ภารกิจชุบชีวิตซากสัตว์ของ นัก (รักษ์) ‘Taxidermist’

ภารกิจชุบชีวิตซากสัตว์ของ นัก (รักษ์) ‘Taxidermist’

มองเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิค Taxidermy โดยนักอนุรักษ์บนเส้นทางการชุบชีวิตซากสัตว์ไร้ลมหายใจ เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

เมื่อช่วงปลายปี 2562 เราอาจได้ยินเรื่องการเก็บรักษาสภาพสัตว์ไร้ลมหายใจที่เสมือนจริงหรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘การสตัฟฟ์’ กันมาบ้างแล้วโดยเฉพาะจากกรณีการเสียชีวิตของ 2 พะยูนน้อย ‘มาเรียม’ กับ ‘ยามีล’ หลังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ อย่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. รับร่างมาเรียมที่เสียชีวิตจากการกินพลาสติกในทะเล จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทำการสตัฟฟ์เพื่อศึกษาวิจัย และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

โดยความคืบหน้าล่าสุดที่คาดการณ์ไว้คร่าวๆ ว่าราว 3-4 เดือน ร่างของมาเรียมน่าจะได้เฉิดฉาย สร้างความตระหนักถึงการทิ้งขยะไปจนถึงการลดใช้ถุงพลาสติก แต่ปัจจุบันก็ยังไร้วี่แวว อุปสรรคก้อนโตของภารกิจสำคัญครั้งนี้คืออะไร หาคำตอบไปพร้อมๆ กันกับ นัก Taxidermist แห่ง อพวช. ผู้รับหน้าที่สตัฟฟ์มาเรียมกับยามีล และการจัดการอวัยวะส่วนอื่นๆ เพื่อใช้ศึกษาวิจัย กับสัตวแพทย์ท่านหนึ่ง ประจำสวนสัตว์ รวมไปถึงความก้าวหน้าของงาน Taxidermy

160527877411

  • เส้นทางรักษ์นัก Taxidermist

การสตัฟฟ์ เป็นงานที่สะท้อนถึงความท้าทายของการอนุรักษ์สัตว์ให้อยู่คู่กับระบบนิเวศตามธรรมชาติ และความร่วมมือของมนุษย์ที่ล้วนเป็นหนึ่งในสาเหตุการล้มหายตายจากของสัตว์เหล่านั้น นอกจากจะเป็นการเก็บรักษาซากสัตว์สำคัญที่อาจใกล้สูญพันธุ์ไว้แล้ว การสตัฟฟ์ยังเป็นการเก็บสตอรี่ของสัตว์ที่มีผลต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติอีกด้วย

การสตัฟฟ์สัตว์เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสานกับศิลปะ ทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีท่าทางเสมือนยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด” วัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองศูนย์บริหารคลังตัวอย่างและผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ อพวช. เกริ่นถึงเทคนิค Taxidermy ที่ทำให้งานสตัฟฟ์ต่างไปจากการเก็บรักษาซากสัตว์เพื่อศึกษาวิจัยทั่วไป พร้อมพูดถึงภารกิจสำคัญ และบอกเล่าเส้นทางของการเป็นนัก Taxidermist

“Taxidermy กับการสตัฟฟ์สัตว์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เบื้องต้นการสตัฟฟ์สัตว์ มีความสำคัญกับการสร้างความตระหนักสำหรับเด็กๆ และผู้ที่สนใจมาก การได้เห็นของจริง การได้สัมผัสสิ่งที่เขาไม่เคยได้เห็นใกล้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความประทับใจในหลายๆ เรื่องและเข้าใจได้ทันที ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องเหล่านั้นให้มากขึ้น

