“โควิด-19”รอบใหม่เกิดในไทยแล้ว 3 ครั้ง

“โควิด-19”รอบใหม่เกิดในไทยแล้ว 3 ครั้ง

หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงเพื่อนบ้านของไทย เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รอบสอง ทำให้ต้องล็อคดาวน์เป็นบางเมืองและทั้งประเทศ ขณะที่คนไทยอยู่ในความกังวลว่าจะเกิดรอบใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไหร่ แต่ในความเป็นจริงโควิด-19รอบใหม่เกิดในประเทศไทยแล้ว 3 ครั้ง

หากพิจารณจากที่กระทรงสาธารณสุข(สธ.)คาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19ในประเทศไทย 3 รูปแบบที่จะเกิดในระยะต่อไป ประกอบด้วย 1.ป้องกันได้ดี(Spike) มีผู้ติดเชื้อ 1 รายหรือ 2 รายและเข้าไปควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย 2.ควบคุมโรคได้เร็ว(Spike with Small Wave)หลังจากมีผู้ป่วยรายที่ 1 อาจจะมีการระบาดในกลุ่มเล็กๆ คาดว่าจะมีประมาณ 10-20 ราย อาจจะมีลูกใหญ่บ้าง เล็กบ้างแต่สามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลาอันสั้นไม่ให้เกิน 3 -4 สัปดาห์ และ3.ควบคุมโรคได้ช้า(Spike with Big Wave) เมื่อมีรายแรกเกิดขึ้นก็เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง100 - 200 คน เหมือนกรณีสนามมวย ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น หากประชาชนให้ความร่วมมือ ด้วยการการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และผู้ประกอบการก็ร่วมมือในการจัดการต่างๆ

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่าน ไทยมีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อภายในประเทศแล้ว 3 เหตุการณ์หลังจากที่ตรวจเจอติดโควิด-19จากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและไม่มีการรายงานผู้ติดในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเวลา 100 วัน ซึ่งการเจอผู้ติดเชื้อในประเทศ จึงถือเป็นการเกิดโควิด-19 รอบใหม่ในไทย เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในระดับของการระบาด
160465609243

เหตุการณ์แรก ช่วงต้นเดือนกันยายน มีการตรวจเจอนักโทษชาย อาชีพดีเจติดเชื้อขณะเข้าเป็นผู้ต้องขังแรกรับ ซึ่งตามมาตรการจะต้องอยู่ในเรือนแยกจนครบ 14 วันและมีการตรวจโควิด-19 ผลเป็นบวก เมื่อมีการสอบสวนโรค พบว่า ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แต่ทำงานเป็นดีเจร้านอาหารที่ถนนข้าวสารและพระราม 5 โดยมีการพบปะพูดคุยกับชาวต่างชาติ นับเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรายแรก หลังจากที่ไม่มีรายงานมาเป็นเวลา 100 วัน แต่ไม่มีการแพร่เชื้อต่อไปยังบุคคลอื่น เนื่องจากผลการตรวจในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน รวมถึง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ไม่มีใครติดเชื้อ

เหตุการณ์ที่ 2 ค้นเจอจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและผู้ติดเชื้อในชุมชนอ.แม่สอด จ.ตาก พบ 2ราย เป็นเพศหญิงอายุ 53ปี และ เพศชาย อายุ63ปีสัญชาติเมียนมา อาชีพว่างงาน เป็นสามีและภรรยา ซึ่งไม่มีประวัติเดินทางออกนอก อ.แม่สอด แต่มีลูกชายจากประเทศเมียนมาเดินทางมาเยี่ยม ตรวจพบเชื้อวันที่13ตุลาคม ไม่มีอาการ รักษาตัวที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก และเมื่อมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวติดอีก 3 ราย

และเหตุการณ์ที่ 3 กรณีหญิง อายุ 57 ปี ชาวฝรั่งเศสเข้ากักตัวในสถานที่กักกันทางเลือก(Alternative State Quarantine:ASQ)ในจ.สมุทรปราการ จนครบ 14 วันและเดินทางไปยังบ้านพักที่เกาะสมุย ก่อนมีอาการป่วยในวันที่ 17 ตุลาคม 2563 หลังจากครบกำหนดและออกจากASQเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยเข้าตรวจที่รพ.เอกชนบนเกาะสมุย ก่อนพบยืนยันการติดเชื้อ และเข้ารับการรักษาต่อที่รพ.เกาะสมุย แพทย์ได้ให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ ขณะนี้หายดีและออกจากรพ.แล้ว ผลการสอบสวนโรค พบว่า หญิงรายนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศไทย และติดจากภายในASQ จ.สมุทรปราการ และพบว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมีผู้ติดเชื้ออีก 2 รายที่พักในASQแห่งนี้ และทั้ง 3 รายมีห้องพักอยู่ใกล้กัน

อีกทั้ง ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อจากทั้ง 3 ราย พบว่าเป็นตัวเดียวกัน จึงเป็นการติดเชื้อระหว่างกัน ส่วนจะมีการติดเชื้อผ่านช่องทางไหนอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม แต่จากการติดตามและตรวจเชื้อในผู้สัมผัสใกล้ชิดหญิงฝรั่งเศสที่เป็นสามีและลูกชายที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง พบไม่ติดเชื้อ รวมถึง พนักงานในASQดังกล่าวก็ไม่มีการติดเชื้อเช่นกัน

และมีอีกหนึ่งเหตุการณ์กรณีพบชายชาวอินเดีย ที่จ.กระบี่ และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม
160465613441

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า กรณีของนักโทษดีเจและกรณีหญิงฝรั่งเศส ถือเป็นสถานการณ์อยู่ในระดับที่ 1 คือ ป้องกันได้ดี ซึ่งสิ่งที่ทำให้สามารถจัดการสถานการณ์อยู่ในระดับนี้ได้ เพราะประชาชนทุกคนสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง คนวัยหนุ่มสาวตระหนักเรื่องการป้องกันโรค เฝ้าระวังอาการป่วยมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไม่ได้กลิ่นหรือรส รีบไปตรวจรักษา

ส่วนกรณีที่อ.แม่สอด จัดอยู่ในระดับ 2 คือ ควบคุมโรคได้เร็ว เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนบางส่วนขาดความตระหนัก ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ สวมหน้ากาก เว้นระยะ ล้างมือ ผู้ประกอบการละเลยมาตรการป้องกันโรคที่กำหนด แต่มีการติดตาม และควบคุมโรครวดเร็ว ส่วนระดับที่ 3 ยังไม่เคยเกิดขึ้นในรอบใหม่และเชื่อว่าระบบสาธารณสุขและประชาชนไทยจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น

“อยู่กับโรคโควิด-19มาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 จนถึงตอนนี้เดือนพฤศจิกายน 2563 เกือบครบ 1 ปี ประเทศไทยถือว่ามีการจัดการในระบบกาแรพทย์ สาธารณสุขและการควบคุมโรคอย่างดี สิ่งที่สำคัญคือความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันโรค และการมีความรู้บวกกับความพร้อมที่มีมากขึ้น ประเทศไทยจะสามารถต่อสู้กับโรคนี้ได้ดีขึ้น และในระยะต่อไปเชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19จะไม่เกิดเหตุการณ์ระบาดมากเหมือนรอบแรก เพราะความพร้อมของประชาชน ระบบสาธารณสุขและความรู้ที่มีมากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า “เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ แต่จะมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น แต่ด้วยระบบการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคที่รวดเร็ว จะจำกัดวงของการแพร่เชื้อ ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง” ตราบเท่าที่ประชาชนยังให้ความร่วมมือในมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการป้องกันโรคส่วนบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง