เปลี่ยน ‘ด้อย’ เป็น ‘เด่น’ สร้างอาชีพให้ผู้พิการ
ข้ามคำว่า “น่าสงสาร” สร้างโอกาสด้วยการสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการ ได้ลืมตาอ้าปากและมีความภาคภูมิใจที่ยืนได้ด้วยตัวเอง
เมื่อเอ่ยถึง “ความพิการ” หรือ “ผู้พิการ” ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร? ความสงสาร ความเห็นใจ น่าจะเป็นหนึ่งในความรู้สึกของใครหลายๆ คน
แน่นอนว่าผู้พิการไม่สามารถใช้ร่างกายได้เหมือนคนปกติ แต่นิยามของการใช้ร่างกายได้ไม่เหมือนคนปกติ ไม่ได้หมายความว่าผู้พิการไม่สามารถทำอะไรได้เลย ความเป็นจริงที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกไปเท่าไรนัก นอกจากภาพความน่าสงสารของผู้พิการ คือ ศักยภาพและความสามารถของผู้พิการอีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับการฝึกฝนและพัฒนาทักษะด้านต่างๆ จนทำอะไรได้มากกว่าคนปกติทั่วไปด้วยซ้ำ
ความพิการสำหรับผู้พิการหลายคนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของ “ความด้อยค่า” หรือ “ด้อยโอกาส” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้พวกเขาได้รับโอกาส ความอดทนและความพยายามทำให้หลายคนสามารถทลายขีดจำกัดความไม่พร้อมทางกายภาพ ลุกขึ้นมาประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้
ปัจจุบันมีกฎหมายที่ส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ จ้างคนพิการเข้าทำงานในองค์กร
แต่กลับมีคนพิการเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีงานทำ เนื่องจากผู้พิการจำนวนไม่น้อยที่อยู่ห่างไกลเมืองใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านั้นได้ รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงาน (15-59 ปี) ทั้งหมด 853,504 คน ในจำนวนนี้ไม่ได้ประกอบอาชีพด้วยสาเหตุต่างๆ 182,031 คน ภาคอีสานเป็นภาคที่มีผู้พิการมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40.08 ของประเทศ
จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการเสริมศักยภาพอาชีพคนพิการระดับตำบล จังหวัดเลย’ โครงการนำร่องที่ “มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม” ได้ริเริ่มขึ้นจากการเข้าร่วม โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ภายใต้การสนับสนุนของ “กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา” (กสศ.) มูลนิธิฯ เข้ามารับบทบาทขับเคลื่อนให้ "งานอาชีพ" และ "โอกาส" เชื่อมโยงไปถึงผู้พิการที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับ เนื่องจากจังหวัดเลยมีปริมาณผู้พิการที่ยังไม่ได้ระบุอาชีพอาศัยอยู่จำนวนมาก
“โครงการเพาะเลี้ยงหนูนาทางกลุ่มตั้งใจไว้ว่าจะให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กับสมาชิกคนพิการในตำบลกกดู่ที่สนใจเลี้ยงเป็นอาชีพ ให้ผู้ที่สนใจมาลงทะเบียนเอาไว้และคาดว่าสิ้นปีนี้จะได้แจกจ่าย หลังได้รับความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงเรียบร้อยแล้ว” อนุสรณ์ วันหากิจ ประธานชมรมคนพิการ ตำบลกกดู่ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย กล่าว
แนวทางการดำเนินโครงการเป็นการฝึกฝนการประกอบอาชีพของผู้พิการ “เชิงบุคคล” ด้วยการให้ความรู้ พัฒนาทักษะ รวมถึงสนับสนุนวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการพัฒนาวิธีคิดให้ผู้เข้าร่วมโครงการมองเห็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิต สร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้พิการดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคมที่ตนอยู่อาศัย เมื่อคนหนึ่งพลิกฟื้นชีวิตของตนเองได้ เกิดการรวมกลุ่มในชุมชนที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลและเห็นคุณค่าของกันและกัน นั่นหมายถึงชุมชนและสังคมที่จะค่อย ๆ พัฒนาขยายวงกว้างต่อไปเป็นลำดับ
