'ขุดสระ สร้างแก้มลิงพวง' กักน้ำฝนทำเกษตร แก้ภัยแล้ง
ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ นำวิธีบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการ “ขุดสระสร้างแก้มลิงพวง” เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในหน้าแล้งให้มากที่สุด
การ “ขุุดสระสร้างแก้มลิงพวง” ทำให้มีพื้นที่ให้น้ำอยู่ มีที่ให้น้ำไหล และ เก็บน้ำไว้ใต้ดิน เพื่อให้ชาวนานอกเขตชลประทาน มีน้ำทำการเกษตร และเพื่อบริโภคได้หากเกษตรกรมีน้ำใช้ทำนาได้ ไม่ยากจน ลูกหลานก็จะคืนถิ่น ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน
ก่อนหน้านี้ ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี พื้นที่การเกษตรกว่า 3,700 ไร่ ไม่มีแหล่งน้ำ คลองส่งน้ำ ยามน้ำหลากก็ท่วมถนนในหมู่บ้าน ยามแล้งไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคเนื่องจากพื้นที่อยู่สูงกว่าห้วยละหมาดถึง 7 เมตร ทำให้ไม่สามารถนำน้ำฝนจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ในภาคเกษตรได้ ทว่าเมื่อชาวบ้านรวมตัวกัน ขุดบ่อ ขุดสระ กักเก็บน้ำฝนไว้ และขุดคลองส่งน้ำ ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ในการเกษตรทำให้นาข้าวได้ผลดียิ่งขึ้น หนี้สินที่เคยมีลดลง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
“ป้าน้อย -สนิท ทิพย์นางรอง” ลูกชาวนาบ้านลิ่มทองวัย 55 ปีที่ทำนามาตลอดมีหนี้สินจากการทำนามาอย่างต่อเนื่องกระทั่งปี 2548 ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาและการใช้ชีวิต หลังจากที่ได้รู้จักศูนย์การเรียนรู้ไทยคม และเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ ด้วยการขุดบ่อ ขุดสระ และขุดคลองเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง และปรับเปลี่ยนการทำนาจากที่ใช้ปุุ๋ยเคมี มาเป็นการทำนาแบบอินทรีย์ได้ภายในปี 2550
"แรกๆชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียสละพื้นที่ทำนามาขุดบ่อ ขุดสระ รวมทั้งขุดคลอง ส่งน้ำ แต่หลังจากที่ได้ทดลองทำและได้ผล ชาวบ้านลิ่มทองมีน้ำใช้ในการเกษตร ในหน้าแล้ง และดอกผลของการทำนาข้าวแบบอินทรีย์ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดผ่านไป 3 ปีชาวบ้านมีรายได้่เพิ่มขึ้น เพราะปัญหาความจนของชาวนาเมื่อดูจริงๆแล้วคือปัญหาของน้ำ ถ้ามีน้ำทำนาชาวนาก็รอดพ้นความยากจนและหนี้สินได้ เมื่อชาวบ้านชุมชนใกล้เคียงเห็นผลก็ทำตาม ปัจจุบันมี 9 ชุมชนได้เดินตามแนวทางของแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนตามแนวพระราชดำริฯเป็นที่เรียบร้อย" ป้าน้อย กล่าว
ปัจจุบัน “ป้าน้อย” ทำนาอินทรีย์ 20 ไร่ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองแทนปุ๋ยเคมี ปลูกข้าวหอมมะลิแดง ข้าวจิ๊บ ข้าวกล้องอินทรีย์ และข้าวไรท์เบอรี่ จำหน่ายเองตลอดทั้งปีแทนการขายให้กับโรงสี ทำให้ป้าน้อยสามารถชำระหนี้สินที่เคยมีอยู่ประมาณ 70000 บาทได้หมดแล้ว เพราะสามารถขายได้ถึงปีละ 200000 จากที่ลงทุน 30000 บาท นอกจากนี้ชาวบ้านรายอื่นๆอีก อาทิ ชาวบ้านต.หนองโบสถ์ ต.ทุ่งแสงทอง ต.ชุมแสง ต.นางรอง ต.หนองกง ต.หนองยายพิม ก็ได้มาเข้าร่วมในแนวทางเดียวกับป้าน้อยในนาม "กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านลิ่มทอง" ทำนาอิทรีย์ประมาณ 400 -1000ไร่ โดยมีมูลนิธิไทยคมให้การสนับสนุนโรงสีชุมชน สีข้าวจำหน่ายกันเองก็มีความสามารถในการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน
ว่ากันว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศในโลกที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก แต่เกษตรกรของไทย ซึ่งเป็นกลุ่มคน 2 ใน 3 ของประเทศกลับยากจน เพราะสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อทั้งการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากสามารถกักน้ำฝนไว้ใช้ได้เพียง 3.5% จากปริมาณน้ำฝนโดยรวม ซึ่งถือว่าน้อยมากจากสถิติปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา 10 ปี 243,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เพียง 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ว่ากันว่าถ้าฝนตกลงมา 100 หยด พื้นที่ดินภาคอีสานจะกักเก็บไว้ได้แค่ 3.2 หยดเท่านั้นซึ่งมีที่ดินนอกเขตชลประทานถึง 80%
ก่อนหน้านี้ "ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีต้นแบบที่จังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว และภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย จัดทำหลักสูตร“ชลกร” สร้างนักบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แนวทาง 3 ข้อ คือ หาที่อยู่ให้น้ำ หาที่ให้น้ำไหล และเก็บน้ำไว้ใต้ดินลงไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนของตนเองให้ความรู้ คำแนะนำ และช่วยจัดการแก้ปัญหาน้ำแล้ง การขาดแคลนน้ำต่างๆ ในชุมชนให้ได้
โดยใช้โมเดลของการจัดการน้ำในชุมชนที่ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี พื้นที่การเกษตรกว่า 3,700 ไร่ ไม่มีแหล่งน้ำ คลองส่งน้ำ ยามน้ำหลากก็ท่วมถนนในหมู่บ้าน ยามแล้งไม่มีน้ำใช้สอยเมื่อได้มีการจัดการน้ำในชุมชนให้ชาวบ้านขุดสระเก็บกักน้ำในที่ดินส่วนตัวหรือที่เรียกว่า แก้มลิงพวง เพื่อผันน้ำที่เก็บกักไว้จากแก้มลิงมาใช้ยามต้องการ ทำให้เกษตรกรมีอาชีพมีน้ำใช้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 7-8 เท่า
ล่าสุดวันที่ 18 พ.ย.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และให้คำแนะนำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระดับสากล พร้อมกับลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ในอนาคตจะมีการขยายผลเพิ่มเติม พัฒนายกระดับองค์ความรู้เรื่องธนาคารน้ำใต้ดินในประเทศไทยให้เข้าสู่หลักสากล ให้สอดคล้องกับหลักการด้านวิศวกรรม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีการสร้างหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชน โดยมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างเครือยข่ายของ AGS เช่น MWRD (Metropolitan Water Reclamation District of Greater Chicago), WWM (water and waste management India) เพื่อให้เทคนิคการจัดการน้ำสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงและง่ายต่อการเข้าใจ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับคนในพื้นที่ชุมชน
“พิพัฒน์ โต่นวุธ” นักศึกษาปวส.ปี 1 แผนกวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่าที่ผ่านมาวิทยาลัยการเกษตรฯ ได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแก่นักศึกษาในแต่ละแผนกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการชลประทาน การจัดการระบบน้ำในชุมชน และการบริหารจัดการน้ำทางการเกษตร ล่าสุดได้ทดลองขุดบ่อปิดขนาด กว้าง ยาว ลึก 1 เมตร ที่โรงเรียนขี้เหล็กเขียวไพรวัลย์วิทยา จำนวน 10 บ่อ ซึ่งอยู่ห่างจากวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ไปประมาณ 5 กิโลเมตร และขุดบ่อเปิดขนาดเดียวกันไว้ภายในพื้นที่วิทยาลัย 100 บ่อ เมื่ิอเดือนสิงหาคม
ปรากฏว่าขณะนี้บ่อเปิดของวิทยาลัยมีน้ำเต็มบ่อสีฟ้าสวยงาม และที่ดินเหนือบ่อปิดที่โรงเรียนขี้เหล็กเขียวไพรวัลย์วิทยามีพืชสีเขียวเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีน้ำใต้ดินที่มากพอสร้างความชุ่มชื้นให้ผิวดินแะจมีีแนวโน้มที่ปลูกพืชได้ผลดีโดยในอนาคตจะขุดทั้งหมด 1500 บ่อ 3 ขนาดทั้ง 1,2 และ 4 เมตร เพื่อทดลองและประเมินผลก่อนที่จะขยายไปยัังชุมชนต่อไป
“ตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปขุดบ่อที่นาของครอบครัวซึ่งมีประมาณ 40 ไร่ให้มีน้ำไว้ใช้่ใหน้าแล้ง เพื่อให้่สามารถทำนาได้ดีขึ้น และขยายผลไปสู่ชาวบ้านที่ใกล้่เคียงในอนาคต เพราะเชื่อว่าเมื่อมีน้ำแล้วคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น” พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย