น้ำต้นทุนลด 11% ห่วงรับมือ 'แล้ง' ปี 64

น้ำต้นทุนลด 11% ห่วงรับมือ 'แล้ง' ปี 64

แม้ขณะนี้หลายจังหวัดของไทยกำลังประสบปัญหา "น้ำท่วม" แต่ในทางกลับกันสถานการณ์ปริมาณน้ำกักเก็บไว้ช่วงฤดูแล้ง ปี 63/64 กลับอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก "น้ำเขื่อน" ขนาดกลาง-ใหญ่ ลดลงจากปีก่อน 11% จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของประเทศอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ ก่อนที่จะสรุปปริมาณน้ำเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการช่วงฤดูแล้ง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงสุดท้ายที่น้ำจะเข้าเขื่อน และมีแนวโน้มที่จะต้องบริหารจัดการน้ำเข้มงวดขึ้น เพราะมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าปี 2563 

"ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล" รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้จะมีฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักใน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงปริมาณน้ำในภาพรวมเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/2564 ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้-30 เม.ย.2564 นั้น พบว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก 

ขณะที่โอกาสลุ้นให้ฝนตกเพื่อให้น้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางในเขตภาคเหนือ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังย่างเข้าฤดูหนาว และทิศตะวันตกปีนี้มีฝนน้อย ส่วนเส้นทางของฝนกำลังเบี่ยงลงทิศใต้

ภาพรวมปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ในวันที่ 20 ต.ค.2563 อยู่ที่ 21,474 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าปี 2562 ถึง 5,611 ล้าน ลบ.ม.หรือ 11% ในขณะที่ยังมีขีดความสามารถจะรับน้ำได้อีก 30,693 ล้าน ลบ.ม. หรืออีก 40% หรืออยู่ในระดับที่กรมชลประทานตั้งสมมติฐานไว้ตั้งแต่ต้นฤดูฝนว่าในกรณีฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในฤดูแล้งนี้ไทยจะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวมที่ 18,138 ล้าน ลบ.ม. หรือปริมาณ 38% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ดังกล่าว “คณะกรรมการบริหารแต่ละลุ่มน้ำ” จะกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำตามความจำเป็น ยกเว้น 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งกรมชลประทานต้องบริหารจัดการเอง เนื่องจากจำเป็นต้องนำมาใช้ในเขตลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง แต่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดทั้งการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และภาคการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรัง และการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจะใช้เขื่อนชัยนาทเป็นเครื่องมือในการทดน้ำ

ข้อมูลเบื้องต้นในวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักดังกล่าวมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวม 5,505 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าแผนที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวม 6,200 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น กรมชลประทานต้องบริหารจัดการในฤดูแล้งนี้อย่างเข้มงวด และคาดว่าปริมาณน้ำนี้จะไม่เพียงพอสำหรับภาคการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรังในบางพื้นที่สำคัญในปี 2564 คนไทยทุกคนต้องร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดอีกครั้ง

“ตอนนี้ต้องลุ้นกันว่าสิ้นสุดอิทธิพลของร่องมรสุม พายุจรต่างๆ เหล่านี้จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำแต่ละลุ่มน้ำอีกครั้ง แต่ 4 เขื่อนหลักนั้นจะต้องนำมาใช้ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ดังนั้น น้ำที่มีอยู่จึงต้องให้ความสำคัญกับการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก”

160325676627

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง กรมชลประทานคาดว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศรวม 23,965 ล้าน ลบ.ม. การนำมาใช้แยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

1.จัดสรรตลอดฤดูแล้ง (30 พ.ย.2563-30 เม.ย.2564) รวม 15,740 ล้าน ลบ.ม.หรือ 66% ของน้ำต้นทุน 

สำหรับน้ำเพื่อการจัดสรรตลอดฤดูแล้งนั้น จะแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2,591 ล้าน ลบ.ม.หรือ 16% เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,618 ล้าน ลบ.ม.หรือ 48% เพื่ออุตสาหกรรม 388 ล้าน ลบ.ม.หรือ 3% และการเกษตร 5,143 ล้าน ลบ.ม.หรือ 33%

2.สำรองไว้ใช้เป็นน้ำต้นฤดูฝน 2564 (พ.ค.-ก.ค.2564) 8,225 ล้าน ลบ.ม.หรือ 34% ของน้ำต้นทุน โดยกันเอาไว้เพื่อใช้ในช่วงต้นฤดูฝนนั้นจะนำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 4,909 ล้าน ลบ.ม. และกรณีฝนทั้งช่วง 3,316 ล้าน ลบ.ม.หรือ 40%

สำหรับพื้นที่ “ลุ่มเจ้าพระยา” ที่ต้องบริหารจัดการน้ำจาก 4 เขื่อนหลักนั้นกำหนดให้มีการใช้น้ำได้ 5,943 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน คือใช้เพื่อการจัดสรรตลอดฤดูแล้ง 4,000 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของน้ำต้นทุน และสำรองไว้ต้นฤดูฝน 1,443 ล้าน ลบ.ม.หรือ 41% ของน้ำต้นทุน

อีกลุ่มน้ำที่สำคัญคือ "ลุ่มน้ำแม่กลอง" กำหนดแผนการจัดสรรน้ำช่วงแล้งไว้ 4,500 ล้าน ลบ.ม.หรือ 69% แยกเป็นน้ำเพื่อการจัดสรร 3,000 ล้าน ลบ.ม.ในจำนวนนี้ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 460 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 1,590 ล้าน ลบ.ม. ปลูกพืชต่อเนื่อง 950 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ต้นฤดูฝน 1,500 ล้าน ลบ.ม.หรือ 33% ซึ่งใช้เพื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด

เมื่อพิจารณาแผนการใช้น้ำในภาพรวมทั้งหมดแล้วจะเห็นว่าปี 2564 จะใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกได้เพียง 5.8 ล้านไร่เท่านั้น แบ่งเป็นเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าว 1.12 ล้านไร่ พืชไร่ 3.41 แสนไร่ พืชผัก 1.99 แสนไร่ พืชอื่นๆ 4.1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้จะไม่สามารถสนับสนุนให้ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มแม่กลองได้เลย