เพราะอะไร? คนทั่วโลกเสี่ยง 'แพ้อาหาร' เพิ่มมากขึ้น

เพราะอะไร? คนทั่วโลกเสี่ยง 'แพ้อาหาร' เพิ่มมากขึ้น

อัตราการ "แพ้อาหาร" (Food Allergy) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปี 2503 ที่มีเพียง 3% ขยายตัวเป็น 7% ในปี 2561 เพราะอะไรเด็กยุคใหม่ถึงมี "อาการแพ้" เพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต แล้วเราจะป้องกันเรื่องนี้ได้อย่างไร?

'อโรคยา ปรมาลาภา' เชื่อว่าทุกคนคงเห็นตรงกันว่า 'ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ' ในชีวิตของมนุษย์จริงๆ ดังนั้นการดูแล "สุขภาพ" จึงเป็นเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแส แต่ถึงอย่างนั้นคนส่วนใหญ่มักจะมีความกังวลในโรคยอดฮิต ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ที่มีอัตรการเสียชีวิตสูง แต่ใครจะคิดว่าโรคใกล้ตัวอย่างการ "แพ้อาหาร" ก็คร่าชีวิตผู้คนไปเยอะไม่แพ้กัน

โรคใกล้ตัวที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือ โรคแพ้อาหารที่มีความสูงถึงขั้นเสียชีวิต กำลังมีอัตราเพิ่มขึ้นกับคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลการเข้ารักษาในโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้คนมารักษาโรคแพ้อาหารเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2536 ถึง 2549 เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่มีผู้คนเป็นโรคแพ้อาหารเพิ่มขึ้น 72% จาก 1,015 คนเป็น 1,746 คน

โดยสรุปก็คือ อัตราการแพ้อาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปี 2503 ที่มีเพียง 3% ขยายตัวเป็น 7% ในปี 2561

“การแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้น กำลังกลายเป็นภาวะที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกต้องให้ความสนใจ เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โรคแพ้อาหารอาจกลายเป็นวิกฤติ” Graham Rook ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าว

160389471074

  • โรคแพ้อาหาร มีอาการเป็นอย่างไร

ในผู้ที่ แพ้อาหาร จะแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นผื่นตามตัว ท้องเสีย หายใจลำบาก ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล  โดยหลักๆ ปฏิกิริยาอาการแพ้อาหาร (Food Allergy) แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1. ชนิดไม่เฉียบพลัน (Non – IgE – Mediated Food Allergy) เป็นกลุ่มที่มีอาการแบบล่าช้า ค่อยๆ ปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน หลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เช่น ผื่นเรื้อรัง โดยจะมีผื่นแดง คัน แห้ง ในเด็กมักจะเป็นบริเวณที่แก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อได้รับอาหารที่แพ้อาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และถ่ายเหลวรุนแรง

2. ชนิดเฉียบพลัน (IgE – Mediated Food Allergy) มีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน โดยอาการจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้

3. ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย

160389475165

  • แพ้ (อาหาร) ไม่จริง

หลายครั้งที่เรามักสับสนระหว่าง อาการแพ้อาหาร (food allergies) กับ การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ (food intolerance) ซึ่งการรับอาหารบางชนิดไม่ได้นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานใดๆ แต่เกิดจากความบกพร่องของสารบางชนิดในร่างกาย ตัวอย่างของการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ที่มักจะพบบ่อย เช่น

ภาวะพร่องน้ำย่อยน้ำตาลนม ผู้ที่มีภาวะนี้เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไป จะรู้สึกท้องอืด ปวดท้อง และอาจจะท้องเสีย การเลือกนมประเภท lactose-free ที่สกัดน้ำตาลนมออกไปก็ช่วยได้ หรือบางคนอาจมีปฏิกิริยาต่อสารปรุงแต่งรส อย่างเช่นการกินผงชูรสเข้าไป แล้วมีอาการร้อนซู่ซ่า ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อ่อนแรงหรือหงุดหงิดได้ ก็เป็นอาการรับอาหารบางชนิดไม่ได้เช่นกัน

อีกกรณีที่หลายคน 'เข้าใจผิด' ว่าอาการแน่นหน้าอก แสบร้อนที่ปาก จากการกินอาหารทะเล คือ การแพ้อาหาร แต่ที่จริงแล้วอาจจะเป็นปฏิกิริยาต่อสารฟอร์มาลีนที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลจากการขนส่งเพื่อยืดอายุความสด การเลือกรับประทานอาหารทะเลจากประมงยั่งยืนที่ปลอดภัยจากสารอันตราย

อีกหนึ่งอาการที่มีความใกล้เคียงการแพ้อาหาร คือ อาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งอาการนี้เมื่อกินอาหารเข้าไปจะทำให้เราปวดท้องและอุจจาระร่วง ไปจนถึงระคายเคืองปอด และอาจจะเกิดการหดตัวของหลอดลมจนหอบได้ด้วย

  • ของกินที่ผู้คนมักเกิดอาการ "แพ้อาหาร" มากที่สุด

ร่างกายของแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองและแพ้ต่อสารอาหารที่ต่างกันไป แต่อาหาร 5 ประเภทนี้คืออาหารที่คนแพ้กันมากที่สุด

1. นมวัว

นมวัวคืออาหารที่พบว่าเกิดอาหารแพ้มากโดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก โปรตีนในนมวัวที่ทำให้เกิดการแพ้ได้มี 2 ชนิดหลัก คือ โปรตีนเคซีนที่พบได้จากนมในส่วนที่เป็นไขนมข้นแข็งและโปรตีนเวย์ซึ่งพบในส่วนที่เป็นของเหลวหลังจากนมจับตัวเป็นไขแล้ว อาหารการแพ้นมวัวนั้นส่วนใหญ่ที่หายได้เมื่ออายุถึงประมาณ 6 ขวบ ส่วนคนที่แพ้นมวัวตลอดชีวิตนั้นมีเพียง 1% จากผู้แพ้ทั้งหมดเท่านั้น

2. ไข่

ไม่น่าเชื่อว่าอาหารยอดนิยมอย่าง "ไข่" จะมีผู้แพ้อยู่ไม่น้อย ไข่เป็นอีกหนึ่งอาหารที่มักพบการแพ้มากในเด็กและทารก อาการแพ้ไข่มักเกิดจากการแพ้โปรตีนในไข่ขาว แต่สามารถหายได้เมื่อโตขึ้นคล้ายๆ กับอาการแพ้นม ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การหายแพ้อยู่ที่ 68% เมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป

3. ถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กอายุไม่เกิน 3 ปี มักเกิดจากการแพ้โปรตีนที่เมล็ดถั่วเหลืองเก็บสะสมไว้เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของเมล็ดถั่วเอง และอาจเกิดจากการกินนมถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษของแม่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมลูกได้อีกด้วย

4. แป้งสาลีและกลูเตน

ช่วงนี้เรามักจะได้ยินสินค้าประเภท 'กลูเตนฟรี' อยู่บ่อยๆ ซึ่งความมาแรงของสินค้าประเภทนี้มีความสัมพันธ์กับการแพ้แป้งสาลีที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการแพ้แป้งสาลีนั้นมักมีผลมาจากการแพ้ โปรตีนกลูเตน ที่อยู่ในแป้ง ซึ่งอาการแพ้กลูเตนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ในแต่ละวัยก็เกิดอาการค่อนข้างแตกต่างกัน

5. อาหารทะเลเปลือกแข็ง

การแพ้อาหารทะเลคือการแพ้ที่พบได้มากในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นการแพ้อาหารทะเลเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย ซึ่งโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง คือ โปรตีนโทรโปไมโอซิน อาการแพ้อาหารทะเลมักจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาตั้งแต่หลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารเข้าไป แต่ยังสามารถเกิดขึ้นจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้สะสมตั้งแต่เด็ก บางคนจึงเพิ่งพบว่ามีอาการแพ้เมื่อโตขึ้น แม้ว่าแต่ก่อนจะเคยรับประทานได้ปกติด้วย

160389478039

  • เพราะอะไรการแพ้อาหารจึงเพิ่มสูงขึ้น

Kari Nadeau ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า คนจำนวนมากถึง 1 ใน 3 คิดว่าตัวเองแพ้อาหาร แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ไปตรวจหรือรักษาทางการแพทย์อย่างจริงจัง จึงทำให้สถิติการแพ้อาหารจากการสอบถามนั้นเชื่อถือไม่ค่อยได้ ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็ไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้อาหารของคนในประเทศ

ขณะเดียวกัน Peter Ben Embarek จากองค์การอนามัยโลกก็กล่าวด้วยเช่นกันว่า “อาหารที่มนุษย์แพ้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนมีเพียงแค่ อาหารทะเล นม และถั่วเท่านั้น”

คำถามว่าเพราะอะไรคนถึงแพ้อาหารเพิ่มขึ้น? ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้มีความเห็นว่า อาจเพราะเกิดจากสมมติฐานด้านสุขอนามัย ที่แปลว่ายิ่งเราทำความสะอาดมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งมีโอกาสแพ้มากขึ้นเท่านั้น

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายทฤษฎีที่พูดถึงการแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้น เช่น การมีพี่น้องหลายคนสามารถลดอัตราการความเสี่ยงการแพ้อาหาร หรือแม้แต่ทารกที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอดจะมีอัตราการการแพ้อาหารเพิ่มขึ้นเพราะทารกไม่ได้กินแบคทีเรียในช่องคลอด

ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะมีสันนิษฐานทฤษฎีแตกต่างกันอย่างไร แต่ทุกคนก็ลงความเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของปรากฏการณ์ "แพ้อาหาร" ทั่วโลก แสดงถึงความล้มเหลวของกลไกการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันทั่วโลกเช่นกัน

  • วิธีทดสอบการแพ้อาหาร

หากคุณไม่แน่ใจว่าแพ้อาหารชนิดนั้นจริงๆ หรือไม่ เราแนะนำให้ไปทดสอบการแพ้อาหารที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีการทดสอบชนิดนี้อยู่แล้วในโรงพยาบาลทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้นอุปสรรคของการทดสอบการแพ้อาหาร คือค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมบางประเทศไม่มีฐานข้อมูลประชากรแพ้อาหารชัดเจน เพราะราคาแพง ผู้คนจึงนิยมไม่ไปตรวจ

160389480762

วิธีทดสอบอาการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge) เบื้องต้น ได้แก่

  1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Tests) ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ และงดรับประทานยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 15 – 20 นาที (ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงจะสามารถทดสอบได้หลังจากมีอาการ 1 เดือน)
  2. การตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 3 – 5 วันทำการ โดยมีทั้งผลเป็นบวกและลบ

ผลเป็นบวก แพทย์อาจให้งดหรืออาจให้ทำทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge) ตามความเหมาะสม (ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้อยู่ก่อนแล้วและต้องการรู้ว่าหายแพ้แล้วหรือไม่) และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ผลเป็นลบ อาจพิจารณาทำการทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge)

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาการแพ้อาหารใดที่ยืนยันว่าจะทำให้โรคหายขาดได้ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้แพ้อาหารควรทำนั้นคือการเรียนรู้กับอาการแพ้ของตนเอง ให้แพทย์วินิจฉัยว่าเราแพ้อาหารชนิดใดแล้วพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารชนิดนั้น รวมไปถึงการอ่านรายละเอียดส่วนผสมที่ฉลากอาหารก่อนซื้ออย่างถี่ถ้วน ให้ยึดคติว่ากันไว้ดีกว่าแก้แน่นอน!

-------------------

อ้างอิง : bbc.comncbi.nlm.nih.govthaihealth.or.thbangkokhospital.comsiphhospital.com