ดึงศักยภาพชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดความรุนแรงในครอบครัว

ดึงศักยภาพชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดความรุนแรงในครอบครัว

สค. เผยสถิติความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ปี 2559 - ถึงเมษายน 2563 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือ 118 ราย/เดือน เฉลี่ย 4 ราย/วัน นำมาซึ่งการจัดทำคู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

วันนี้ (18 พฤศจิกายน) ที่ เดอะฮอลล์ กรุงเทพ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ชุมชนโมเดล หวังสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม ผ่านคู่มือ “การทำงานพื้นที่ชุมชนปลอดภัยสำหรับสตรีและเด็ก”

จากข้อมูลของ ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว (สค.) พบว่า สถิติของผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวในช่วงเดือน ต.ค.2562 - เม.ย. 2563 มี 141 ราย แบ่งออกเป็น ความรุนแรงทางร่างกาย ร้อยละ 87 ทางเพศ ร้อยละ 9 และทางจิตใจ ร้อยละ 4 ส่วนปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ยาเสพติด ร้อยละ 35 บันดาลโทสะ ร้อยละ 33 หึงหวง ร้อยละ 25 สุรา ร้อยละ 17 เท่ากับการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 17 อาการจิตเภท ร้อยละ 9 และจากเกม ร้อยละ 2 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคกลาง อีสาน ใต้ เหนือ และ กทม. ตามลำดับ

สถิติความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559 - ถึงเมษายน 2563 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือ 118 ราย/เดือน เฉลี่ย 4 ราย/วัน นำมาซึ่งความร่วมมือ กับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนให้เป็นกำลังสำคัญ สามารถช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาในชุมชนได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

160569971819

"กรรณนิกา เจริญลักษณ์"  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ พม. กล่าวว่า สค. ดำเนินการพัฒนาศักยภาพ สนับสนุนหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคและมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เป็นกลไกขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 7,149 แห่ง เพื่อให้การทำงานของภาคีเครือข่ายง่ายขึ้น

"สค.และ สสส.ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดทำคู่มือ “การทำงานพื้นที่ชุมชนปลอดภัยสำหรับสตรีและเด็ก” มีเนื้อหาและรูปแบบที่ทุกภาคส่วนนำไปปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ โดยใช้เป็นแนวทางดำเนินงานในพื้นที่ได้ ที่สำคัญหน่วยงานรัฐสามารถดูได้ว่าสิ่งใดที่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่าย ในส่วนชุมชนก็สามารถประเมินตนเองได้ว่าชุมชนของตนเองมีอะไร ยังขาดอะไร และต้องดำเนินการอย่างไร” กรรณิกา กล่าว

"ภรณี  ภู่ประเสริฐ"  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC :United Nations Office on Drugs and Crime)  พบว่ากว่า ร้อยละ 87 ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน เพื่อหาผู้กระทำผิด หรือให้ทางการรับรู้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 66 ภาคใต้ มีความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 48.1 และกรุงเทพฯ พบความรุนแรงในครอบครัว น้อยที่สุด ร้อยละ 26

ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด เช่น สุรา บุหรี่ ในการแก้ปัญหาสสส. สนับสนุนโครงการพัฒนาและยกระดับกลไกชุมชนและทีมสหวิชาชีพในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม ผ่านมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว เพื่อพัฒนากลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นำร่อง 4 ชุมชน จนเกิดรูปแบบการทำงานในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวโดยการเชื่อมร้อยกลไกระดับพื้นที่ให้มีคณะทำงานในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งกลไกระดับชุมชน ระดับเครือข่ายชุมชนขยาย และระดับภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเกิดนโยบายระดับพื้นที่ในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

  • คู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กสตรีและครอบครัว ยังคงน่าห่วง "อังคณา อินทสา" หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับ สสส.และ สค.จัดทำหนังสือ “คู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน” ซึ่งเป็นหนังสือที่จะถ่ายทอดบทเรียนการทำงานของแกนนำชุมชน 3 รูปแบบ ในพื้นที่ชุมชนเมือง คือ ชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน และชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. พื้นที่ชุมชนชนบท คือ ชุมชนบ้านคำกลาง ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ และพื้นที่แรงงานอุตสาหกรรม คือ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา(ไทยเกรียง) หวังว่า คู่มือฉบับนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานในชุมชน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นำไปประยุกต์ใช้สร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม เพื่อร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็กผู้หญิงและครอบครัว

