"ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์" ดึงนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยม
"อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงเนื่องด้วยหลายประเทศปิดตัว ส่งผลให้ไทยขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่สร้างรายได้ให้แก่การท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทย
จากรายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ(UNWTO) ระบุว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกเติบโตลดลงในไตรมาสแรกปี 2563 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงร้อยละ 22.7 จากช่วงเวลาเดียวกันปี2562 และต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายน 2563 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเฉพาะในเดือนเมษายนลดลง มากถึงร้อยละ 97 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี2562
สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงจาก ช่วงวลาเดียวกันของปี2562 ร้อยละ38.01โดยนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกมีจำนวนมากที่สุด 3.73 ล้านคน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวลดลงในอัตราสูงสุดร้อยละ 46.12 จากช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2562 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย สูง 3 อันดับแรกคือ นักท่องเที่ยวจีนมาเลเซีย และรัสเซีย และท่ีสร้างรายได้สูงสุดให้กับประเทศไทยยังคงเป็นนักท่องเท่ียวจีน รองลงมาได้แก่ รัสเซีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน แต่ตอนนี้รายได้จากนักท่องเที่ยวทุกประเทศลดลงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ท่ีลดลงถึงร้อยละ 63.96
ขณะที่นโยบาย “ไทยเท่ียวไทย” พบว่า มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยท่ีเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศลดลงร้อยละ 30.77 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาส่งผลให้การใช้จ่ายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ลดลงร้อยละ 31.53 เช่นกัน โดยกรุงเทพฯ ยังคงเป็นจังหวัดยอดนิยมอันดับหนึ่ง ตามด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันตก แต่การใช้จ่ายส่วนใหญ่ ของนักท่องเที่ยวชาวไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภาคใต้ และ ภาคเหนือ ตามลำดับ
วรรณวิภา ภานุมาต ผู้อำนวยการสำนักการท่องเที่ยวโดยชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวในงานเสวนา "ทิศทางการท่องเที่ยวสร้างสรรค์รูปแบบใหม่หลังNew Normal" จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า เมื่อเกิดโควิด-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะพวกเขาขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว ทางอพท. ซึ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยการท่องเที่ยวชุมชน จึงได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน คนในชุมชน สินค้าผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวให้น่าสนใจและเข้าถึงนักท่องเที่ยว ดดยขณะนี้มีผู้ประกอบการ 89 บริษัท ทำงานร่วมกับ 80 ชุมชน สร้างการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน
"เทรนด์การท่องเที่ยวแบบ New Normal ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนและไม่ใช่เพียงการพุ่งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณอย่างเดียว หลังจากนี้การท่องเที่ยวไทยคงต้องมุ่งเรื่องคุณภาพไม่ใช่การท่องเที่ยวราคาถูก แต่เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน นักท่องเที่ยวต้องได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่า และอยากให้ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชน เป็นสินค้าที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ร่วมพัฒนาชุมชน ยกระดับการท่องเที่ยวไทย"วรรณวิภา กล่าว
การท่องเที่ยวโดยชุมชน กับภาคเอกชนมีช่องโหว่ และแตกต่างกันมาก ชุมชนจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูท้องถิ่น หรือสำนักรักบ้านเกิด แต่ภาคเอกชนมุ่งกำไร อีกทั้งความรู้ความเข้าใจ หรือการทำการตลาดแตกต่างกัน ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวชุมชน เป็นทิศทางสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยอยู่รอด
