‘พัทยาโฉมใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่มีช่องทางธุรกิจ
แม้การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะกลับมาอีกครั้ง แต่การพัฒนาเมืองก็ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะ พัทยา ต่อไปจะเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ใครคิดจะทำธุรกิจหรือขยายการลงทุน ที่นั่นมีพร้อมทุกอย่าง
"ในช่วงโควิด-19 เราควรให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต เมื่อ 2 ปีที่แล้วผมได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นนายกฯเมืองพัทยา
ได้เห็นว่าวันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่เกาะล้านหมื่นกว่าคน สร้างรายได้ให้เมืองพัทยามากกว่า 1,200 ล้าน เราจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ พัทยาโฉมใหม่ ใส่ใจ ไม่ทิ้งกันขึ้นมา" สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวระหว่างให้ข้อมูลเรื่องแผนพัฒนา ‘NEO เกาะล้านโฉมใหม่’ ณ ลานกิจกรรม ท่าหน้าบ้าน เกาะล้าน จ.ชลบุรี
- NEO PATTAYA
"ภาพรวมพัทยาที่ผ่านมา ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เราได้ปิดเมือง แล้วเริ่มผ่อนคลายปลายเดือนกันยายน จากเดิมมีนักท่องเที่ยวปีละ 15 ล้านคน ปีนี้เหลือ 4 ล้าน 5 แสนคน เท่านั้น
ก่อนโควิด สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80 % นักท่องเที่ยวไทย 20 % ปัจจุบันเป็นคนไทย 80% ชาวต่างชาติ 20% การท่องเที่ยวจากต่างประเทศทำได้จำกัดในช่วงโควิด-19 จึงให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแทน
ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา จ.ชลบุรี
เราได้ปรับปรุงพื้นที่หลายโครงการ คือ 1)ซ่อมเสริมชายหาดพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ระยะทาง 2800 เมตร กว้าง 35 เมตร พื้นที่ 9800 กว่าตารางเมตร ให้มีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น 2)ซ่อมเสริมพื้นที่ชายหาดจอมเทียน ยาว 7 กิโลเมตร กว้าง 50 เมตร
ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี และมีเป้าหมายแก้ปัญหาภาพลักษณ์ของเมืองพัทยาในเรื่องน้ำท่วมขัง จากท่วมขัง 2 ชั่วโมงตอนนี้สามารถระบายได้ใน 45 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
แล้วได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำระบบระบายน้ำตลอดเส้นทางรถไฟ ถ้าแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเมืองพัทยา, พัทยาใต้, พัทยากลาง, นาเกลือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" สนธยา กล่าว
แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ แต่เราก็ยังเห็นนักท่องเที่ยวอยู่ในเมืองพัทยาอยู่ประปราย
"นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เห็นอยู่ตอนนี้เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพัทยาหรือในประเทศไทย มีชาวจีนยังอยู่ในพัทยาอีกหลายร้อยคนที่กลับประเทศไม่ได้ บางคนเลยมองหาช่องทางทำธุรกิจ
ตอนนี้มีต่างชาติเข้ามาคุยเรื่องการสร้างออฟฟิศ Building เพราะที่พัทยาไม่มีออฟฟิศบิลดิ้ง มีแต่ทาวน์โฮม, อาคารพาณิชย์, ที่อยู่อาศัย, โรงแรม เพราะคนจีนลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เยอะมาก
ทุกวันนี้พัทยามีการท่องเที่ยวอย่างเดียว 70 % ต่อไปเราจะเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งไลฟ์สไตล์, แฟมิลี่ ที่แหลมบาลีฮายกำลังจะมี 3 โครงการคือ โครงการพัฒนาเขาทัพพะยา, มีโครงการ Walking Street, พัฒนาท่าเทียบเรือและฟู้ดเทอร์มินอล"
นายกเมืองพัทยายังกล่าวต่อว่า ขอเวลา 3 ปี เดินหน้า 32 โครงการ ทำ พัทยา-เกาะล้าน ให้เทียบเท่านานาชาติ ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทำธุรกิจได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
- NEO เกาะล้าน
"เกาะล้าน เป็นพื้นที่สำคัญของเมืองพัทยา ช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่ 5 ล้านคนต่อปี เกาะล้านมีทั้งหมด 8 ชายหาด ที่มีความสวยงาม มีปะการัง เป็นเกาะที่มีภูเขาสูง มีจุดชมวิว มีลานกีฬาทางอากาศ มีพื้นที่แข่งขันจักรยานเสือภูเขา และวิ่งเทรล
เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ทั้งพักผ่อน เล่นกีฬาทางอากาศ กีฬาทางน้ำ กีฬาผจญภัย" สนธยา เล่าถึงเกาะล้านที่มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว 100 รายส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ มีห้องพักทั้งหมด 2,000 ห้อง ระดับของห้องพักสูงสุดอยู่ที่ 3 ดาว
"ก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทยในสัดส่วน 70 และ 30 ประมาณ 15,000 คน/วัน เป็นชาวต่างชาติมากกว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนจีน
ทุกวันนี้เกาะล้านมีคนไทยมาเที่ยว 80 % ในช่วงวันหยุด 4 วันที่ผ่านมา ประมาณ 30,000 คน คนไทยใช้จ่ายน้อยกว่าต่างชาติประมาณ 1 ใน 3 คนไทยใช้จ่ายวันละ 2,000 ต่างชาติวันละ 4,000 เป็นอย่างต่ำ
เกาะล้านโฉมใหม่ เราแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน 1)พัฒนาด้านสาธารณูปโภค ปรับปรุง 2 ท่าเรือหลัก คือ ท่าหน้าบ้าน ก่อสร้างมา 25 ปีแล้ว สร้างท่าเรือใหม่มีพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร กับ ท่าเรือหาดตาแหวน ให้บริการนักท่องเที่ยวมา 20 ปี
สร้างท่าเรือใหม่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ จุดชมวิว บริเวณชายหาด บริเวณลานร่มร่อน เคยใช้แข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่39 ที่จ.ชลบุรี เป็นเจ้าภาพมาแล้ว และจะเพิ่มท่าเรือขนส่งขึ้นอีกแห่งไว้ขนส่งโดยเฉพาะ
เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ปัจจุบันใช้น้ำบาดาล, ซื้อน้ำจากเรือที่ขนน้ำมาขาย, ซื้อน้ำจาก East Water บนเกาะ มีกำลังผลิต 300 คิว/วัน คิวละ 71 บาท มีทางเลือก 2 ทาง
1)เราได้ประสานกับการประปาส่วนภูมิภาคเดินท่อประปาลอดใต้ทะเล 7 กิโลเมตรเดินคู่มากับสายเคเบิลไฟฟ้า ใช้งบประมาณ 600 ล้าน 2)ให้ East Water ขยายกำลังผลิต จาก 300 คิว/วัน เป็นไม่ต่ำกว่า 3000 คิว/วัน ปัจจุบันคนบนเกาะใช้น้ำวันละเกือบ 3,000 คิวต่อวัน
เรื่องปรับปรุงด้านกายภาพ, เส้นทางการจราจร, เส้นทางการท่องเที่ยว จะมีการติดตั้งป้ายบอกทางนักท่องเที่ยว, ออกแบบปรับปรุงถนนที่แคบหรือมีความลาดชันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น สร้างเส้นทางจักรยาน, ทางวิ่งเทรล, ปรับปรุงทางขึ้นลงจุดชมวิวเขาเรดาร์ ที่มองเห็นภูมิทัศน์เกาะล้านได้ 360 องศา ตอนนี้ทางขึ้นลงแคบ ไม่สามารถสวนกันได้ ก็ทำให้ปลอดภัยมากขึ้น
