‘บ่อน’ ตัวแพร่เชื้อ‘โควิด-19’ ร้ายยิ่งกว่าแรงงานต่างด้าว

‘บ่อน’ ตัวแพร่เชื้อ‘โควิด-19’  ร้ายยิ่งกว่าแรงงานต่างด้าว

ทั้งๆ ที่รู้ว่า เข้า'บ่อนการพนัน' เสี่ยงติดเชื้อไวรัส‘โควิด’และเสี่ยงถูกจับ แต่ผีพนันไม่หวั่นไหว ที่ร้ายกว่านั้นคือ เมื่อติดโควิดจากบ่อน จะไม่กล้าบอกว่าเล่นจากบ่อนไหน  เพราะปัญหาบ่อนในเมืองไทยซับซ้อนโยงใยหลายเรื่อง ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่ระบบโครงสร้าง

"ปัญหามาจากรากเหง้าเรื่องใต้ดิน เรื่องผิดกฎหมาย ที่มีมานาน ทำลายสังคมย่อยยับมาตลอด อาจจะเห็นไม่ชัด แต่พอมี Covid-19 เข้ามา ความจริงก็ปรากฏ ยังมีคนไม่เชื่อว่ามีบ่อน ยิ่งปฏิเสธ ปัญหาโควิดก็ยิ่งหนัก ทุกอย่างถูกบิดเบือน เวลาตำรวจไปจับคนเล่นในบ่อน อุปกรณ์ถูกย้ายหายไปไหนหมด เชื้อโรคทั้งนั้น เอาไปเก็บไว้ที่ไหน แล้วบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลหรือตรวจสอบครบถ้วนไหม" พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘หยุดบ่อน (พนัน) ทำลายเศรษฐกิจ ทำร้ายสังคม’ จัดขึ้นโดย มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เมื่อวันที่ึ 7 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา

  • การพนันกับโรคระบาด

"การพนัน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เราก็ยังปล่อยปละละเลยให้มีขึ้น การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ที่ย่อหย่อนหรือไร้ประสิทธิภาพ ควรต้องถูกดำเนินการไปตามกระบวนการอย่างจริงจัง ในขณะนี้มันมาเกี่ยวพันกับ Covid-19 ก็ต้องมีคนจัดการ" คำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าว

161102605864

คำนูณ สิทธิสมาน 

"จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันพบว่า จำนวนคนเล่นพนันในบ่อนของประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านคน เมื่อมี Covid-19 สมมติว่ามีคนกลัวไม่มาเล่น หายไป 90 เปอร์เซ็นต์เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์คือ 5 แสนคน ในจำนวนนี้คนหนึ่งคนสามารถกระจายเชื้อไม่รู้เท่าไร ถ้าเราไม่หยุดบ่อน ก็จะมีตัวเลขการแพร่ระบาดที่มากมายมโหฬาร" ธนากร คมกฤส เลขาธิการ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน พูดถึงความน่ากลัวของสิ่งที่จะเกิดขึ้น 

"เชื้อโควิดกับการพนัน อันตรายยิ่งกว่าคนต่างด้าว เพราะคนต่างด้าวอยู่ในวงจำกัด ไม่สามารถเดินทางไปที่ไหนได้ แต่บ่อนการพนัน ปกปิดทุกอย่าง ไม่มีใครรู้ว่า ใครไปเล่นบ่อนไหนมาบ้าง ไม่ได้บอกให้ครบถ้วน เดินทางไปไหนบ้าง เราก็ไม่ทราบ การแพร่ระบาด Covid-19 ตอนนี้มาจากบ่อนการพนันทั้งนั้น

แล้วดูเหมือนจะคุมไม่อยู่ เพราะพวกเล่นการพนันมีความสามารถในการเดินทาง ไปโน่นไปนี่ เข้าบ่อนนี้ ออกบ่อนโน้น  เรื่องบ่อนการพนัน ปกติแล้วชาวบ้านไม่ได้เล่นกันหรอก เขาทำมาหากิน แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เล่น แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนายบ่อนอาชีพ คนที่เล่นก็เล่นประจำ" พ.ต.อ.วิรุตม์ เล่า และการพนันยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย

"เรื่องบ่อนมีอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน จะเป็นปัญหาอีกยาวนาน ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาว การพนันในสังคมไทย เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ยังลักลอบเล่นกัน ในปีพ.ศ. 2562 ช่วงก่อนโควิด ข้อมูลทุกจังหวัดเรื่องหนี้สินจากการพนันมีประมาณ 10,000 กว่าล้าน และมีคนเป็นหนี้ประมาณ 1 ล้านคน บ่อนมีความสัมพันธ์กับเรื่องส่วย เราจึงต้องปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย" รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็น

 

  • การพนันในเมืองไทย

"บ่อนการพนัน มีทุกจังหวัด ความหมายทางราชการคือ เล่นเกิน 10 คนขึ้นไป ตำรวจรู้มานานแล้ว แต่ไม่ได้ทำอะไร นายบ่อนเป็นคนที่ตำรวจรู้จัก เขาจะไปเปิดบ่อนที่ไหน ต้องไปคุย ไปเคลียร์ ถ้าเคลียร์ไม่ได้เขาก็ไม่เปิด เคลียร์คือจ่ายตังค์ จ่ายส่วย จ่ายล่วงหน้า จ่ายรายเดือน ไม่มีเปิดโดยพละการ มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องบ่อนตอบคำถามเรื่องบ่อนบางนายังอยู่ไหมว่า เขาเลิกมาหลายเดือนแล้ว เพราะสู้ราคาค่าตั๋วไม่ไหว ค่าตั๋วคือการตกลงกับผู้บังคับใช้กฎหมาย เราจะปล่อยให้ระบบนี้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไปหรืออย่างไร

บาคาร่า สล็อต ดูดเงินชุมชนนี้หมด ก็ไปชุมชนอื่น ระยองมี 1,000 ตู้ ทั่วประเทศมีตู้ม้าไม่ต่ำกว่า 30,000 ตู้ ที่อุบลราชธานีมีเป็น 1,000 มีศูนย์ซ่อมตู้ม้าด้วย เวลามีการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ มักมีข่าวเรื่องความไม่เป็นธรรม ร้องเรียนกันทุกปีว่า มีการซื้อขายตำแหน่ง คอลัมนิสต์บางคนเขียนถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผยว่ามีสูตร 357 คือตัวเลขหลักล้าน 

161102614331

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ถ้าเรื่องนี้มีมูล ก็เท่ากับว่าผู้รักษากฎหมายได้ตำแหน่งนั้นมาจากต้นทุน เมื่อเขามาดำรงตำแหน่งในพื้นที่ที่มีสถานบริการหลายเกรดมากมาย เขาก็ได้เงินตอบแทนตามสมควร การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นการปฏิรูปประเทศที่สำคัญอันดับหนึ่ง" เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เล่า นอกจากนี้การพนันนั้นยังสร้างปัญหาให้กับสุขภาพอีก

"แล้วทำไมคนยังไปบ่อน ทั้งๆ ที่มีโอกาสเสียถึง 3 เด้ง 1.เสียพนัน 2.เสี่ยงติดโรคโควิด 3. เสี่ยงถูกจับเพราะทำผิดกฎหมาย นั่นเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้หรือเปล่า ที่มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันมีคน Inbox เข้ามาหาเราทุกวัน สารภาพว่าติดการพนันจะขอคำแนะนำการเลิกเล่น 

แล้วตอนนี้พนันออนไลน์ก็ขยายตัวเยอะมาก มีคนตั้งกลุ่มในเพจเฟซบุ๊คว่า ‘เลิกเล่นบาคาร่าการพนันออนไลน์’ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 42,000 กว่าคน มีคนเขียนว่า "เงินเดือนออกแล้ว แต่หมดแล้วเพราะบาคาร่า มีใครเป็นอย่างผมบ้าง" 

การเล่นพนันจะมี 3 ระดับ 1.เล่นเพื่อเข้าสังคม เดือนละ 2 ครั้งรัฐบาลเป็นเจ้ามือ ไม่ต้องขออนุญาต 2.เล่นจนมีหนี้สินไปก่ออาชญกรรม 3. เล่นจนมีปัญหาสมองส่วนหน้า เหมือนติดยาเสพติด การพนันเป็นปัญหาสำคัญเพราะมันทำลายทรัพยากรบุคคลในชาติ ทำให้ประเทศก้าวหน้าต่อไปไม่ได้" เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เล่า อีกทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้มีการพนันเพิ่มมากขึ้น

"ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เด็กและเยาวชนรับการพนันออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว มีนักพนันหน้าใหม่เกิดขึ้นมาก เราเองก็ไม่มีระบบล็อกในการดูแล หรือบล็อกแล้วก็กลับมาใหม่ พนันออนไลน์เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก จะเล่นเมื่อไรตอนไหนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หน่วยงานต่างๆ จะต้องเข้ามาดู โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาฯ เพราะไม่มีเรื่องทักษะชีวิตเกี่ยวกับการพนันเลย ถ้าเทียบกับการส่งเสริมทักษะชีวิตในเรื่องอื่นๆ เด็กและเยาวชนจะต้องได้รับการดูแลปกป้องคุ้มครอง ไม่ทำผิดกฎหมายและปลอดจากการพนัน

ตรรกะการพนัน คือ การเล่นกับความเสี่ยง โอกาสที่จะชนะในเกมการพนันทุกประเภท มันกำหนดไว้แล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อจะแพ้ ในระยะยาวของทุกเกม เจ้ามือจะชนะ ที่สำคัญการพนันถูกกฎหมายในเมืองไทย รัฐบาลจะมาช่วยแบ่งด้วย 23 เปอร์เซ็นต์ เงินรางวัลมีแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ คนที่ได้เกมนี้คือเงินที่มาจากความพ่ายแพ้ของคนอื่นๆ" รศ.ดร.นวลน้อย เล่า และว่า

"ปัญหาการพนันในเมืองไทย พุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปตำรวจ เพราะตำรวจเป็นผู้ใกล้ชิดกับประชาชน ระบบที่มีก็ไม่เอื้อให้คนดี หรือตำรวจที่ดีมีโอกาสทำงานอย่างเต็มที่ จนมีข่าวตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย 4-5 ราย เพราะงานเยอะ เงินน้อย ความก้าวหน้าในวิชาชีพไม่มี"

 

  • ทางออกของปัญหา

"อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อปีที่แล้วเราเปิดประเด็นเรื่อง ตู้คีบตุ๊กตาเต็มในห้างเกลื่อนเมือง กรมการปกครองก็บอกว่าไม่เคยอนุญาตให้มีหรือตั้งได้ แต่ก็มีเต็มไปหมด เพราะมิติการทำงานไม่ละเอียดอ่อนมากพอ เราต้องแก้ พ.ร.บ.พนัน ให้มีการทำงานที่ละเอียดมากขึ้น เพิ่มมิติของสุขภาพเข้าไป อย่า่งกลไกการทำงานเรื่องเหล้าเรื่องบุหรี่ ยังมีคณะกรรมการที่เป็นบอร์ดชาติ (คณะกรรมการนโยบายยาสูบ, คณะกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์) แล้วมีบอร์ดเล็กทำงานเชิงปฏิบัติและมีสำนักงาน แต่เรื่องการพนันยังไม่มี ยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยล้วนๆ