อชิรญา ธรรมปริพัฒนา กรรมการผู้จัดการ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไฮฟสเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจกิจการของบริษัท จะมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ผ่านมากลุ่มเป้าหมาย เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80% และนักท่องเที่ยวไทย20% แต่เมื่อเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100% ทำให้ทางบริษัทได้มีการปรับกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวไทยซึ่งมีความต้องการแตกต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะนักท่องเที่ยวไทยชอบอาหารการกินที่อร่อย ชอบการแต่งกาย การถ่ายรูปและช็อปปิ้ง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบประวัติ เรื่องเล่า และชอบทำกิจกรรม ฉะนั้น ทิศทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไทยต้องเปลี่ยนไปจากเดิมและต้องทำการตลาดที่ไม่ใช่โฟกัสเพียงนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องทำให้ชุมชนสามารถนำเสนอ ขายนักท่องเที่ยวได้หลากหลายกลุ่ม
"หลังจากโควิด-19 เชื่อว่าเมื่อมีการเปิดประเทศจะเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการท่องเที่ยว เพราะประเทศไทยหลังจากนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น จึงต้องมีแนวทางดึงดูดนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยมหรือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวโดยชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยมที่พร้อมจ่าย เพราะนักท่องเที่ยวอยากจะเรียนรู้ อยากสัมผัสเรื่องเล่าชุมชน ขณะเดียวกันชาวบ้านในชุมชนได้มีความสุข มีรายได้"อชิรญา กล่าว
แต่ทั้งนี้ จะต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยหลังจากนี้ไม่ได้มองเพียงสถานที่ วัฒนธรรมน่าสนใจ แต่มองว่าประเทศมีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร รวมถึงการจัดการกักกันตัว ควรให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชุมชนท้องถิ่นผ่านวิดีโอต่างๆ เช่น สอนการทำอาหารท้องถิ่น ส้มตำ ซึ่งเมื่อกักกันตัวครบจะได้ไปสัมผัสของจริง ซึ่งหากรัฐ เอกชน ชุมชนร่วมยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จะเป็นจุดขายและทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอยู่รอด
ด้านสาธิต บุญทอง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวน่าน กล่าวว่าโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการและชุมชนต้องหยุดทุกกิจกรรม ซึ่งช่วงแรกทุกคนต่อต้าน เพราะเขารู้สึกว่าโรคไม่ได้รุนแรง แต่หน่วยงานรัฐก็ยืนหยัดปฎิบัติตามมาตรการสธ. ปิดจังหวัด และเมื่อจ.น่าน เป็นจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ ได้รับการยกย่อง ทำให้ประชาชน ผู้ประกอบการรู้สึกเชื่อมั่น และพร้อมที่จะปฎิบัติตามมาตรการของรัฐ
แต่ก็ประสบปัญหาการว่างงาน ผู้ประกอบการในพื้นที่ หน่วยงานรัฐ ได้ร่วมกับอพท.และจุฬาฯในการพัฒนาสินค้า กิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยพยายามออกแบบและดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการคำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อม การท่องเที่ยวในชุมชนให้คงอยู่ต่อไปด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งของการสร้างชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
ตบท้ายด้วย กรรณิการ์ เอี้ยวตระกูล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวระนอง กล่าวว่า จ.ระนองเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ชุมชน ผู้ประกอบการมีรายได้มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น ยิ่งมีโครงการรัฐ มหาวิทยาลัย และอพท.เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน นำจุดเด่น กิจกรรมของคนในชุมชนมาให้เกิดความน่าสนใจ เช่น การคั่วเม็ดมะม่วงหินพานต์ ซึ่งคนในจังหวัดอื่นๆ อาจจะยังไม่เคยเห็น รวมถึงมีการนำเรื่องของอาหารมาเป็นจุดขาย อย่าง การทำใบเหลียงผัดไข่ ที่นักท่องเที่ยวสามารถผัดได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้การท่องเที่ยวชุมชนได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยอย่างมาก เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างสรรค์และเรียนรู้ วัฒนธรรมอาหารการกินของชุมชนอีกด้วย
"ผู้ประกอบการมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะตอนแรกต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เมื่อต้องปรับรับนักท่องเที่ยวไทย กิจกรรม การดูแลต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งขณะนี้การท่องเที่ยวเชิงวร้างสรรค์โดยชุมชนได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ทั้งนี้อยากเห็นการพัฒนาเทคโนโลยี และระบบข้อมูล เนื่องจากตอนนี้ชาวบ้าน ชุมชนยังเรียนรู้เทคโนโลยีน้อยอยู่ อยากให้มีการส่งเสริมในเรื่องนี้ เข้าไปอบรมโดยเฉพาะเรื่องการตลาดออนไลน์ เป็นต้น"กรรณิการ์ กล่าว