เช่นเดียวกันกับ “โครงการสร้างพลังคนพิการประกอบอาชีพและสร้างรายได้” เครือข่ายกลุ่มคนพิการ “มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ” อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่สร้างทั้งแรงบันดาลใจและโอกาสซึ่งเป็นแสงสว่างให้ผู้พิการกว่าร้อยคนใน 4 อำเภอสามารถยืดหยัดใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ ได้รับการให้เกียรติและมีความเสมอภาคเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม
พัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างพลังคนพิการ ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เครือข่ายกลุ่มคนพิการของมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การดำเนินโครงการเริ่มต้นจากการเลือกประเภทสินค้าจากการวิจัยตลาด และอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน เช่น การเลี้ยงหม่อน เลี้ยงไหม เลี้ยงวัวควาย งานซ่อม งานจักรสาน ตัดผม และค้าขายผักตามฤดูกาล ถ้าเป็นงานฝีมือและบริการผู้พิการจะได้รับการฝึกฝนทักษะการผลิตสินค้าและบริการ หัวใจสำคัญ คือ การเปิดพื้นที่ให้กลุ่มเป้าหมายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล แล้วส่งต่อการเรียนรู้ผ่านรุ่นสู่รุ่น
“คนประกอบอาชีพเดียวกันมีรายได้แตกต่างกัน คนที่มีรายได้มากกว่ายินดีแบ่งปันเทคนิคแก่เพื่อน เพราะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ได้สอนเพื่อนและได้รับการชื่นชม มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ เขาโดนคนล้อเลียนจนเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่พอคิดได้ว่าตัวเองก็มีมือมีเท้าและสมองยังดี เลยเปลี่ยนใจไปเป็นสาวโรงงาน แต่คนพิการทางกายภาพส่วนมากโดนล้อเลียนเยอะ น้องคนนี้เลยอยากกลับมาอยู่ที่บ้าน ได้เข้าร่วมโครงการ เข้ามาเรียนรู้การสานเปล เพราะทำแล้วมีความสุขมากกว่า”
เมี่ยงน้ำปลาร้า ปลาดุกย่าง ส้มตำใส่ผักก้านจอง ข้าวปุ้นฮ้อน หรือ ขนมจีนร้อน
เป็นเมนูอาหารพื้นถิ่นที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มผู้พิการในโครงการเสริมศักยภาพอาชีพคนพิการระดับตำบล จังหวัดเลย อาหารรสเยี่ยมที่ปรุงขึ้นด้วยวัตถุดิบสด สะอาดและปลอดภัย จากพืชผักสวนครัวที่ปลูกเอง และจากปลาที่เลี้ยงในบ่อตามธรรมชาติ
บทสนทนาที่เกิดขึ้นจากการผลัดเปลี่ยนกันเล่าเรื่องย้อนวันวานของกลุ่มผู้พิการ ตั้งแต่วันที่ไม่ยอมรับในความพิการ ไม่กล้าออกมาพบปะผู้คน ไม่ยอมรับนับถือตัวเอง ไม่แม้แต่อยากเจอคนพิการด้วยกันเอง มาจนถึงวันนี้ที่สามารถพูดคุยถึงความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้อย่างสรวลเสเฮฮา ไม่มีใครในกลุ่มพะวงอยู่กับความพิการของตนเองอีกแล้ว เรื่องเล่าของพวกเขาเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจที่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้เหมือนคนทั่วไป ความสัมพันธ์ที่ดีทำให้พวกเขาเห็นพลังของการใช้ชีวิตร่วมกัน ซ้ำยังเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลให้กับผู้พิการคนอื่นๆ ได้อีก
มองอีกมุมหนึ่งอาจไม่ใช่เพราะความไม่สมบูรณ์ทางร่างกายที่ทำให้ผู้พิการรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจและสิ้นหวัง จนทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจ แต่เพราะข้อจำกัด ความไม่เข้าใจ และความไม่เสมอภาคหลายด้านที่ปิดกั้นโอกาส ทำให้ผู้พิการไม่สามารถเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับชีวิตของพวกเขา การประกอบอาชีพไม่ใช่แค่เรื่องของการหารายได้ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่ยืน ไม่มีศักดิ์ศรี เพราะไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองได้อย่างเต็มเปี่ยม เพราะการสร้างอาชีพให้กับผู้พิการเป็นการพัฒนาความไม่สมบูรณ์ทางกายภาพที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการให้ดีขึ้นได้จากศักยภาพของพวกเขาเอง