“TBS Triple C” ดัชนีสภาพคล่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ครั้งแรกของไทย
ข้อมูลจากเกือบ 500,000 บริษัท ได้รับการรวบรวมและประมวลผลเป็นดัชนี "TBS Triple C" ที่เปรียบเสมือนกุญแจไขรหัสความสำเร็จทางธุรกิจ
นี่ถือเป็นโอกาสทองของบรรดาผู้ประกอบการที่จะมีข้อมูลทั้งคู่แข่งและคู่ค้าอยู่ในมือ เพื่อประเมินความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ
สุดยอดดัชนีนี้มีชื่อว่า TBS Triple C มีที่มาจาก 3C ได้แก่ Cash Conversion Cycle หรือวงจรเงินสด เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นล่าสุดของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 82 ปี คณะพาณิชยศาสตร์ฯ ที่จับมือกับบริษัทด้านข้อมูลธุรกิจอย่าง บริษัท ครีเดน เอเชีย (Creden)
ความสำคัญของดัชนี “TBS Triple C” สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ส่งผลให้มีแนวโน้มว่า Supplier (ผู้ผลิต) มีระยะเวลากว่าจะได้รับเงินจากการผลิตสินค้าและบริการยิ่งนานขึ้น หมายความถึงภาวะ “ขาดสภาพคล่อง”
นอกจากนี้ในความแตกต่างของขนาดบริษัท บริษัทใหญ่จะมีอำนาจต่อรองที่มากกว่า และสภาพคล่องย่อมดีกว่าเช่นกัน ส่วน SMEs หรือบริษัทรายย่อยจะต้องแบกภาระต้นทุนด้านการเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยถูกนำมาพูดในวงกว้างทั้งที่มีผลกระทบต่อทุกธุรกิจและทุกขนาดองค์กร
“ปกติดัชนีตัวนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อดูสภาพคล่องของแต่ละสมาชิกใน Supply Chain ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือปีนี้ ครีเดน บริษัทที่ทำฐานข้อมูลเขานำข้อมูลของบริษัทเกือบ 500,000 แห่งที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มาแชร์
เราดูได้ในลักษณะของทั้งประเทศ, แต่ละพื้นที่, แต่ละจังหวัด และแต่ละ Sector ธุรกิจด้วย เพราะแต่ละอันไม่เหมือนกัน อีกอย่างที่เราดูได้คือจากขนาดของบริษัท เราอาจพบเลยว่าบางพื้นที่เสียเปรียบมากด้านการเงินหรือจากขนาดของบริษัท ถ้าเราได้คุยกับ SMEs หรือ Start Up ปัญหาใหญ่ของเขาเลยคือเงิน เขาต้องมีเงินหรืออย่างน้อยเขาต้องมีกระบวนการที่ทำให้อยู่ต่อได้” รศ.ดร. รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ กล่าว
สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ในทางทฤษฎีนี่คือข้อมูลสาธารณะ แล้วนำมาจัดการและรวบรวมให้เป็น Analytics (บทวิเคราะห์) โดยยังมี Ratio ที่เป็นมาตรฐานของข้อมูลด้านการลงทุนทั่วไป
ด้าน ธนิศร์ คุณีพงษ์ Business Data & Strategy บริษัท ครีเดน เอเชีย เปิดเผยว่า “ในอนาคตบริษัทมีแผนจัดทำข้อมูลต่อยอดจาก TBS Triple C เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดชั้นปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจ นอกเหนือจากการนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายของรัฐหรือการพิจารณาความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ
Data ที่เรามี เราเก็บมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นดัชนีนี้จะเป็นตัวสะท้อนว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดเล็ก เป็นอย่างไรกันบ้าง ในหน้าเว็บไซต์ creden.co/creditscore เมื่อเข้าไปแล้วจะค้นหาข้อมูลบริษัททั้งประเทศไทยได้เลย มีใครเป็นกรรมการบริษัท จดทะเบียนเมื่อไร งบการเงินเป็นอย่างไร มีข้อมูลทุกบริษัทแบบลงลึกเป็น Big Data แล้วเราได้เพิ่มดัชนี TBS Triple C เข้าไป ฉะนั้นเราจึงเข้าไปดูข้อมูลนี้ของทุกบริษัทในประเทศไทยได้เลยว่ามีสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละแห่งเป็นอย่างไร เพราะเราเอาข้อมูลมาใส่แล้วใช้ A.I. วิเคราะห์อีกที”
การสร้างฐานข้อมูลที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง สอดคล้องกับแนวคิดของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ คือ Diversity, Wisdom และ Impact โดยเฉพาะ Impact ที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้สังคม ภายใต้แนวคิดว่าสิ่งที่ทำจะต้องเกิดผลกระทบเชิงบวกขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงปราชญ์บนแผ่นกระดาษ เพื่อสานต่อปณิธานในการให้มหาวิทยาลัยเป็นบ่อน้ำที่ดับกระหายแก่ประชาชน
คณบดีบอกว่า “นี่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกธุรกิจ เพราะเขาจะได้รู้ตัวเลขของเขาเอง และตัวค่าเฉลี่ยมาตรฐานว่าเขาอยู่ห่างไกลแค่ไหน ข้อมูล Triple C นี้ทุกคนเอาไปใช้ได้เลย และในเมื่อเรามีพาร์ทเนอร์ที่ทำฐานข้อมูล สำหรับบริษัทที่อยากรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน อยากรู้ข้อมูลคู่แข่ง ก็ดูได้หมด”
ในแง่สถาบันการศึกษา รศ.ดร. รุธิร์ พนมยงค์ อธิบายว่าการที่สถาบันการศึกษาเป็นตัวชี้นำสังคม นี่คือข้อมูลอย่างหนึ่ง เพราะถ้าสังเกตให้ดี ข้อมูลที่ถูกประกาศออกมามีอยู่สองลักษณะ ได้แก่ Macro Data เช่น ข้อมูลของสภาพัฒน์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น กับ ข้อมูลด้านความรู้สึก เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึก แต่สิ่งที่ขาดคือดัชนีในระดับองค์กร โดยที่ในประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน ที่เข้าถึงฐานข้อมูลได้ใหญ่ขนาดนี้ เป็นส่วนผสมระหว่าง Big Data กับข้อมูลจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ มธ.
ที่ผ่านมาข้อมูลเชิงลึกอาจไม่ได้รับการเปิดเผยคือเข้าถึงได้มากนัก การเข้าถึงฐานข้อมูลเชิงลึกได้ง่ายดายแบบนี้จึงนับเป็นการพลิกโฉมวงการธุรกิจในประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ และจะไปสู่ทางรอดของผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยรู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหนของจักรวาลธุรกิจของตน