สช.เสนอปล่อยเงินกู้ ร.ร.เอกชนเสริมสภาพคล่อง
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองนี้ ทำให้โรงเรียนเอกชนในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดต้องปิดเรียน ถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ และยังไม่ชัดเจนว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้นจะต้องปิดโรงเรียนต่อเนื่องไปอีกถึงเมื่อไหร่
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า
มีผู้ปกครองเสนอแนวทางเข้ามายังตนว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ดีขึ้นก็ควรจะปิดเรียนต่อไป และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ควรประกาศให้นักเรียนจบการศึกษาในปีนี้ไปเลยจะดีกว่า โดยให้ครูประจำชั้นประเมินการเรียนจากการเรียนของเด็กในช่วงที่ผ่านมา ซี่งส่วนใหญ่จัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มาแล้วประมาณครึ่งเทอม ซึ่งแนวทางดังกล่าวหลายประเทศก็ทำกันมาแล้ว
“เมื่อถึงสิ้นเดือน ม.ค.ซึ่งครบกำหนดการประกาศปิดเรียน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ผมคิดว่า ศธ.จะต้องประเมินดูว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร หรือควรประกาศให้ปีนี้นักเรียนจบการศึกษากันไปเลย ทั้งนี้เรื่องนี้เป็นอำนาจการตัดสินใจของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ว่าจะเอาอย่างไร” เลขาธิการ กช. กล่าว
ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในวันที่ 27 ม.ค.นี้ ตนได้เตรียมเสนอเรื่องให้ที่ประชุมได้พิจารณาการขยายวงเงินกู้แบบ soft loan จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนที่เงินอยู่ประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อให้โรงเรียนเอกชนได้กู้ไปใช้เสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤติการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่เคยให้กู้จำนวน 1 ล้านบาท ขยับเพิ่มเป็น 3 ล้านบาท พร้อมทั้งยืดระยะเวลาการผ่อนชำระเงินกู้ออกไปเป็น 6 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยโรงเรียนที่ถูก สช.ขึ้นบัญชีดำไว้จำนวนหนึ่งที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ สช.กำหนดจะไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรรเงินกู้ดังกล่าวในครั้งนี้
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีผู้ปกครองเสนอให้โรงเรียนเอกชนปรับลดค่าเทอมลงเนื่องจากนักเรียนไม่ได้เรียนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นเรื่องนี้ สช.เองคงเข้าไปดำเนินการอะไรไม่ได้ ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนว่าจะพิจารณาลดหรือไม่ สช.ก้าวก่ายไม่ได้.