแบบ เช่น น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว ฯลฯ
โดยมีการรวบรวมข้อมูลภัยพิบัติจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นช่องทางในการรายงานสถานการณ์สดในทุกพื้นที่ โดยใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีในการแจ้งเตือน
แต่ทั้งนี้ ผู้ที่จะส่งภาพหรือข้อมูลเพื่อเตือนภัยเข้าสู่แอพพลิเคชั่นเตือนภัยพิบัตินั้น จะต้องลงทะเบียน และผ่านการตรวจสอบจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อป้องกันข้อมูลไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน ก่อนจะส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังหอกระจายข่าว เว็บไซต์ เครือข่ายภาคประชาชน และสมาร์ทโฟน เพื่อให้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์
3. SWOC WL ตรวจวัดระดับน้ำ เฝ้าระวังภัยน้ำ
แอพพลิเคชั่น SWOC WL จัดทำและพัฒนาโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเอง ด้วยการสแกน AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำในบริเวณที่สนใจ แอพฯ นี้ใช้การประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตาม พยากรณ์สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ การเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วม เป็นต้น
ระบบจะประมวลผลและส่งผลการประเมินพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน แนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำ กลับไปให้ผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้ โดยกรมชลประทานจัดทำจุดบริการ SWOC WL ทั้งสิ้นประมาณ 150-300 จุด และในอนาคตจะขยายจุดตรวจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง 935 จุด
ประชาชนทั่วประเทศสามารถตรวจวัดระดับน้ำ ณ จุดต่างๆ ของลำน้ำที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของลำน้ำนั้นๆ จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพิ่มเติมด้วย ระหว่างนี้มีการพัฒนาแอพฯ ให้มีฟีเจอร์ในการประมวลผล และรายงานแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่ตรวจวัดให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทราบ รวมถึงสามารถติดตามสถานการณ์น้ำของลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย ซึ่งระบบ SWOC WL คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2564
4. ThaiWater เช็คสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ
แอพพลิเคชั่น ThaiWater จัดทำและพัฒนาโดยคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศของประเทศไทย โดยต่อยอดมาจากโครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย ในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลเรื่องน้ำและอากาศได้ง่ายขึ้น ผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต
สำหรับฟีเจอร์ต่างๆ ที่น่าสนใจของแอพฯ นี้ ได้แก่ ข้อมูลสรุปภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและอากาศ ทั้งสถานการณ์พายุ ปริมาณฝนตก 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำในลุ่มน้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อน และคาดการณ์ฝนและคลื่นในอ่าวไทยล่วงหน้า 3 วัน
ฟีเจอร์เมนู “ฝน” : แสดงข้อมูลปริมาณน้ำฝนว่าแต่ละพื้นที่ของประเทศมีปริมาณฝนตกมากน้อยเพียงใด สามารถดูภาพรวมฝนตกทั่วประเทศในรูปแผนที่ได้
ฟีเจอร์เมนู “ระดับน้ำ” : แสดงข้อมูลของระดับน้ำที่สถานีวัดต่างๆ เมื่อกดเข้าไปดูข้อมูลของสถานีนั้น จะมีกราฟแสดงปริมาณน้ำย้อนหลัง 3 วัน และ 24 ชั่วโมง โดยกราฟจะแสดงข้อมูลระดับท้องน้ำและระดับตลิ่ง
ฟีเจอร์เมนู “เขื่อน” : แสดงข้อมูลเขื่อนต่างๆ ทั่วไทย ใช้ดูข้อมูลความจุอ่าง น้ำกักเก็บ น้ำไหลลง น้ำระบาย ของแต่ละเขื่อนได้
5. Water4Thai แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำรายวัน
แอพพลิเคชั่น Water4Thai จัดทำและพัฒนาโดยสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) โดยข้อมูลภายในแอพพลิเคชั่นจะนำข้อมูลมาจาก สบอช. ทั้งหมด ซึ่งจะมีข้อมูลเรียลไทม์เรื่องของรายงานการเกิดฝนฟ้าคะนองในแต่ละจังหวัด รวมไปถึงสถานการณ์น้ำรายวัน สภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในลำน้ำทั่วประเทศ ระดับน้ำในคลองของกทม.
อีกทั้งยังมีกล้อง CCTV คอยรายงานสภาพลุ่มน้ำสายต่างๆ รายงานปริมาณอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งว่ามีปริมาณน้ำกักเก็บไว้เท่าไหร่ และยังบอกเวลาน้ำทะเลหนุน ได้อีกด้วย
--------------------
อ้างอิง :