160527912044

สำหรับเส้นทางของนัก Taxidermist ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ วัชระเล่าว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีพื้นฐานหรือคนที่มีความชื่นชอบงานพิพิธภัณฑ์คือ 'การเก็บรักษา' เมื่อมาเจองานสตัฟฟ์ที่พัฒนามาอีกขั้นหนึ่ง ก็ได้เทคนิคมากขึ้นและสามารถนำไปประกอบอาชีพนี้สร้างเป็นรายได้

ผมเองก็เริ่มจากการเป็นนักวิชาการเรื่องนก ซึ่งนักวิชาการในพิพิธภัณฑ์จะมีงานส่วนหนึ่งในเรื่องของการเก็บรักษาซากสัตว์ตายแล้ว จึงได้มาดูแลซากสัตว์ต่อและเมื่อมีซากนกตายก็จะเป็นคนทำแต่ไม่ได้เน้นเรื่องท่าทางของสัตว์ เนื่องจากว่าไม่มีที่เก็บเพียงพอ พอได้ทำตรงนี้แล้วก็อยากจะพัฒนาต่อ โดยเริ่มทดลองทำท่ายืนของหนูที่สตัฟฟ์ ก็ทำเท่าที่มีเพราะด้วยทรัพยากรที่มีค่อนข้างจำกัด จากที่เราเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์ที่คุมนักประติมากรรมปั้นให้ได้ตามใจเรา พอทำงานร่วมกันเราก็สามารถปั้นได้แล้ว แต่อาจใช้เวลานานกว่านักปั้นมืออาชีพเท่านั้นเอง

ในส่วนของอพวช. ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อดีตผอ.ท่านหนึ่งได้เดินทางไปดูงานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ประเทศจีน และได้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ชาวฟินแลนด์ หลังจากนั้น 1 ปีถัดมาจึงได้มีการอบรมด้านนี้ขึ้น นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นงานสตัฟฟ์ และเปิดรับทีมสตัฟฟ์เพื่อมาทำงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจุดเริ่มต้นของงาน Taxidermy ถูกจัดอยู่ในส่วนงานกองวัสดุอ้างอิงคลังธรรมชาติวิทยา กระทั่งเมื่อเดือนที่แล้วได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และจัดตั้งเป็นศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ ภายใต้สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งงาน Taxidermy เป็นภารกิจหลักงานหนึ่งของโจทย์นี้

ตั้งแต่ทำงาน Taxidermy มาผลงานของเราหลากหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น นก ปลา สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ผลงาน และเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะสัตว์ทุกชนิดสามารถทำ Taxidermy ได้ ขอแค่ให้มีผิวหนังหรือเปลือกที่แข็งคงรูปได้

160527885472

ภายในอาคารของศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์

  • ‘Taxidermy’ เทคโนโลยีเสมือนมีลมหายใจ

สำหรับขั้นตอนหลังจากที่ได้ซากสัตว์มาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ อพวช.อธิบายว่า นอกเหนือไปจากการชันสูตร สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้คือ 'สภาพหนัง' อย่างเมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่ ค่อยๆ เลาะหนังออกจากตัวให้เร็วที่สุดในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด และต้องทำควบคู่ไปกับการวัดขนาด สัดส่วนของสัตว์ตัวนั้นเพื่อทำหุ่น ก่อนจะนำไปแช่น้ำยาที่มีส่วนผสมของเกลือ กรดฟอร์มิกเอสิด และฟอร์มาลีน หรือเรียกว่า 'การฟอกหนัง' เพื่อรักษาสภาพหนังแล้วและทำให้แมลงไม่กัดกินด้วย เมื่อเสร็จทุกอย่างแล้วก็ทำงานหุ้มหนังเข้ากับหุ่น และเย็บปิดให้เรียบร้อยหรือตกแต่งสีเพิ่มเติม

