5มหาวิทยาลัย ดึงAIช่วยตลาดHealth care
Thailand A.I. University Consortium-NVIDIA By PMU C หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หรือ PMU C กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)
ผลักดันให้มหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยCMKL มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล มีส่วนร่วมและเข้าร่วมเป็นเครือข่าย NVAITIC ของบริษัทNVIDIA ผู้ผลิต GPU machine กลไกสำคัญของหน่วยประมวลผลทางด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลก เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่นักวิจัยไทยในการสร้างสรรค์ และนำ AI เข้ามาช่วยในการสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ นวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ๆ
สมัยก่อนกว่าจะวิเคราะห์ได้ว่าแมลง ยุง หรือสินค้าการเกษตรจะเป็นพาหะโรคหรือไม่ ต้องใช้เวลา แต่หลังจากนี้ ทุกอย่างจะง่าย รวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น จะมีการสร้างระบบ AI เป็นถังข้อมูล ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้ชวยแพทย์ในการประมวลผล ว่าแมลง ยุง หรือผลิตภัณฑ์การเกษตรเหล่านั้นจะมีเชื้อ เป็นพาหะโรคหรือไม่ เพียงวิเคราะห์จากภาพถ่ายและข้อมูลที่มีเป็น 100,000 เรื่อง ประมวลผลออกมาอย่างชัดเจน แม่นยำ เพราะต้องยอมรับว่าด้วยข้อมูลที่มีอยู่มากมาย AI จะเข้ามาช่วยแพทย์ นักวิจัยให้ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ช่วยการวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และประธานกรรมการศูนย์เครื่องมือวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่าตอนนี้ AI มีความสำคัญอย่างมากในการเข้ามาช่วยงานวิจัย การจัดเก็บ การประมวลข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ที่มีจำนวนมาก ซึ่งการที่ทาง มข.ได้เข้าร่วมเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยเครือข่าย NVAITIC ของบริษัท NVIDIA ที่มีมหาวิทยาลัยไทย และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกกว่า 40 แห่ง จะเป็นใช้ AI มาช่วยจัดการ Data ให้เกิดประสิทธิภาพในงานวิจัย การรักษาโรคต่างๆ อีกทั้งจะเป็นการสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยไทยร่วมด้วย
นักวิจัยไทย เก่ง มีศักยภาพมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องของวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการจัดการทางการแพทย์มากมายความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และร่วมกันพัฒนา AI นวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ได้จริง ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โครงการนำร่องของมข. จะดำเนินการสร้างระบบเตือนระบบการรักษาที่แม่นยำ การประมวลผลจากภาพ ในส่วนของโรคพยาธิใบไม้ในตับ โรคระบาดที่มีแมลง ยุงเป็นพาหะโรคไข้เลือดออก รวมถึงโรคมะเร็งตับ เนื่องจาก เป็นโรคที่มีการระบาดในพื้นที่ภาคอีสาน และมีข้อมูล Data เรื่องนี้ อันนำไปสู่การสร้างสุขภาพ และลดอัตราการป่วยในโรคดังกล่าว
“ศูนย์จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะทำหน้าที่ตรวจสอบจริยรรมมนุษย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการป้องกัน การรักษาชีวิตคน ผลักดัน Health care and Tourism หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้ได้นั้น จะต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งการบริการ การรักษาทางการแพทย์ รวมถึงเครื่องมือออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องได้มาตรฐาน ช่วยให้โรงพยาบาลไทยมีเครื่องมือทางการแพทย์ใช้เอง ลดต้นทุนการนำเข้าที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล”ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว
รวมทั้งจัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี : ปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ (AI for Healthcare) เพื่อความเป็นเลิศด้านการแพทย์ เสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และจะมีการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อจัดทำงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงในเชิงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ต่อไป
ด้าน “รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หรือ PMU C กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถใช้ AI ในการสร้างระบบต่างๆ ช่วยงานวิจัย และการแพทย์ได้ดีมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยในการสร้างนวัตกรรมภายใต้งานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริง โดยได้มีการจัดงบประมาณสนับสนุนมหาวิทยาลัย ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัยไทย ยกระดับงานวิจัยทางการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นจะกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยใช้ AI เข้าช่วย
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมระบุว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ภายในประเทศไทยปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 120,000 ล้านบาท(ราคาขายส่ง) ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า มูลค่านำเข้า ส่งออก อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ปี 2562 แบ่งเป็นนำเข้า69,746 ล้านบาทได้แก่ วัสดุทางการแพทย์ 28,253 ล้านบาท คิดเป็น 40.5% ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 29,780 ล้านบาท คิดเป็น 42.7% และ น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค 11,731 ล้านบาท คิดเป็น 16.8%ในส่วนมูลค่าการส่งออก คิดเป็น106,358 ล้านบาทได้แก่ วัสดุทางการแพทย์ 93,860 ล้านบาท คิดเป็น 88.3% ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 10,981 ล้านบาท คิดเป็น 10.3% และ น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค 1,516 ล้านบาท คิดเป็น 1.4%
ประเทศที่มีการส่งออกเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ที่สุดได้แก่ เยอรมนี มีสัดส่วน 16.6% รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ(สัดส่วน 10.8%) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 8.3%) และจีน (สัดส่วน 8.2%) ขณะที่ประเทศที่นำเข้าเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ที่สุดได้แก่ ที่สหรัฐฯ มีสัดส่วน 23.6% รองลงมา ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน 9.1%) จีน (สัดส่วน 6.5%) และฝรั่งเศส (สัดส่วน4.8%) ไทยเป็นประเทศที่ส่งออก ลำดับที่ 17 (สัดส่วน 1.3%) และนำเข้า 29 (สัดส่วน 0.6%) ของโลก
มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยปี 2563 มีแนวโน้มเติบโต 3% (ชะลอจาก 5.5% ปี 2562) ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จะเติบโตได้ต่อเนื่อง จากความต้องการใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วงสถานการณ์COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าไม่สูงนัก ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างกลุ่มครุภัณฑ์การแพทย์ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มลดลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่เชื้อ