'เพาวเวอร์กรีน' บ่มเพาะเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม

'เพาวเวอร์กรีน' บ่มเพาะเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม

แก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด มีสัตว์ที่อยู่บนสุดห่วงโซ่อาหาร เช่น เสือ และมีตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ เช่น นกเงือก เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี

จากความอุดมสมบูรณ์ ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดี เพื่อให้เด็กๆ ได้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชน สร้างแกนนำและเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม

ล่าสุด บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม“เพาเวอร์กรีน”ปีที่ 15 ในธีม“Jungle Rumble - เสียงก้องจากป่าลึก”ให้นักเรียนชั้น ม.1-6 ทีมๆ ละ 3 คน สมัครเข้าร่วมตอบคำถามผ่านทางออนไลน์วัดความรู้พื้นฐานทางทรัพยากรธรรมชาติเยาวชนสนใจกว่า 243 ทีมจากนั้นคัดเลือกผู้ชนะ 5 ทีม รวม 15 คนไปทัศนศึกษา ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2563

160765809852

โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะมีโอกาสศึกษาเส้นทางธรรมชาติ เรียนรู้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่าแก่งกระจานวิธีการแกะรอยประชากรสัตว์ป่า รวมถึงสัตว์ป่าสงวนอย่าง เลียงผา เก้งหม้อ สมเสร็จ และแมวลายหินอ่อน ฯลฯ ตลอดจนศึกษาพืชพันธุ์หายากนานาชนิด กิจกรรมดูนกร่วมทำโป่งเทียม สร้างแหล่งอาหารที่จำเป็นสำหรับสัตว์ป่าให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ด้วยการได้สัมผัสและปฏิบัติจริง

สำหรับ “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ครอบคลุมพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่กว่า 1.8 ล้านไร่ หรือราว 2,914.70 ตารางกิโลเมตร ปกคลุมด้วยพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ 85.64 มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายประการ เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ และหน้าผา

160765809835

ที่ตั้งอยู่ในเขตนิเวศอินโด-หิมาลายัน ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งในเอเชีย เป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ โดยเฉพาะแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี จากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ ทำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานให้ได้รับการยอมรับและขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน

“ดร. พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สาเหตุที่ปีนี้เลือกมาแก่งกระจาน เพราะเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด มีสัตว์ที่อยู่บนสุดห่วงโซ่อาหาร เช่น เสือ และมีตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ เช่น นกเงือก เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี

160765809826

โดยกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง เช่น “การช้อนแมลงในน้ำ” เพื่อให้เรียนรู้รากฐานของระบบนิเวศอื่นๆ นอกเหนือจาก ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ เช่น ตัวอ่อนแมลงปอ ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของน้ำแล้ว แมลงปอจะไม่ไข่ในน้ำขุ่น แต่จะไข่ในน้ำใสสะอาดเท่านั้น ดังนั้น การเจอตัวอ่อนแมลงปอบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง

160765810059

ขณะที่ “การทำโป่งเทียม” เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของแร่ธาตุในดินซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่า เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง รวมทั้งนกและแมลงนานาชนิด โดยทั่วไป โป่งสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จากกระบวนการกัดเซาะ กลายเป็นแหล่งสะสมของแร่ธาตุ ทว่าเมื่อแร่ธาตุในดินน้อยลงทำให้สัตว์ไปหากินนอกพื้นที่ ดังนั้น การช่วยสร้างโป่งเทียม ทำให้สัตว์ไม่ออกนอกพื้นที่ไปมากกว่าควรที่จะเป็น ดึงดูดสัตว์เหล่านี้ให้กลับเข้ามาในป่า

160765809932

รวมไปถึง “การศึกษาเส้นทางธรรมชาติ” เพื่อดูร่องรอยของสัตว์ป่า ศึกษาความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่แตกต่างกัน อาทิ เรื่องสมุนไพร การรักษา หากเกิดการเจ็บป่วยในป่าอะไรสามารถทดแทนยาสามัญทั่วไปได้ เช่น ฟ้าทลายโจร ในระบบนิเวศเป็นวัชพืช แต่เราสามารถนำมาใช้รับประทานเพื่อแก้ปวด ลดไข้ได้เล็กน้อย นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษาตามรอยสัตว์ เช่น รอยบนต้นไม้ ต้นไม้ล้ม อาจจะเป็นร่องลอยของช้าง เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากผู้นำ เด็กสามารถเห็น จับต้องอย่างใกล้ชิด

160765809992

“เพาเวอร์กรีน ทำให้ช่องว่างระหว่างคนกับป่าลดลง การเดินศึกษาป่า ทำให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ ได้เข้าใกล้ป่ามากขึ้น เกิดความหวงแหนสิ่งแวดล้อม ได้เห็นว่าต้นอ่อนต้นเล็กๆ ที่เราเหยียบกว่าจะเติบโตขึ้นมาใช้เวลากี่ปี ทำให้ความตระหนักว่าต่อไปต้องระวัง ต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่สูงไม่ถึงคืบ อาจจะมีความสำคัญกับนกเงือกในอนาคต” ดร. พูนเพิ่ม กล่าว

ด้าน น้องบิ๊ก - วรากร เติมสายทอง ชั้นม.6 โรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย ซึ่งเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นปีที่สอง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสนใจค่ายสิ่งแวดล้อม จากการได้มีโอกาสเข้าค่ายของทาง อบจ. ในช่วง ม.4 หลังจากนั้น ปีที่ผ่านมา เห็นบ้านปูประกาศรับสมัครค่ายเพาเวอร์กรีน จึงสนใจและสมัครเข้าร่วม ทำให้ได้ทั้งความรู้ ได้เพื่อนใหม่ ได้เป็นตัวของตัวเอง ได้ทำกิจกรรมแปลกใหม่นอกเหนือจากการเรียน ปีนี้ จึงตัดสินใจสมัครเข้าค่ายอีกครั้ง

160765810763

“นอกจากการเข้าค่ายจะทำให้เราได้เพื่อนใหม่ ได้ความคิด ทัศนคติใหม่ๆ รู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นแล้ว ส่วนตัวยังตั้งใจจะเรียนต่อที่ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่ ม.4 และพ่อแม่ก็สนับสนุน ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตอีกด้วย” น้องบิ๊ก กล่าว

  • บ่มเพาะเยาวชนปีที่ 15

“ค่ายเพาเวอร์กรีน” มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549 เดิมเป็นค่าย 8 วัน 7 คืน ราว 70 คนต่อปี ให้ความรู้ตั้งแต่ทฤษฎีกับนักวิชาการ ทดสอบ ทดลอง วิเคราะห์ วิจัย เก็บข้อมูลเพื่อทำโครงงานนำเสนอให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยจัดเป็นนิทรรศการ 1 วัน ที่ผ่านมา บ่มเพาะเยาวชนหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมไปกว่า 900 คน

160765809892

“อุดมลักษณ์ โอฬาร” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปู และ ม.มหิดล ได้ปรึกษามาตลอด ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โครงการนี้จะยังคงยั่งยืนจากความร่วมมือของสองสถาบัน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชน สร้างแกนนำและเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม

160765810027

ขณะเดียวกัน เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งในปีนี้ น้องๆ บางคนเป็นศิษย์เก่าจากการจัดค่ายครั้งที่ 14 เชื่อว่าการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการปฏิบัติ หวังว่าสิ่งที่เราพยายามคัดสรรอย่างเต็มที่ จะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ ถึงความเชื่อมโยงทุกส่วนของธรรมชาติ สร้างจิตสำนึก และหวงแหนธรรมชาติต่อไป