เรื่องจัดการขยะมูลฝอย ช่วงก่อนโควิดมีขยะวันละ 20-40 ตัน จากนักท่องเที่ยว 20,000 คน ใช้วิธีเก็บขึ้นเรือไปกำจัดบนฝั่ง ประสบปัญหาหลายเรื่อง ทำให้มีขยะตกค้างอยู่บนเกาะ 50,000 ตัน ประชาชนเห็นชอบให้สร้างเตาเผาขยะไร้มลภาวะ มีประสิทธิภาพกำจัดขยะได้วันละ 50 ตัน ใช้งบประมาณ 400 ล้าน จะเริ่มก่อสร้างปีหน้า
และสร้างศูนย์รับแจ้งเหตุบนพื้นที่เกาะล้าน เป็นตู้แจ้งเตือนฉุกเฉิน 8 หาด 29 เครื่อง ติดตั้งกล้องวงจรปิดและศูนย์ควบคุมความปลอดภัย 189 ตัว สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ"
- Old Town นาเกลือ
'นาเกลือ' เป็นชุมชนเก่าโบราณ ปีนี้ สนธยา บอกว่า จะพัฒนาโครงสร้าง สร้างอาคารจอดรถ พัฒนาพื้นที่สีเขียว พัฒนาคลองนกยาง คลองนาเกลือ ป่าโกงกาง ให้เป็นจุดศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สร้างท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้าน สร้างสะพานเชื่อมไปชมธรรมชาติ บริเวณลานโพธิ์-นาเกลือ คลองนกยาง-คลองนาเกลือ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน กำลังจัดสร้างระบบระบายน้ำเชื่อมโยงกับระบบบำบัดน้ำเสีย บริเวณคลองนาเกลือเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของรายละเอียด โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถและจำหน่ายสินค้าของฝาก เป็นอาคาร 5 ชั้น จอดรถยนต์ได้ 239 คัน รถจักรยานยนต์ 90 คัน ตลาดนาเกลือ ที่ผ่านมาต้องจอดตามข้างทาง จะแล้วเสร็จในปี 2565
โครงการที่ 2 พัฒนาตลาดขายอาหารทะเลสด บริเวณลานโพธิ์นาเกลือ เป็นอาคารชั่วคราว มีที่นั่งให้รับประทาน โครงการที่ 3 ปรับปรุงสวนเฉลิมพระเกียรติ ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ให้ประชาชนได้ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ โครงการที่ 4 ก่อสร้างทางเดินชมธรรมชาติ ตลาดลานโพธิ์ เป็นจุดชมทัศนียภาพ-ลานกิจกรรมปากคลองนาเกลือ-คลองนกยาง
โครงการที่ 5 สร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าโกงกาง ที่เหลืออยู่จุดเดียวของพัทยา โครงการที่ 6 สร้างท่าเทียบเรือประมงของชาวนาเกลือ ความยาว 800 เมตร จากบริเวณลานโพธิ์ ปัจจุบันนี้ใช้แพพลาสติกเป็นทุ่นลอยอยู่ จะสร้างเป็นท่าเทียบเรือท่องเที่ยวและท่าเรือประมงพื้นบ้าน
โครงการที่ 7 สร้างประตูน้ำป้องกันน้ำทะเลหนุนเข้ามาในคลองนาเกลือ ช่วงที่มีน้ำทะเลหนุน ไม่สามารถระบายน้ำได้ ต้องมีปั้มน้ำสูบน้ำระบายออกไปสู่ทะเล โครงการที่ 8 อนุรักษ์อาคารไปรษณีย์เก่า เชิงสะพานยาว ทำเป็นศูนย์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ชุมชน
ส่วนป่าโกงกางแหล่งสุดท้ายของเมืองพัทยา รุ่งโรจน์ โล่ห์ทองคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชนวัดช่องลม บอกว่า กำลังอยู่ในสภาวะย่ำแย่
"เรามีป่าชายเลนแค่ 1 กิโลเมตร มีขยะเยอะมาก ลอยมากับน้ำ มาจากที่อื่น ลอยตามน้ำขึ้นน้ำลง ที่ตรงนี้ติดกับทะเล มันก็เลยเข้ามาในคลอง มาติดตรงต้นเล็กๆ ตรงราก พอขยะเยอะ สัตว์น้ำน้อย พอเราเก็บออก สัตว์น้ำก็เริ่มเข้ามา เป็นปูเล็กๆ มีนกอพยพ ไม่รู้ว่ามีกี่ชนิดกันแน่
เรากำลังจะทำสะพานทางเดินเล็กๆ ไปชมป่าโกงกาง สองอาทิตย์มาเก็บครั้งหนึ่ง เก็บเวลาหลังน้ำลง ช่วงน้ำขึ้นก็มีสวิงมาตัก ขยะอันดับหนึ่งคือพลาสติก พอขายขยะแล้วก็ปันผลให้สมาชิกธนาคารขยะ ส่วนมากเป็นเยาวชน
เราปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เขาจะรู้วิธีคัดแยกขยะ แล้วก็อยากร่วมกิจกรรมด้วยความสนุก ก็เลยปลูกฝังเยาวชนเป็นส่วนใหญ่"