DOW ชู"ชุมชนเกาะกลาง"จัดการขยะครบวงจรในเมือง
ชุมชนเกาะกลาง เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ในเขตคลองเตย มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 270 คน ใน58 หลังคาเรือน บนเนื้อที่เกาะประมาณ 3 ไร่ กลางคลองพระโขนง
โดยเป็นพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันเป็นตัวอย่างนำร่องของชุมชนจัดการตนเอง ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สร้างอาชีพในครัวเรือน ผลิตสินค้าใช้เอง บนเกาะเพื่อลดรายจ่าย และยังให้ความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม
จากการสำรวจข้อมูลชนิดขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนเกาะกลาง พบว่า มีขยะประเภทอินทรีย์ 31% วัสดุรีไซเคิล 41% ขยะทั่วไป 27% และขยะอันตราย 1% ซึ่งหากคัดแยกส่วนที่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย(Dow) ได้ร่วมกับชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เปิด "ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร ชุมชนเกาะกลาง ซึ่งเป็นชุมชนเกาะ เพียงแห่งเดียวของกรุงเทพฯ
นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสจัดโครงการดี ๆ ให้เกิดขึ้น เพราะโครงการในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ขอขอบคุณทางชุมชนเกาะกลาง ชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และทำให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ซึ่งในส่วนของกลุ่มบริษัท ดาว นั้น ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินการให้ความรู้การจัดการแยกขยะ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดขึ้นจริงในชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้ ชุมชนเกาะกลางได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว ทางกลุ่มบริษัทดาว ทำให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
"กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มีเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเราเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องเป็นการส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาสังคมไทย กลุ่มบริษัทดาว ได้มีการโครงการต่างๆ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก ก๊าซเรือนกระจก ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยในโครงการที่ร่วมกับชุมชนเกาะกลาง ได้จัดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม และวันนี้ได้มีการจัดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร ที่จะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ เกิดขึ้น เพราะโครงการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ"นายสุพจน์ กล่าว
ความร่วมมือระหว่าง กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กับชุมชนเกาะกลาง มีความแตกต่างจากชุมชนอื่นๆ เพราะชุมชนแห่งนี้ มีการจัดการเรื่องปัญหาขยะ มีการคัดแยก การเก็บขยะ และทำให้เห็นว่ามีการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มคุณค่าของขยะ
โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือของกลุ่มบริษัท ดาว กับสำนักงานเขตคลองเตยและสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE)ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการทำโครงการ ร่วมออกแบบโครงสร้างการบริหารจัดการขยะ เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มการจัดการขยะอินทร์ การจัดการวัสดุรีไซเคิล การจัดการขยะทั่วไป และการจัดการขยะอันตราย
พร้อมทั้ง มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย หรือส่งต่อให้กับสำนักงานเขตคลองเตยเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี โดยรายได้ทั้งหมดจากการแปลงขยะเป็นเงินทางกลุ่มบริษัท ดาว จะให้ทางชุมชนดำเนินการจัดสรรรายได้กระจายให้ทุกคนในชุมชน และมีการวางระบบโครงสร้างทางบัญชี
นายสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการ TIPMSE กล่าวว่า ทางTIPMSE ได้ทำงานร่วมกับชุมชนเกาะกลางมาเป็นเวลา 4 ปีโดยเริ่มจากโครงการปลอดขยะ ซึ่งชาวชุมชนเกาะกลาง ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ประชากรทั้ง 50 ครัวเรือนสามารถผลิตขยะให้ กทม.กำจัดเพียง 50 กิโล เท่ากับที่นี่คนหนึ่งผลิตขยะไม่เกิน 1 กิโล และที่นี้เป็นชุมชนเข้มแข็ง มีการจัดการขยะ มีฐานการเรียนรู้หลากหลาย
ทั้งที่ เป็นชุมชนในกรุงเทพฯ ชุมชนเมืองที่โดยปกติแล้วจะเป็นเรื่องยากในการส่งเสริมการจัดการขยะ เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องสถานที่คับแคบ และอุปนิสัย ความเคยชินของคนเมืองที่จะไม่ได้แยกขยะจริงจัง เพราะมองว่าแยกไป ก็มีการรวมขยะอยู่ดี ดังนั้น พื้นที่แห่งนี้แสดงให้เห็นว่าชุมชนเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะ และเป็นแหล่งเรียนรู้ ในการจัดการขยะ และแปลงขยะให้มีคุณค่ามากขึ้น
ชุมชนเกาะกลาง มีทั้งหมด 50 กว่าครัวเรือน มี 40 กว่าครัวเรือนที่เข้าร่วมการบริหารจัดการขยะ เนื่องจากครัวเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วม เป็นบ้านเช่า และมีการหมุนเวียนการเข้าออกของคน ทำให้บางบ้านเข้าร่วม บางบ้านไม่เข้าร่วม
น.ส.วิลาวัณย์ โพธิ์จันทัก ชาวชุมชนเกาะกลาง เจ้าของบ้านตัวอย่าง ในโครงการ กล่าวว่า อาศัยอยู่ที่ชุมชนเกาะกลางมาเป็นเวลา35 ปี ซึ่งที่ผ่านมาทางชุมชนได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนน่าอยู่ และมีการรวมตัวของคนในชุมชน มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ดังนั้น เมื่อมีโครงการเข้ามาในชุมชน ชาวชุมชนพร้อมให้การร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อช่วยกันดูแล และทำให้ชุมชนของเราเป็นแหล่งเรียนรู้ ชุมชนต้นแบบ
"ก่อนหน้าที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริหารจัดการขยะ คัดแยกขยะชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งมีองค์ความรู้เรื่องนี้ เพราะเคยทำเรื่องธนาคารขยะ ขยะแลกไข่มาก่อน หลังจากนั้นก็จะดำเนินการมาเรื่อยๆ แต่เมื่อทางกลุ่มบริษัท ดาว เข้ามาให้ความรู้ มาตั้งฐานการเรียนรู้ ทำให้ทุกคนรู้จักคัดแยกขยะ รวมถึงสร้างรายได้จากขยะ แปลงขยะเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้ทุกคนมีความตื่นตัวและเข้าร่วมมากขึ้น โครงการนี้ เป็นการกระตุ้นให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชุมชนของตนเองให้น่าอยู่" น.ส.วิลาวัลย์ กล่าว