สำรวจสถานการณ์ 'เด็ก' และ 'สตรี' ในไทย
สำรวจสถานการณ์ "เด็ก" และ "สตรี" ในประเทศ แม้จะเห็นถึงความก้าวหน้าทั้งอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นที่ลดลง รวมถึงเด็กที่ถูกทำโทษด้วยวิธีรุนแรงลดลง แต่ในด้านโภชนาการของเด็กกลับแย่ลง ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำอย่างน่ากังวลไม่น้อย
ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ แสดงให้เห็นความก้าวหน้าด้านเด็กและสตรีหลายด้าน เช่น อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น และการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงที่บ้าน ซึ่งมีแนวโน้มลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลด้านภาวะโภชนาการของเด็ก และอัตราการเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา
การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) จัดทำขึ้นทุก 3 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ในระดับนานาชาติ (MICS 6) และนับเป็นครั้งที่ 4 ของประเทศไทย มีการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก จากครัวเรือน 40,660 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย.2562 และถือเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ผลสำรวจพบว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในประเทศไทยลดลงอย่างมาก จาก 51 คนต่อ 1,000 คนในปี 2558 เหลือเพียง 23 คนต่อ 1,000 คนในปี 2562 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 75 ใน 2558 เหลือร้อยละ 58 ในปี 2562 นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านอื่นๆ เช่น อัตราการได้รับภูมิคุ้มกันครบถ้วนของเด็กอายุ 12-23 เดือน (ร้อยละ 82) การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน (ร้อยละ 85) และอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัย (ร้อยละ 86)
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจก็สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านภาวะโภชนาการของเด็กในประเทศไทย โดยพบว่าอัตราของเด็กที่เตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้งและมีน้ำหนักเกิน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็ก สุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว
ขณะที่เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในประเทศไทย ร้อยละ 13 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ในขณะเดียวกัน เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 8 มีภาวะผอมแห้ง และร้อยละ 9 มีน้ำหนักเกิน ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 ที่ภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือน้ำหนักเกิน อยู่ที่ร้อยละ 11, 5 และ 8 ตามลำดับ
แม้นมแม่จะเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมองและป้องกันทารกจากการเจ็บป่วย แต่มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งลดลงจากปี 2558 ที่ร้อยละ 23
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวล โดยความแตกต่างขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ระดับการศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ ตัวอย่างเช่น เด็กที่แม่ขาดการศึกษา เด็กที่อาศัยในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย และเด็กที่อาศัยในครัวเรือนยากจนมาก มักขาดสารอาหารมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ โดยอัตราของเด็กเตี้ยแคระแกร็นคิดเป็นร้อยละ 19, 18 และ 16 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (ร้อยละ 13) มีข้อสังเกตว่ากรุงเทพมหานครมีเด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและน้ำหนักเกินมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 17)
ด้านความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา พบว่าเด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษา แต่อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มครัวเรือนยากจนมาก เพียงร้อยละ 82 และ 53 ตามลำดับ และภาคใต้มีอัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายต่ำกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 77 และ 56 ตามลำดับ)
วันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติให้ข้อมูลว่า ผลสำรวจเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่กระทบความเป็นอยู่ของเด็ก และหวังว่าผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชนจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการเผยแพร่ อภิปราย วิเคราะห์และวางแผนนโยบายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของเด็กทุกคนในประเทศไทย
โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยการดำเนินงานของรัฐบาลและองค์กรภาคสังคมได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กหลายล้านคนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ก็ตอกย้ำปัญหาหลายด้านที่ยังคงคุกคามพัฒนาการของเด็กในประเทศไทยมาโดยตลอดหลายปี เช่น ภาวะโภชนาการของเด็ก การไม่เรียนต่อระดับชั้นมัธยม หรือจำนวนเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ปัญหาเหล่านี้ยิ่งถูกซ้ำเติมอีกจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 และหากไม่ได้รับการแก้ไข จะคุกคามศักยภาพของเด็กๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไทย
ทั้งหมดนี้กระตุ้นให้เราทุกคนต้องทำงานมากขึ้นและทำให้เร็วกว่าเดิม โดยวิกฤติโควิด-19 อาจเป็นโอกาสให้เราจัดลำดับความสำคัญและลงทุนกับการพัฒนาเด็กมากขึ้น ข้อมูลจากผลสำรวจครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กทุกคนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ผลสำรวจด้านอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่
- การมีหนังสือสำหรับเด็ก : หนังสือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของเด็ก แต่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศไทยเพียงร้อยละ 34 ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อยสามเล่มที่บ้าน โดยลดลงจากร้อยละ 41 ในปี 2558 อัตรานี้ลดลงอีกในครัวเรือนที่ยากจนมาก (ร้อยละ 14) เทียบกับเด็กในครัวเรือนที่ร่ำรวยมาก (ร้อยละ 65)
- การมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของเล่นในเด็กเล็ก : เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 53 เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเด็กจำนวนครึ่งหนึ่งเล่นอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง และร้อยละ 8 เล่นอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง
- การมีส่วนร่วมของพ่อแม่ : พ่อแม่ในครัวเรือนร่ำรวยมีแนวโน้มทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้กับลูกมากกว่าครัวเรือนยากจน แต่พ่อมักทำกิจกรรมกับลูกน้อยกว่าแม่ ทั่วประเทศมีพ่อเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก โดยสัดส่วนพ่อที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกยิ่งน้อยลงในครัวเรือนที่ยากจนมาก (ร้อยละ 20) เมื่อเทียบกับพ่อในครัวเรือนที่ร่ำรวยมาก (ร้อยละ 55)
- ทักษะขั้นพื้นฐานด้านการอ่านและการคำนวณ : มีเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ไม่ถึง 6 ใน 10 คน (ร้อยละ 57) ที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ในขณะที่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น (ร้อยละ 51) ที่มีทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน
- เด็กที่ไม่ได้เข้าเรียน : ทั่วประเทศมีเด็กวัยมัธยมศึกษาตอนปลายที่ไม่ได้เข้าเรียนถึงร้อยละ 18 อัตรานี้เพิ่มขึ้นในกลุ่มครัวเรือนยากจนมาก (ร้อยละ 32) เด็กในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย (ร้อยละ 31) และเด็กที่แม่ขาดการศึกษา (ร้อยละ 29) นอกจากนี้พบว่าเด็กชายมักไม่ได้เข้าเรียนมากกว่าเด็กหญิง
- เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ : เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ร้อยละ 24 ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ อัตรานี้สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 36) และกลุ่มเด็กในครัวเรือนที่ยากจนมาก (ร้อยละ 39)
ผลสำรวจครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงข้อมูลด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น พัฒนาการของเด็กปฐมวัย การสมรสในเด็ก โอกาสที่เท่าเทียมทางสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์และฉบับสรุปได้ที่ http://bit.ly/MICS6TH