160569971995

“เนื้อหาคู่มือเล่มนี้ มีความน่าสนใจเพราะเป็นคู่มือที่ถอดบทเรียนจากกระบวนการทำงานของมูลนิธิฯ ร่วมกับแกนนำเครือข่าย ภายในคู่มือประกอบด้วยเนื้อหา เช่น  กระบวนการทำงานคุ้มครองทางสังคมต้องทำอย่างไร แกนนำชุมชนต้องมีทักษะหรือเทคนิคการทำงานคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวอย่างไรบ้าง รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานต้องมีความรู้ด้านใด และตัวชี้วัดกระบวนการคุ้มครองทางสังคมมีเกณฑ์อะไรบ้าง"

"ทั้งนี้ มูลนิธิฯ คาดว่าจะมีการพัฒนาคู่มือดังกล่าวเป็น “หลักสูตร” การทำงานสำหรับชุมชนในปี 2564  เพื่อให้ชุมชนนำร่องได้มีการยกระดับการทำงานถ่ายทอดบทเรียนไปสู่ชุมชนที่สนใจต่อไป และสค.สามารถนำหลักสูตรดังกล่าวไปขยายสู่ผู้ปฏิบัติงานในชุมชน และขยายไปสู่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปรับใช้ในการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนนำร่องเหล่านี้ได้พัฒนาบทเรียนการทำงานจากประสบการณ์จริงมาโดยตลอด จนสามารถพัฒนาเป็นชุนชนต้นแบบในการลดปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัวได้ และหลายหน่วยงานเข้ามาเรียนรู้ดูงานพร้อมแลกเปลี่ยนการทำงานกับแกนนำได้จริง” อังคณา กล่าว

160569971847

  • ป้องกันความรุนแรงในระดับชุมชน

"นัยนา ยลจอหอ"  ผู้แทนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กล่าวว่า แนวทางการทำงานของเครือข่ายชุมชนวัดสวัสดิ์ฯ จะเก็บรวบรวมข้อมูลจากเคสความรุนแรง เพื่อหาสาเหตุและกำหนดเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังขยายพื้นที่จาก 42 ชุมชนในเขตดุสิตไปยังชุมชนอื่นในเขตกรุงเทพฯ โดยเริ่มจากการเชิญคณะกรรมการของแต่ละชุมชน เข้าอบรมทำความเข้าใจ เมื่อเกิดเหตุขึ้น จะได้หาแนวทางป้องกันและแก้ไขได้อย่างถูกต้องทันท่วงที ซึ่งเครือข่ายชุมชนวัดสวัสดิ์ฯพร้อมเป็นแกนกลางให้ชุมชนอื่นประสานความช่วยเหลือ สำหรับการต่อยอดการทำงานให้ยั่งยืน บูรณาการงานทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชนเข้าด้วยกัน เช่น การทำเกษตรพื้นที่แคบ และการฝึกทักษะอาชีพเข้ามาเยียวยาจิตใจผู้ถูกกระทำ เป็นต้น                     

“ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานส่วนใหญ่ เกิดจากความแตกต่างของคนที่เข้ามาทำงานด้านจิตอาสา เราใช้วิธีแก้ไขด้วยการประชุมวางแผนให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค สำหรับ “คู่มือการทำงานพื้นที่ชุมชนปลอดภัยสำหรับสตรีและเด็ก” ที่มูลนิธิฯได้ผลิตเพื่อแจกจ่ายให้เครือข่าย เป็นคู่มือที่มีความจำเป็นช่วยสะท้อนการทำงานที่ผ่านมา สามารถย้อนกลับไปดูวิธีปฏิบัติเพื่อหาแนวทางพัฒนาให้ยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ไม่ปล่อยปะละเลย ที่สำคัญก่อนออก พ.ร.บ.คุ้มครองต่างๆต้องดูบริบทของปัญหาของเด็กและสตรีด้วย ในส่วนของงบอุดหนุนช่วยเหลือการทำงานด้านนี้ชุมชนหลายแห่งใน 50 เขตของกรุงเทพฯ ยังขาดงบประมาณสนับสนุน จึงอยากให้ กทม. พิจารณาเรื่องนี้ด้วย” นัยนา กล่าว