โรค 'RSV' คืออะไร มีอาการแบบไหน ป้องกันได้ยังไงบ้าง?

โรค 'RSV' คืออะไร มีอาการแบบไหน ป้องกันได้ยังไงบ้าง?

ทำความรู้จักโรค "RSV" (อาร์เอสวี) ไวรัสตัวร้ายมีมาพร้อมอากาศหนาว ที่มักจะติดต่อกันอย่างรวดเร็วในเด็ก กับวิธีป้องกันลูกรักให้ปลอดภัยจากโรคนี้

ข่าวการเสียชีวิตของ หนูน้อยวัยเพียง 10 เดือนที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus) ทำเอาผู้ปกครองต่างเป็นกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักโรคระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส "RSV"  (อาร์เอสวี) ไวรัสตัวร้ายมีมาพร้อมอากาศหนาว ที่มักจะติดต่อกันอย่างรวดเร็วในเด็ก กับวิธีป้องกันลูกรักให้ปลอดภัยจากโรคนี้

  

  •  "RSV" คืออะไร 

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก และระบาดหนักในช่วงปลายฝนต้นหนาว

  •  "RSV" เกิดจากอะไร 

ไวรัส RSV กระจายอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมชีวิตประจำวัน แต่หากร่างกายอ่อนแอและอยู่ในช่วงฤดูกาลเปลี่ยนผ่าน อากาศเปลี่ยนแปลง ร่างกายก็สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้ง่ายขึ้น

ซึ่งการติดเชื้อไวรัส RSV นั้นเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุประมาณ 3-5 ขวบ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่เสียชีวิตหลังเป็น RSV มักจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคนี้ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง  :  รับมือไวรัส 'RSV' เปิดทริคเลือก 'ประกันสำหรับเด็ก' ปกป้องลูกน้อยจากโรคร้าย

  •  "RSV" ติดต่อได้อย่างไร 

โรค RSV เกิดจาการติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เจริญเติบโตได้ดีช่วงที่มีอากาศชื้น สามารถแพร่กระจายง่ายโดยผ่านการไอ จาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย เสมหะสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

  •  "RSV" มีอาการแบบไหน 

การติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน ทำให้รู้ตัวช้า ต้องอาศัยการสังเกตและดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ 

โดยหลังจากได้รับเชื้อ RSV ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับ "ไข้หวัดธรรมดา" ในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เพิ่มด้วย เช่น ลูกป่วยด้วยอาการมีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราด 

หรือในบางกรณีที่มีอากาารหนักและต้องรีบนำส่งโรคพยาบาลทันที คือเด็กมีอาการไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด กินข้าวหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว ซึ่งลักษณะนี้สะท้อนว่าผู้ป่วยอาการหนัก และมีโอกาสว่าระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง 

  •  "RSV" ป้องกันอย่างไร 

RSV เกิดจากไวรัส ที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายทั้งในอากาศ และการสัมผัส การป้องกันโรค RSV ให้ลูกน้อย ควรเริ่มต้นที่พ่อแม่ ต้องหมั่นรักษาความสะอาดให้ลูก เช่น หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อยๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึง 70%

นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจากภายใน ให้ลูกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงลดโอกาสในการติดเชื้อได้

หากลูกหลานมีอาการป่วยเป็นโรค "RSV" ควรแยกเด็กออกจากเด็กที่ไม่ป่วย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ที่สำคัญคือควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และหากลูกเข้าเรียนแล้ว เมื่อลูกป่วยก็ควรให้ลูกหยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีทางเลือกป้องกันความเสี่ยงในลักษณะของการทำ "ประกันสุขภาพสำหรับเด็ก" เพื่อช่วยรับความเสี่ยงในการเกิดโรค RSV ในเด็กเล็กที่ค่อนข้างรุนแรง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งทุกวันนี้ "ประกัน" สำหรับเด็กสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ลูกมีอายุ 15 วันหรือ 1 เดือน (แล้วแต่เงื่อนไขของบริษัทประกัน) ซึ่งการวางแผนทำประกันลักษณะนี้ช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายเมื่อไม่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกี่ยวกับสุขภาพ และอุบัติเหตุได้ ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถบริหารเงินในกระเป๋าของตัวเองได้ง่ายขึ้นเมื่อมีเหตุฉุกเฉินด้วย

ที่มา :
rama.mahidol.ac.th 
chulalongkornhospital.go.th 
bangkokhospital.com