“ภารกิจต่อจากนี้ นอกจากการดูแลและซ่อมแซมตัวอย่างเก่าๆ ที่ชำรุด ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าขั้นตอนการสตัฟฟ์สัตว์ เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ต้องรักษาทรัพยากรเหล่านี้ไว้ของที่เก็บมาแต่อดีต เพราะต่อให้สามารถนำซากสัตว์ชนิดเดียวกันสายพันธุ์เดียวกันมาสตัฟฟ์ แต่จะไม่สามารถกลับไปเก็บความเก่าที่มีประวัติศาสตร์เท่ากับตัวที่อายุมากกว่าได้ อย่างที่เราไม่สามารถเก็บซากนกกระจอกเมื่อ 50 ปีที่แล้วได้ ซึ่งนี่ก็เป็นภารกิจหนึ่ง

160527930410

การฟอกหนังของมาเรียมและยามีล

ส่วนอีกภารกิจสำคัญคือ ความร่วมมือกับทางองค์การสวนสัตว์และอุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้ เมื่อมีสัตว์สำคัญเสียชีวิต ทางหน่วยงานพันธมิตรก็จะส่งตรงมาที่ศูนย์คลังตัวอย่างฯ เพื่อทำการสตัฟฟ์ ซึ่งที่ผ่านมาทีม Taxidermist อพวช. ได้สตัฟฟ์ละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก ชื่อ โรหิสรัตน์ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนของไทย โดยผลงานการสตัฟฟ์นี้ได้นำไปจัดแสดงที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวด้วย

สำหรับความคืบหน้ามาเรียมและยามีลนั้น เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 บวกกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ทำให้แผนงานถูกพักไว้ และยังพบปัญหาที่ผิวหนังของมาเรียมอีก ที่แข็งกระด้างกว่าที่เคยทำ ซึ่งถ้านำไปหุ้มที่ตัวหุ่นเลยจะมีปัญหาปริและแตกได้ในอนาคต จึงมีการเปลี่ยนน้ำยาเพื่อทำหนังให้มีความนิ่มกว่าเดิม และต้องขยายเวลาออกไปอีก 1-2 เดือน ทั้งนี้ยามีลอาจจะเสร็จก่อนมาเรียม เพราะมาเรียมจะมีแผลเยอะกว่า ต้องใช้เทคนิคในการซ่อมแซมอย่างปราณีตเพื่อปิดรอยแผล

การทำงานที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้มากกว่าที่เราเคยเห็น เราเป็นคนชอบสัตว์เราเรียนรู้จากการได้เห็น แต่การทำเราเห็นลึกไปมากกว่านั้น เราเห็นส่วนกล้ามเนื้อ ท่าทาง และได้สัมผัสจริงๆ และยังสามารถที่จะออกแบบให้สัตว์ตัวนั้นเป็นอะไรก็ได้ในลักษณะของธรรมชาติ และที่ท้าทายคือการแก้ปัญหาทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าเราจะทำตัวใดก็ตามต่อให้เคยทำมาแล้ว ก็จะมีลักษณะหรือปัญหาที่ต่างกันออกไป ต่อให้เราปั้นกวางอายุเท่ากัน สายพันธุ์เดียวกัน ก็ต้องปั้นใหม่อยู่ดี เพราะลักษณะของการทำสตัฟฟ์สัตว์คือการทำหุ่นให้มีขนาดพอดีกับหนัง ซึ่งผมมองว่าสัตว์ที่ว่าทำยากที่สุดคือ ยีราฟ เพราะมันมีกล้ามเนื้อที่ประหลาดกว่าสัตว์ชนิดอื่น และเราไม่เคยทำมาก่อนด้วย” วัชระ สงวนสมบัติ พูดถึงความท้าทายของการสตัฟฟ์สัตว์ 

160527930643

  • เก็บเซลล์เพื่อการขยายเผ่าพันธุ์

แม้การทำสัตว์สตัฟฟ์ส่วนหนังจะเป็นหัวใจของ Taxidermy แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สามารถทำประโยชน์ได้ไม่ต่างนั่นคือ 'อวัยวะภายใน' นายสัตวแพทย์วิศิษฎ์ อาศัยธรรมกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิต ปฏิบัติงานสวนสัตว์เปิดเขาเขียว อธิบายว่า อวัยวะภายในเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยหลังจากการชันสูตรสาเหตุการตาย ซึ่งหากพบความผิดปกติจะมีการเก็บอยู่ 2 วิธี หนึ่งคือเก็บทั้งอวัยวะ เพื่อนำไปดอง แต่ก่อนดองจะตัดชิ้นส่วนของอวัยวะเหล่านั้นเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 1-2 ซม. และแช่ในฟอร์มาลีน เพื่อผ่านกระบวนการสไลด์ให้เป็นเนื้อเยื่อบางมากๆ จนสามารถนำไปส่องกล้องจุลทรรศ์เพื่อดูจุลพยาธิวิทยาหรือชันสูตรในระดับเซลล์หาความผิดปกติ

ถ้าไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคติดต่อร้ายแรง ก็จะถูกกำจัดต่อด้วยการฝังดิน เผาด้วยความร้อน หรือนำไปเก็บด้วยวิธีการดองเพื่อการศึกษาในอนาคตก็สามารถทำได้ แต่ถ้าพบว่าตายจากโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค หรือเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ติดต่อถึงคนได้ อย่างนี้ต้องนำไปเผาด้วยเตาเผาปลอดมลพิษเท่านั้นคุณหมอพูดถึงการจัดการกับอวัยวะภายในของสัตว์สตัฟฟ์

ทั้งนี้ระยะเวลาของเซลล์จะไม่ตายในทันทีพร้อมกับลมหายใจสุดท้ายหรือว่าหัวใจของสัตว์ที่หยุดเต้น โดยไม่เกิน 6 ชม. ถ้าตัดชิ้นส่วนอวัยวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะสืบพันธุ์อย่างอัณฑะและรังไข่ ซึ่งสามารถเก็บโดยนำมาแช่แข็งอุณหภูมิ -20 องศา หรือ -80 องศา เพื่อต่ออายุเซลล์ เพราะเซลล์พวกนี้ยังมีชีวิต เมื่อถูกผ่านกระบวนการในการที่จะละลายแล้วก็ปรับให้ฝืนคืนชีวิตขึ้นมา

160527919150

ในส่วนนี้เรามีการเก็บเป็นธนาคารน้ำเชื้อของสัตว์ อย่างที่บอกเปรียบว่าเป็นสวนสัตว์แช่แข็ง ซึ่งอยู่ในช่วงของการสะสม และมีใช้บ้างแล้วบางส่วน เช่น กลุ่มละมั่ง เสือลายเมฆ เพราะเทคนิคในการที่จะทำให้มันกลับมามีชีวิตแล้วผสมในหลอดแก้วอย่างสมมติว่ามีการสูญพันธุ์ไปแล้ว จุดสำคัญจะต้องมีตัวแม่ที่จะมาเป็นตัวตั้งท้อง เช่น ละมั่งพันธุ์ไทย อาจจะอาศัยแม่พันธุ์พม่ามาเป็นตัวรับตั้งท้องแทน และต้องมีเทคนิคและงานวิจัยที่เฉพาะเรื่อง ซึ่งจะต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป

“สุดท้ายแล้วเราก็ต้องสะท้อนกลับไปว่า ตอนนี้เราเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้วิกฤติ เพื่อแย่งชิงการสูญพันธุ์ของเผ่าพันธุ์ของสัตว์ แต่ถ้าเราสามารถสร้างความตระหนักให้คน สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการที่จะรักษาเผ่าพันธุ์ ขณะที่มันยังมีชีวิตและมีอยู่ในธรรมชาติได้ จะเป็นหนทางที่เราจะไม่เหนื่อยมาก และไม่ต้องใช้งประมาณหรือทรัพยากรในการทำมากมายเช่นกัน” คุณหมอวิศิษฎ์ ทิ้งท้าย