'สงครามการค้าจีน-สหรัฐ' ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร  

'สงครามการค้าจีน-สหรัฐ' ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร  

ไม่ว่ามหาอำนาจ อเมริกาและจีนจะทำอะไร ก็มีผลต่อชาวโลก และเมื่อใดที่'ไบเดน' รับตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาอย่างเป็นทางการ หลายประเทศกำลังมองว่า อเมริกาจะมีนโยบายต่างประเทศอย่างไร ลองอ่านบทวิเคราะห์มุมต่างๆ ของนักวิชาการกลุ่มนี้

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การแข่งขันทางการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา เป็นทั้งคู่ค้าที่ดีและศัตรู เหมือนเช่นที่หลายคนกล่าวว่า ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร  ถ้าอย่างนั้นการค้าระหว่างสองมหาอำนาจจะมีผลกระทบต่อไทยและโลกอย่างไร  

สองมหาอำนาจในเวทีการค้า

ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า หลังจากปีค.ศ. 1949 นโยบายอเมริกามองว่า จีนเป็นภัยคุกคามเป็นคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น(ปีค.ศ. 1950-1960) อเมริกาจึงมีนโยบายปิดกั้นจีน แล้วหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ ซึ่งยุทธวิธีที่อเมริกาใช้ในปัจจุบันก็ไม่ต่างจากเดิม

160576956364

(ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล )

กระทั่งปี ค.ศ.1964 จีนและสหภาพโซเวียตมีความขัดแย้งกัน เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน จีนจึงหันมาทางอเมริกา ในช่วงประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และจิมมี คาร์เตอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจยังราบรื่น พอเข้าสู่ยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เยือนไต้หวัน ทำให้จีนเกิดความไม่พอใจ และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็สลับไปมาทั้งดีและร้าย

ส่วนในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดร.ประพีร์ บอกว่า มีการขยายการค้าในระบบดิจิทัลของอาลีบาบา ทรัมป์มองว่าเป็นการขยายอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง จึงไม่ยอมให้สินค้าจีนเข้าอเมริกา โดยใช้กำแพงภาษีปิดกั้น พร้อมๆ กับนโยบายอินโด แปซิฟิก เน้นสงครามการค้ากับจีน แต่นโยบายนี้ไม่ได้ผล

160576939754  

(สองผู้นำมหาอำนาจอเมริกาและจีน)

"ถ้าเมื่อใดโจ ไบเดน เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ เขาน่าจะใช้เรื่องอุดมคติของสหรัฐ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน มากดดันจีน และเชื่อว่าจะมีผลต่อไทยและอาเซียน 

ยุคไบเดน อเมริกาจะกลับมามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง และอีกด้านเชื่อว่ปัญหาหลักๆ ทีี่ยังคงอยู่ มีทั้งเรื่องไต้หวัน สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ฮ่องกงเรื่องการได้เปรียบดุลการค้า จีนต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ ”

ถ้าอย่างนั้นสงครามการค้าทั้งสองมหาอำนาจจะส่งผลต่อกระทบต่ออาเซียนและไทยอย่างไร ดร.ประพีร์ มองว่า สี่ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก ทำให้ไทยเอนเอียงไปทางจีน

“นโยบายทางด้านต่างประเทศของ'ไบเดน'ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ถ้าใช้นโยบายความเป็นกลางอาจถูกกดดันในการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าใหม่ ดังนั้นไทยควรเตรียมรับมือเรื่องนี้ ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม ไทยต้องสร้างสมดุลระหว่างจีนและอเมริกาให้ดี

อย่างน้อยๆ เรามีเวทีอาเซียน ไม่จำเป็นต้องให้มหาอำนาจมากำหนดทิศทาง ไทยควรพึ่งพาอาเซียน และที่ผ่านมานโยบายด้านต่างประเทศของไทยถือว่าเก่ง สามารถรอดพ้นจากอาณานิคมมาได้ เพราะเราใช้นโยบายลู่ลม ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้ได้”

 

ตั้งรับมหาอำนาจ

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อคิดว่า ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะบริหารประเทศยากหน่อย เพราะคะแนนเสียงชนะประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มาก สะท้อนว่า ประชาชนจำนวนมากก็เห็นด้วยกับวิธีของประธานาธิบดีทรัมป์

“ประธานาธิบดีทรัมป์จะบริหารประเทศไปจนถึงวันที่ 20 มกราคมปีหน้า อาจดำเนินนโยบายบางอย่างที่ขัดต่อการบริหารงานของไบเดนเพื่อไม่ให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น ไบเดนคงจัดการปัญหาระยะสั้นภายในประเทศก่อน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ โควิด โลกร้อน สีผิว ปัญหาสังคม ระยะยาวคงเป็นเรื่องสงครามเทคโนโลยี สหรัฐอาจจะกลับมาอยู่ในข้อตกลง CPTPP(ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก)”

นอกจากนี้ ดร.อาร์ม ยังบอกว่า ช่วง 20 ปียุคโลกาภิวัตน์ ผลพวงจากการพัฒนาการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ คนจนของโลก (จีน) ทำงานผลิตสินค้าในโรงงาน และคนรวยในอเมริกาได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตสินค้าที่ถูกมากในจีน ส่วนคนที่ไม่ได้ประโยชน์คือ ชนชั้นกลางในอเมริกา 

1605769468100

(ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร)

"รัฐบาลจีนจึงไม่พอใจที่รับจ้างผลิตสินค้าราคาถูก พวกเขาคิดว่า ต้องมีเทคโนโลยีพัฒนาเพื่อยกระดับจีน ขณะที่อเมริกาได้กำไรจากการผูกขาดเทคโนโลยี แต่จีนเป็นผู้ผลิตที่ได้เงินน้อยมากในการค้าโลก จึงเกิดความขัดแย้งกัน ต่อไปเทคโนโลยีจะมีนัยยะเรื่องความมั่นคงด้วย และจีนกำลังก้าวเป็นผู้นำเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย"  

ถ้าถึงตอนนั้น ไทยควรตั้งรับอย่างอย่างไร ดร.อาร์ม บอกว่า ใช้การเจรจาต่อรองกับจีนและสหรัฐมากขึ้น โดยมีจุดยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน เตรียมพร้อมเรื่องต่างประเทศให้มากกว่าเดิม

 

 

นโยบายกับเทคโนโลยี

“ยุทธศาสตร์เอาชนะความยากจนของจีน ทำให้ประชาชนกว่า 55 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชากรกว่า 1300 ล้านคน เพราะแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13-14 ของจีนถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ยังมีปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำและการระบาดของไวรัสโควิด” ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวและว่า

160576951875

(ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง)

แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 มีเป้าหมายนำประเทศไปสู่ความทันสมัยภายใต้ระบอบสังคมนิยม โดยเน้นเสถียรภาพในประเทศ และภายนอกต้องมีสันติภาพ

เป้าหมายในการพัฒนาของจีนในปีค.ศ. 2035 จะต้องเป็นประเทศที่มีความทันสมัยภายใต้ระบอบสังคมนิยมและวัฒนธรรมอันงดงาม ซึ่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีการพัฒนาแบบวัฏจักรคู่ ทั้งในรูปแบบนอกประเทศและในประเทศ

“ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดตลอด เรื่องเน้นการพัฒนาในประเทศและการบูรณาการระหว่างประเทศ ลดการพึ่งพาต่างประเทศ เน้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยขณะนี้ชนชั้นกลางในจีนที่มีมากขึ้นสามารถรับมือกับสถานการณ์ภายนอกได้แล้ว”

เหตุใดจีนถึงพัฒนาอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ ผศ.ดร.หลี่ บอกว่า ช่วง 40 ปีที่จีนเปิดประเทศและปฎิรูปเรื่องต่างๆ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในเส้นทางที่วางนโยบายไว้ โดยใช้แนวคิดว่า เปิดประเทศ เปิดการลงทุน ส่งเสริมสินค้าจีน 

"จีนเรียนรู้การผลิตสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี และมีการส่งเสริมการลงทุนในจีนมากขึ้น รวมถึงลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสงครามการค้าเป็นแค่เสี้ยวหนึ่ง แต่จีนจะเน้นศักยภาพของคนในประเทศเพื่อพัฒนาประเทศ"

 .................

หมายเหตุ : จากการร่วมอบรม มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่3 ของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย