คนคิดแอพฯ ‘เป๋าตัง เก่งแค่ไหน อาม่าอากงก็ใช้เป็น
ทำไมแอพฯ “เป๋าตัง” ไม่สร้างความเวียนหัวให้คนใช้ในโครงการ “คนละครึ่ง” "เราชนะ" “เราเที่ยวด้วยกัน” เพราะคนคิดและทีมงาน เข้าใจเทคโนโลยีและรู้จักนิสัยคนไทยเป็นอย่างดี ต่อไปไม่ยากหากประเทศเราจะพัฒนาไปสู่สังคมไร้เงินสด มีแค่สมาร์ทโฟนไปได้ทุกที่
"แอพฯเป๋าตัง เป็นแพลตฟอร์มที่ผมช่วยออกแบบตั้งแต่ต้น เป็นแอพฯ ของธนาคารกรุงไทย รับภาระทำโครงการหลาย ๆ อย่างให้กับกระทรวงการคลัง
เริ่มตั้งแต่ ชิมช้อปใช้, เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, เราชนะ ขณะเดียวกันก็ให้บริการเรื่องอื่นๆ เปิดมา 2 รอบขายพันธบัตรรัฐบาล 200 ล้านบาทหมดภายใน 99 วินาที"
สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึง การร่วมงานกับโครงการภาครัฐ ซึ่งก่อนหน้า สมคิดได้ก่อตั้งบริษัท settrade.com ให้กับ‘ตลาดหลักทรัพย์’ เปลี่ยนจากระบบเคาะกระดานเป็นระบบซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์
และร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย ทำ K-Transformation ตั้ง KBTG บริษัทเทคโนโลยีของกสิกรไทย พัฒนา K-Plus หลังเกษียณก็มาเป็นที่ปรึกษาให้ธนาคารกรุงไทย และช่วยทำโครงการภาครัฐ
- เบื้องหลัง แอพฯเป๋าตัง
"คนที่ทำแอพฯนี้ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กรุ่นใหม่ ผมเป็นคนรุ่นเก่ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา ช่วยออกแบบ ช่วยคิด ช่วยทำ มีคนเก่ง ๆ มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศมาร่วมโครงการหลายคน
คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีปัญหาเทคโนโลยี แม้เขาจะไม่ได้ลงลึกถึงมุมของการโค้ดดิ้ง แต่เขาก็เข้าใจว่าเทคโนโลยีมีผลต่อการใช้ชีวิต" สมคิดเล่า และบอกว่า แต่ละโครงการมีความแตกต่างกัน
"ชิมช้อปใช้ เป็นลักษณะแจกเงินให้กับประชาชน 1,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิมช้อปใช้ รอบสอง ให้ประชาชนเอาเงินของตัวเองมาใส่ใน G wallet แล้วไปซื้อสินค้าได้ โดยหักลดหย่อนภาษี
ส่วน เราเที่ยวด้วยกัน และ คนละครึ่ง เป็นโครงการที่รัฐบาลจ่ายครึ่งหนึ่ง ประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่ง ให้ไปซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นที่นิยมมาก เพราะเราไม่ให้ร้านใหญ่ๆ เข้าร่วม ส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กๆ รถเข็น, สตรีทฟู้ด ช่วยให้พวกเขาขายดีขึ้น ทำให้ร้านค้าและประชาชนจำนวนมากอยากร่วมด้วย
อย่างเมื่อเช้านี้ (20 ม.ค. 2564) ลงทะเบียนรับ 1.34 ล้านคน มีคนเข้าแอพฯ มารอก่อนหกโมงเช้ามากกว่าหนึ่งล้านคนแล้ว ผ่านไปสองนาที มีจำนวนมากกว่าสองล้านคน กว่าจะลงทะเบียนเสร็จ กว่าจะได้เลข OTP ครบ 1.34 ล้าน ใน 9 นาที เราเคยเปิดเฟสหนึ่ง 10 ล้านคน เฟสสอง 5 ล้านคน รวมแล้วใช้จริง 13 ล้านกว่าคน จึงต้องเปิดเฟสสองรอบเก็บตกให้ครบ 15 ล้านคน
คนที่ลงทะเบียนจะถูกตรวจสอบว่า ต้องไม่ซ้ำกับคนที่เคยลงทะเบียนไปแล้ว ไม่ซ้ำกับคนที่เคยได้รับสิทธิจากรัฐบาลในเรื่องอื่นๆ เบอร์ โทรศัพท์ เลขบัตรประจำตัวประชาชนต้องไม่ซ้ำ ผมเชื่อว่ามีคนใช้สมาร์ทโฟนเป็นมากขึ้นจากโครงการนี้ และมีคนไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคนใช้สมาร์ทโฟนกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล" สมคิด เล่า
สมคิด มองว่า โครงการคนละครึ่ง โครงการเดียว ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น
"แม้กระทั่งคนอายุ 61-80 ปี ก็ใช้ได้ เห็นได้จากสถิติการใช้งาน บางวันใช้จ่ายเกือบร้อยล้าน เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะได้ส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัลภาคประชาชนมากขึ้น ได้ประโยชน์ในระยะยาว เมื่อคนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยี ในอนาคตโครงการอื่น ๆ จากภาครัฐ ก็สามารถรับประโยชน์โดยตรงได้
Thailand Digital Platform ที่ผมทำกับธนาคารกรุงไทยตั้งแต่โครงการ ชิมช้อปใช้, ไทยชนะ, เราไม่ทิ้งกัน (มีคนเช็คอินมากกว่า 120 ล้านครั้ง ถ้ารวมเช็คเอาท์ด้วย 200 ล้านครั้ง) วอลเล็ต สบม. ใช้เวลาพัฒนา 6 เดือน ใช้กับคนส่วนใหญ่ได้ กับ SMEs รายเล็ก เกษตรกร ได้ เราอยากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางๆ ให้คนทำธุรกิจนำไปต่อยอด โดยไม่ต้องลงทุนทำเองทั้งหมด
อย่างการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล หลังบ้าน วอลเล็ต สบม. เป็นระบบแลกเปลี่ยนระหว่างเงินกับสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างอื่นได้ เป็นระบบเปิดให้แอพพลิเคชันอื่นๆ เข้ามาเชื่อมโยงกัน แต่จะดีกว่านี้ ต้องมีคนมาร่วมมือ เช่น สตาร์ทอัพ หรือองค์กรใหญ่ๆ มีบริการหลากหลายมากขึ้น"
- เจาะลึกการทำงาน
"ในเรื่องเทคโนโลยี ต้องมีการปรับตลอดเวลา รูปแบบการใช้งานคล้าย ๆ กัน ชิมช้อปใช้ มีการปรับรูปแบบ เทคนิค และการออกแบบ ให้ใช้งานง่ายขึ้น รองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เข้ามาเยอะ ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เดี๋ยวจะมีโครงการ เราชนะ อีก 31 ล้านคน ใช้ได้สองทาง ผ่านบัตรสวัสดิการกับผ่านแอพเป๋าตัง
รัฐบาลได้บทเรียนจาก เราไม่ทิ้งกัน เมื่อเอาเงินเข้าบัญชี แล้วไม่รู้ว่าประชาชนเอาไปใช้อะไรบ้าง แล้วบางบัญชีชื่อไม่ตรงกันก็เข้าไม่ได้ จึงนำมาปรับให้ตอบโจทย์มากขึ้น" สมคิด เล่าและบอกว่า มีหลายคนไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะห่วงเรื่องข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหล
"ภาครัฐใช้ประโยชน์จากข้อมูลน้อยกว่าที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำ เวลามีคนมาขอใช้ข้อมูล ก็กลัวว่า จะไปละเมิดสิทธิ์หรือเปล่า ส่วนใหญ่เอามาใช้เพื่อประโยชน์กับประชาชนเท่านั้น และเจ้าของข้อมูลตอนนี้คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ไม่ใช่ธนาคารกรุงไทย"
ที่สำคัญเป็นข้อมูลรายบุคคลที่อัพเดทที่สุด มีการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบตัวตนอย่างถูกต้อง สมคิด บอกว่า ทุกโครงการของรัฐบาลที่กรุงไทยทำ ใช้ระบบตรวจสอบใบหน้า
"ในแอพฯเป๋าตัง ต้องถ่ายภาพหน้าตัวเอง แล้วตรวจสอบกับรูปในบัตรประชาชน สามารถเช็คได้ว่า ถ่ายจากหน้าคนจริง ๆ ไม่ใช่รูปภาพ แมชชีนเลิร์นนิ่งสามารถแยกได้ พอแยกเสร็จก็เอารูปที่ถ่ายนี้ไปเปรียบเทียบกับรูปบนบัตรประชาชน แปลงเป็นตัวเลข 512 ตัวมาเปรียบเทียบกัน ถ้าได้เปอร์เซ็นต์สูงระดับหนึ่ง ก็เชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกัน"
- สังคมไร้เงินสดในโลกอนาคต
"ประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดได้ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ผมไปเมืองจีน เขาแทบไม่ได้ใช้เงินสดเลย เราก็กลับบ้านมาฝันว่า เมื่อไรประเทศไทยจะเป็นแบบนั้น ไม่นึกไม่ฝันว่าวันนี้เราได้เห็นจริงๆ
ที่ไทยแลนด์ 4.0 ไม่เกิดขึ้น เพราะเราไม่กล้านำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีบ้านเราไปถึงแล้ว แต่ไม่กล้าชวนคนที่ไม่เคยใช้มาใช้ ตอนนี้อากงอาม่าใช้ 'คนละครึ่ง' เป็นแล้ว ถ้าเราไม่ทำต่อเนื่อง เราจะเสียโอกาส
อุปสรรคใหญ่อันดับแรก คือ กรอบของกฎหมายและระเบียบ ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง และวิธีทำงานภาครัฐ ให้เอื้อต่อระบบดิจิทัลได้ อุปสรรคที่สอง โครงสร้างอำนาจและการตัดสินใจอนุมัติ ต้องลดอำนาจคน ใช้เทคโนโลยีตัดสินใจ การแบ่งอำนาจทางการเมืองกินเวลาไปหมดแล้ว
การเปลี่ยนประเทศไทยต้องใช้อำนาจรัฐ ต้องมีนักกฎหมายเก่ง ๆ ลบล้างกฎหมายเก่า 40-50 ปี เพื่อออกกฎหมายใหม่ ดึงคนไทยระดับหัวกะทิมาบริหารประเทศ คนที่เข้าใจอนาคต เข้าใจประชาชน มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เป็นอยู่ นายกฯคนเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องให้คณะรัฐมนตรี และประชาชนส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกัน รวมพลังแก้ไขปัญหา" สมคิดเล่า และบอกว่า
"สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ มีอยู่ 4 ส่วน คือ 1)ต่อยอด วอลเล็ต สบม. ให้รองรับเรื่องการเงินมากขึ้น ทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ใกล้เคียงกับพันธบัตรรัฐบาล
2)เป็นภาคการเงินแบบเปิด ต้นทุนต่ำ สามารถเข้าถึงรายเล็กๆ หรือ SMEs ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการของภาคธนาคารในปัจจุบัน เนื่องจากดอกเบี้ยสูง ต้องไปกู้นอกระบบ
3)แพลตฟอร์มนี้สามารถใช้สร้างสกุลเงินดิจิทัลประเทศไทยได้ และ 4)แพลตฟอร์มนี้ สามารถสร้าง Big Data สร้างธุรกรรมที่มีเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้ทำธุรกรรม ให้นักวิเคราะห์หรือสถาบันวิจัยต่างๆ ไปใช้ได้ ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างการเชื่อมต่อได้มากขึ้น
เราต้องยืนหยัดในความคิดแบบนี้ มันสร้างประโยชน์ได้ ในอนาคตยังสามารถพัฒนาต่อไปเป็นดิจิทัลไอดี (บัตรประชาชนรูปแบบอิเล็คทรอนิคส์) และดิจิทัลเปเปอร์ต่างๆ ได้อีก"