กระทรวงสาธารณสุข กับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมาจับมือกัน หาวิธีลดผลกระทบ จัดให้มีระบบบำบัด ระบบให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการพนัน เพราะสายด่วน 1323 สุขภาพจิตตอนนี้ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับได้ไม่หมด มีคนทุกข์เรื่องการพนันเยอะมาก 

รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการพัฒนาหลักสูตรให้กับ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) อพม. อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ หรืออย่างน้อยให้มีความฉลาดทางการเงินมากขึ้น ทางออกคือการแก้พ.ร.บ.พนัน เติมมิติทางสุขภาพเข้าไป เมื่อกฎหมายดีขึ้น ผนวกกับการปฏิรูปตำรวจ ปัญหาการพนันก็จะลดลง" เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เล่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอำนาจในการจัดการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

"การแก้ปัญหา นอกจากแก้เรื่องกฎหมายและการปฏิรูปตำรวจแล้ว ในต่างจังหวัด ผู้ว่าฯไม่กล้าจับบ่อน เพราะกลัวตำรวจ เราต้องออกกฎกระทรวงเพิ่ม พ.ร.บ.การพนันให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนได้ ตำรวจก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ ไม่ได้ตัดหน้าตำรวจ พอมีปัญหาบ่อนทีก็เด้งที การเด้งไม่ใช่การถูกลงโทษ เป็นการตั้งของหัวหน้าหน่วยในระดับพื้นที่ ไม่ได้มีฐานะทางกฎหมายอะไร ถ้าจะให้เด็ดขาดต้องตั้งคณะกรรมการ แล้วสั่งพักราชการ" เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เสนอทางออก

“ถ้าจะทำการพนันให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย คนมักนึกถึงศูนย์รวมความบันเทิง  บ่อนกลายเป็นที่รวมความบันเทิง ลักษณะนี้ไม่ได้แก้ และไม่เหมาะสม ในจังหวัดที่ไม่มี ก็ยังมีปัญหาแบบเดิม มันยังมีรูปแบบอื่นอีกเยอะแยะ ควรมีการจัดการที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ประเด็นที่สอง.ต้องวางกรอบกติกาการบริหารจัดการที่ควบคุมผลกระทบของการพนันได้ มีการบังคับใช้กฎหมายชัดเจน 

ประเด็นที่สาม. ต้องปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บ่อเกิดของธุรกิจสีเทาในประเทศไทย ส่วย ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ยังเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ทั้งระบบการเมืองไทย ถ้าโมเดลต่างๆ ยังมีลักษณะการรวมศูนย์ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ก็คงไปไหนไม่ได้ จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมโยงในระยะยาว แต่ถ้าในระยะสั้นตอนนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนมากเพราะมีผลกระทบกับการแพร่ระบาดของโควิด" ผู้อำนวยการศึกษาปัญหาการพนัน กล่าว

"ผมอยากจะเรียกร้องท่านนายกฯ เรียกร้องคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศในจุดที่สามารถทำได้ ในขณะนี้ท่านนายกฯเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความจำเป็นเร่งด่วนคือการปฏิรูปตำรวจ โดยใช้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ สามารถแก้ปัญหาเรื่องตำรวจได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์

เราต้องเร่งเสนอ 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ กับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาฉบับใหม่ เน้นเฉพาะการสอบสวนของตำรวจที่ให้อัยการเข้ามาถ่วงดุลด้วย ตราบใดที่เราปล่อยให้อำนาจตามกฎหมายรวมศูนย์  ก็จะเกิดผลเสียตามมา 

ปัญหาทั้งปวงอยู่ที่ 2 ระบบผูกขาด 1.การผูกขาดอำนาจรัฐไว้ที่ส่วนกลาง 2.การผูกขาดอำนาจรัฐไว้ที่ระบบการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา มันทำให้ระบบการเมืองและระบบราชการรวมศูนย์ทั้งคู่ อยากให้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเข้ามาสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ววันครับ" สมาชิกวุฒิสภา กล่าว