วิธีจูนความสัมพันธ์คนในบ้าน หาก 'ล็อคดาวน์รอบ2'
การอยู่บ้านแบบ 100% อาจเป็นฝันร้าย ถ้าความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไม่เข้าใจกัน
ในช่วงที่เราต้องเว้นวรรคอยู่บ้านนานๆ เพื่อให้ปลอดโควิด-19 ทั้งประเทศ เมื่อถูกล็อคอยู่กับบ้าน
ใช้ชีวิตอยู่ “ด้วยกัน” ยาวนานแบบ 24 ชั่วโมง อาจนำไปสู่ “เครียดสะสม” จนเลยเลยเถิดไปถึง “ความซึมเศร้า”
แม้ความเศร้า ความเครียดเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็เป็นได้ แต่เราจะแยกยังไงล่ะ ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้า
“หากเป็นครอบครัวที่มีฐานะไม่มีผลกระทบเรื่องเงินทอง หรือเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อยู่แล้ว ช่วงนี้อาจเป็นโอกาสทองที่จะได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมีกิจกรรมร่วมกัน แต่ในครอบครัวที่พื้นฐานความสัมพันธ์ไม่ได้ดีอยู่แล้ว ยังมีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเข้ามาซ้ำเติมอีก โอกาสเครียดย่อมสูง” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความเห็น เธอบอกว่าเมื่อก่อนยังต่างคนมีหน้าที่ภารกิจนอกบ้าน ก็เป็นทำให้ไม่ต้องเผชิญหน้า แต่ตอนนี้ แม้ช่วงแรกสถานการณ์อาจยังดีอยู่ พอสักพักความเครียดก็จะเริ่มมา
ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศจีนและฝรั่งเศส มีผลออกมาชัดเจนว่าสถิติความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านชัดเจน หรืออย่างในประเทศไทยเรา ก็พบว่ามีการเพิ่มคู่สายบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
- เศร้า เพราะไม่มีใครฟัง
ผศ.พญ.ทานตะวันเสริมว่า เด็กและวัยรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่มีปัญหาการเรียน ครอบครัว ความรัก และอนาคต แต่หากวิเคราะห์จะพบว่าปัญหาของวัยรุ่นมักมีความเกี่ยวโยงกับพ่อแม่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพราะการเลี้ยงดูมักมีผลต่อทุกเรื่อง จึงมองว่าพ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ร้อยละ 90 เด็กคุยกับพ่อแม่เป็นตัวเลือกสุดท้าย
สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้ง Knowing Mind เสริมว่า เวลาเด็กมีปัญหามักถูกเหมารวมว่าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งหากถูกวินิจฉัยว่าเป็น ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยา แต่ต้นเหตุปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไข
“ทุกวันนี้ผมจะเข้าไปในทวิตเตอร์ พิมพ์แฮชแท็ก โรคซึมเศร้า เราจะได้พบทุกปัญหาวัยรุ่นในนั้น กรีดแขนโชว์ก็มี”
เขาบอกปัจจุบันสังคมตีความปัญหาทางจิตใจถูกนิยามให้แคบลงโดยซึมเศร้า แต่บางเรื่องที่เรามีปัญหาในจิตใจอย่างอื่น ซึ่งอาจต้องไปดูที่ปัญหาก่อน ซึ่งพอเริ่มที่สมอง มักรักษาด้วยยาเป็นหลัก ไม่มีการหาทางออกด้านอื่น
- ฟังเสียงข้างใน
เป็นปกติ ที่คนฟังส่วนใหญ่มักไม่ได้เป็นผู้ฟังอย่างเดียว แต่จะมีการตัดสิน หรือมีคำแนะนำ เพราะความปรารถนาดีอยากให้ลุล่วงปัญหา
แต่ความจริงแล้ว อีกหนึ่งหนทางช่วยเยียวยาจิตใจคนซึมเศร้า คือต้องรู้จัก “ฟัง” เสียงตัวเองภายในเสียก่อน
“ต้องเริ่มจากเราต้องมองเห็นปัญหา ยอมรับว่าปัญหาเป็นปัญหา” ทรายให้ความเห็น “ทรายเพิ่งมายอมรับตัวเองว่า ปัญหาในชีวิตเราคือการรับมือกับความคาดหวังของแม่ เมื่ออายุ 30 กว่านี้เอง”
ส่วน ผศ.พญ.ทานตะวัน กล่าวถึงการทำความเข้าใจกับภาวะ “Lost Connection” หรือการสูญเสียการเชื่อมโยง ที่อาจช่วยให้คนเราเข้าใจความหมายของชีวิตมากขึ้น
“มนุษย์เราต้องการอาหารทั้งกายและใจ อาหารกายมีห้าหมู่ ส่วนใจมีสิบหมู่ หนึ่งในนั้นคือ Connection หรือความเชื่อมโยง ซึ่งเราอาจเริ่มจากเชื่อมโยงกับตัวเอง ฟังจากข้างใน ผ่านการทบทวนตัวเอง ค้นหาความหมายความต้องการ เพราะที่ผ่านมา บางคนใช้ชีวิตโดยไม่รู้ความต้องการของตัวเองมาก่อน รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงอดีตของเรา จะทำให้เข้าใจตัวเองลึกซึ้งเมื่อความเชื่อมโยงเกิดแล้ว เมื่อเราฟังเสียงภายในเราก็จะมีพลัง ชีวิตมีความหมาย มีแพชชันมากขึ้น” พร้อมเสริมว่า
”นอกจากนี้ มนุษย์จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งมีผลกับสภาวะจิต หากเราเชื่อมกับปัจจุบันและอดีตได้ดีและเข้าไป เมื่อมองไปข้างหน้าเราก็ทำได้ดี รวมถึงเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่นธรรมชาติ”
สมภพ แชร์แนวทางการบำบัดความซึมเศร้าจากประสบการณ์ทำงานของเขาเสริมว่า
“เราชวนเขามาสำรวจทำความเข้าใจแง่มุมต่าง ๆ ภายใน ว่าประเด็นไหนบ้างที่เขาติดขัดและเป็นปัญหา และอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ เวลาที่เราเป็นทุกข์ บางทีมันก็คือโอกาสทบทวนความรู้สึกของเรา ที่จะทำอย่างไรให้เข้าใจตัวเองว่าอะไรคือเราต้องการอะไร ต้องการอะไรจากสังคม อะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต”