ดัน 'ตลาดเวชภัณฑ์ไทย' ด้วยการวิจัย - ลงทุน
ปัจจุบัน ภาพรวมตลาดเวชภัณฑ์ไทย มีมูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาท ผลิตในประเทศ 30% หรือราว 5 หมื่นล้านบาท และกว่า 70% เป็นการนำเข้า โดยเฉพาะยาต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ขณะที่การส่งออกส่วนใหญ่อยู่แถบ CLMV
"ภก.บุศรินทร์ วนาสวัสดิ์" รองประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ฯ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน ก้าวเล็ก...ฝันใหญ่...Go Phar Together สู่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรรม ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย ว่ายาส่วนใหญ่ที่ไทยผลิตเป็นยาสามัญ เช่น ยาเบาหวาน ความดัน ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคที่ประชาชนไทยเป็นส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมในประเทศจึงซัพพอร์ตโรคเหล่านี้
ปัจจุบัน มูลค่าตลาดเวชภัณฑ์ของไทยราว 1.5 แสนล้านบาท แต่มูลค่าการผลิตในประเทศยังคงน้อยราว 30% หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก ณ วันนี้ผู้บริโภคภาคประชาชนที่ต้องการเข้าถึงยาส่วนใหญ่มักจะมีโรคใหม่ๆ และโรคใหม่ ยาใหม่มีมูลค่าสูง เช่น ยามะเร็ง แต่ประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายอย่าง และค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การส่งออกจะอยู่ใน CLMV เป็นหลัก ซึ่งประเทศรอบข้างเขาเชื่อมั่นในยาของไทย แต่คนไทยค่อนข้างมั่นใจยาจากต่างประเทศมากกว่า สำหรับการนำเข้าอยู่ที่ 70% ส่วนใหญ่เป็นยาต้นแบบ จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ฯลฯ ที่เน้นอินโนเวชั่น
“ในสภาวะโควิด-19 หลายคนมองเห็นว่านวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ เช่น PPE ที่สามารถผลักดันให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ หากมองดูสภาพแวดล้อมต่อไปในอนาคต เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงนวัตกรรมได้ เป็นโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรให้งานวิจัยผลักดันสู่พานิชย์ ประเด็นสำคัญ คือ เปลี่ยนทัศนคติของคนไทย ต้องเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในไทย เพราะจากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมยา คนไทยมักจะไม่เชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มอาเซียน เขาเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์จากไทยมาก จึงเป็นประเด็นที่ต้องเน้นย้ำ” ภก.บุศรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะภาคการศึกษา ที่ผ่านมาได้จัดตั้งบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise) ที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพของจุฬาฯ จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) ในการสร้างนวัตกรและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อคนไทย ล่าสุด ผลิตภัณฑ์ “ไฟท์ฝุ่น สเปรย์” (PhytFoon Spray) สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CU Pharmacy Enterprise (CUPE) กับภาคเอกชน ในการต่อยอดงานวิจัยไปใช้งานจริงสู่สังคมไทย
พร้อมทั้ง งานทางด้านบริการวิชาการภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและการตรวจวิเคราะห์เซลล์สัตว์ทดลอง นอกจากนี้ CUPE ยังให้โอกาสในการสร้างงานแก่นิสิตที่จบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ ในการได้ปฏิบัติงานร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย
“ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การบริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความสมดุล งานวิจัย ต้องตอบโจทย์ เป็นที่ต้องการตลาด มีความต้องการ และมีความรวดเร็ว หากช้าจะไม่ทันตลาดวายหมด เช่น วัคซีน หากวัคซีนช้าเกินไป คนอื่นจะครองหมดและเราจะแทรกตัวยาก ดังนั้น เป้าหมายคือ งานวิจัยของไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา และประชาชน ทำให้บ้านเราพึ่งพาเทคโนโลยีตนเอง เภสัชกรไม่ใช่แค่เพียงจ่ายยา แต่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้ เป็นก้าวเล็ก แต่เกิดผลใหญ่ เป็นฝันที่เป็นจริง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาด้านเวชภัณฑ์ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) “นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า จากที่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ อาจมองว่า อย. เป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ แต่ในทางกลับกัน เวลาคนไปซื้อสินค้าจะมองหามาตรฐานจาก อย. เพราะที่ผ่านมา อย. มองผู้บริโภคเป็นหลัก หากผลิตภัณฑ์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยจริง จะไม่ปล่อยออกไปสู้ตลาด ผู้ผลิตต้องดำเนินการเอกสารให้ครบถ้วน ทำให้หลายคนมองว่าเป็นอุปสรรคในการขึ้นทะเบียน
“อย. มีการปรับเปลี่ยนการทำงาน โดยพูดคุยกับผู้ประกอบการให้ดำเนินการ โดยเตรียมการยื่นเอกสารอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยให้ขึ้นทะเบียนได้เร็ว ทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าที่ปลอดภัย ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา มีการพูดคุยในประเด็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาอย่างไรให้สามารถเดินต่อไป ประกอบกับมีโควิด-19 กระบวนการต่างๆ ถูกเร่งและผลักดันให้เร็วขึ้น เช่น ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าหน้ากากอนามัยขาดแคลน จากเดิมมีเพียง 10 บริษัท ปัจจุบันมี 40 กว่าบริษัท แต่เดิมไม่มี N95 ต้องนำเข้า แต่ตอนนี้มี 3-4 บริษัท ด้านชุด PPE ไม่สามารถผลิตได้ต้องนำเข้าเช่นกัน ปัจจุบันสามารถผลิตได้ และวัคซีน เป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้มีการผลิต โดยทั้งหมด อย. ได้เข้าไปร่วม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหน้ากาก ชุด PPE และวัคซีน ว่ามาตรฐานควรเป็นอย่างไร”
“ทั้งนี้ แต่เดิมการขอขึ้นทะเบียนต้องให้ผลิตภัณฑ์จบสิ้นจึงมายื่น แต่ปัจจุบัน อย.เข้าไปดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึง วัคซีน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการนำเข้า ปัจจุบันมีการวิจัยในประเทศ ต้องยอมรับว่า อย.ต้องเรียนรู้ด้วย การทำให้วิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ยังพยายามผลักดันให้ Ecosystem ครบทั้งระบบ อย.เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน Ecosystem แต่ประเทศไทยจะสามารถไปได้ทั้งเครื่องมือแพทย์ และยา รวมถึงอุตสาหกรรมหลายอย่างที่สามารถสร้างมูลค่า ต้องมีการทำงานร่วมกันเป็นทีมไทยแลนด์ เพื่อให้ Ecosystem สมบูรณ์” นพ.สุรโชค กล่าว
ด้าน “ซ่อนกลิ่น พลอยมี” รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่เน้นการวิจัยพัฒนา เขาไม่มีทรัพยากร แต่มีสิ่งเดียวคือ สมอง ดังนั้น จึงต้องเร่งการพัฒนาเพื่อแข่งขันกับตลาดโลก งบประมาณประเทศ 1 ใน 5 เป็นเรื่องของการวิจัย และมีกองทุนใช้ในการวิจัย ทั้งฝึกอบรมดันผู้วิจัยให้เป็นนักธุรกิจ ในอดีตที่งานวิจัยของไทยอยู่บนหิ้ง นั้นคือ นักวิจัยไม่มีลักษณะของการนำไปต่อยอดทางธุรกิจ แต่สิงคโปร์มี และยังมีกองทุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองทุนสร้างห้องแล็บ กองทุนสร้างความร่วมมือระหว่างเอกชน รัฐบาล สถาบันศึกษา เป็น Ecosystem ของสิงคโปร์
กลับมาที่ประเทศไทยซึ่งกำลังสร้างตรงนี้ บีโอไอ ในฐานะส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ส่งเสริมภาคการผลิต ซึ่งมองว่าการวิจัยเป็นจุดที่สำคัญ บีโอไอให้การส่งเสริมมาอย่างยาวนาน หลังจาก 5-6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีน้ำท่วมใหญ่ ค่าแรงสูง ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา การวิจัยพัฒนาเริ่มตื่นตัว ดังนั้น บีโอไอ จึงเริ่มมีการปรับบทบาทในการส่งเสริม
“บีโอไอ ไม่ใช่ส่งเสริมด้านเงินทุน แต่ส่งเสริมยกเว้นภาษี ซึ่งสำคัญ เพราะหากธุรกิจมีกำไรต้องจ่ายกำไร 20% แต่หากได้รับการส่งเสริมไม่ต้องจ่าย และให้เต็มที่ 8 ปีเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนา เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสร้าง Ecosystem ที่ดีในการวิจัยพัฒนา แต่ไม่ใช่แค่ทำวิจัยเท่านั้น ต้องมีการต่อยอดสู่การผลิต จึงจะมีโอกาสได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ”
ขณะเดียวกัน บริษัทที่ไม่ได้ทำวิจัยเอง ค่าใช้จ่ายในการจ้างทำวิจัย สามารถนำมายกเว้นภาษีได้ นอกจากนั้น หากต้องการฝึกบุคลากร ในการทำวิจัยเอง การฝึกอบรมวิจัยพัฒนาขั้นสูง สามารถนำมายกเว้นภาษีได้เช่นกัน นอกจากนี้ Ecosystem ทั้งหลาย ทั้งด้านการบริการ ผลิตยา อาหาร เป็นกิจกรรมที่บีโอไอส่งเสริมทั้งสิ้นและให้สิทธิพิเศษ
“นอกจากนี้ ยังมีการออกนโยบายเมื่อเดือนที่ผ่านมา สำหรับศูนย์วิจัยทางคลินิก มีหน่วยงานให้คำปรึกษา สามารถมาขอรับการส่งเสริมได้ Ecosystem ประกอบด้วยหลายส่วน ต้องอาศัย อย. เงินทุน ฯลฯ ต้องร่วมมือกัน และบีโอไอในตอนนี้ก็พยายามหาพาร์ทเนอร์ในการสร้าง Ecosystem ให้ก้าวหน้าต่อไป” ซ่อนกลิ่น กล่าว
- เปิดประตูสู่ตลาดทุนด้วยเทคโนโลยี
"ดร.นภนวลพรรณ ภวสันต์" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กลต. มีนโยบายสำคัญ ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่เอื้อให้สตาร์ทอัพอย่าง คราวด์ฟันดิง ในการระดมทุนให้สตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แบ่งเปน 4 ประเภท คือ 1. Donation-Based การระดมเงินในรูปแบบของการบริจาค สนับสนุนกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน 2. Reward-Based การระดมเงินแบบให้สิ่งตอบแทน ทำสำเร็จ จะได้รับสินค้าชิ้นนั้น หรือของที่ระลึกเพื่อเป็นสิ่งตอบแทนคืนให้แก่คนที่บริจาค
3. Peer-to-Peer Lending การระดมเงินที่เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างกัน โดยไม่มีสถาบันการเงินมาเป็นคนกลาง สำหรับคนที่ต้องการกู้ และ มีเงินทุนให้กู้ เป็นการตัดตัวกลางออกไป ภายใต้การกำกับธนาคารแห่งประเทศไทย และ 4. Investment-Based การระดมเงินที่มีลักษณะการลงทุน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ ระดมทุนโดยให้นักลงทุนเป็นผู้ถือหุ้น การออกหุ้น ผู้ให้เงินจะได้รับสิ่งแลกเปลี่ยนเป็นหุ้น อาจได้เงินปันผลหรือขายหุ้นต่อได้ และ ระดมทุนโดยให้หุ้นกู้ นักลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ หากผลิตสินค้าเสร็จ เอาเงินมาคืนหุ้นกู้ ตอบแทนเป็นดอกเบี้ย