'Blackbox' ตัวช่วยเด็ก ที่ไม่มีโอกาส 'เรียนออนไลน์'

'Blackbox' ตัวช่วยเด็ก  ที่ไม่มีโอกาส 'เรียนออนไลน์'

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอน เด็กส่วนใหญ่ต้องเรียนทางออนไลน์ แต่มีเด็กบางกลุ่มไม่มีความพร้อม จึงมีการสร้างสรรค์ Blackbox ให้เด็กเหล่านั้นเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ต  

"กล่องนี้มีชื่อว่า Blackbox หรือ กล่องดำ ตั้งชื่อให้ดูปริศนา ท้าทายผู้เรียน เกิดความสนใจอยากเรียนรู้ว่าในกล่องดำมีอะไร ได้แนวคิดและไอเดียมาจากทฤษฎีสร้างความรู้ด้วยตัวเอง (Constructivism) เน้นให้ผู้เรียน เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เหมาะกับบริบทของประเทศไทยที่พ่อแม่ผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรรมและคหกรรม ซึ่งพ่อแม่สามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือเด็กในการเรียนรู้ได้"

ปวีณา จันทร์สุข ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต พูดถึง กล่องดำ ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี (กสศ.) และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ร่วมกันผลิต ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือเด็กนักเรียนในกลุ่มที่ไม่สามารถเรียนรู้แบบออนไลน์ได้

"ครูผู้สอนที่เคยสอนอยู่ในชั้นเรียน ต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็น Facilitator ผู้ช่วยสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ สิ่งที่ทรงพลังมีคุณค่ามากที่สุดไม่ได้อยู่ที่วัสดุอุปกรณ์ แต่อยู่ที่สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้หมด อยู่ที่การออกแบบคำถาม กระตุ้นให้อยากเรียนรู้" ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต เล่า

 

  • โควิดทำให้เด็กทั่วโลกไม่ได้ไปโรงเรียน

"ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการปิดโรงเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานศึกษาทั่วโลกก็ได้มีการปิดเรียน COVID Slide ทำให้นักเรียนทั่วโลก 1.2 ล้านคนตกอยู่ในหลายสถานการณ์เดียวกันคือ เรียนออนไลน์แทน เด็กในสหรัฐอเมริกาที่อยู่บ้านเป็นเวลานาน ความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ลดลงไป 50% ความรู้ด้านการอ่านลดลง 30% หลายประเทศยกเลิกการวัดผล การประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก ยกเลิกการสอบกลางภาค ประเทศไทยยกเลิกการสอบโอเน็ต 

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า เด็กที่อยู่บ้านใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจิต พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีอย่างเดียว ไม่สามารถชดเชยการเรียนในโรงเรียนได้ นอกจากความรู้ที่หายไปแล้ว การเข้าสังคม, การได้รับอาหารที่มีโภชนาการ, การบริการทางสังคม, การเรียนการสอนที่เหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะเด็กยากจนพิเศษ เด็กด้อยโอกาส เด็กเล็ก ก็ตกอยู่ในภาวะหิวโหย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้" ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เล่า

161163094924

กล้องจุลทรรศน์ Foldscope ที่มีในกล่อง Blackbox

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สำรวจสถานการณ์เด็กเยาวชนในพื้นที่การระบาดโควิดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด พบว่า มีโรงเรียนได้รับผลกระทบถึง 7,053 โรงเรียน มีเด็กยากจนพิเศษ 143,507 ราย โดย 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงประกอบด้วย 5 พื้นที่สีแดงเข้ม สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด

และ 23 พื้นที่สีแดง (ประกาศ ณ วันที่ 8 ม.ค.2564) กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชุมพร, ตาก, นครนายก, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี,พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ราชบุรี, ระนอง, ลพบุรี, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สุพรรณบุรี, สระแก้ว, สระบุรีและอ่างทอง 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก 3 กลุ่มคือ 1.เด็กยากจนในเมือง เกือบครึ่งต้องออกมาทำงานหาเงิน 2.เด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกล ขาดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง, อาหาร, อุปกรณ์การเรียนรู้ 3.เด็กเยาวชนแรงงานต่างด้าว เครือข่ายแผนงานประชากรกลุ่มเฉพาะ ม.มหิดล ประเมินว่า ใน จ.สมุทรสาคร มีลูกแรงงานต่างด้าวไม่น้อยกว่า 10,000 คน ในกลุ่มเด็กปฐมวัย ขาดนมผง. อุปกรณ์ป้องกัน และเด็กในกลุ่มวัยเรียนประถมปลาย ขาดสื่อการเรียนรู้

 

  •  Blackbox คืออะไร

"กล่องดำ เป็นการเรียนรู้แบบ Self Directed Learning เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านเรื่องราวใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน สามารถเรียนได้ตลอดเวลา และลงมือทำกิจกรรมได้ด้วยตัวคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ช่วยให้พัฒนาการของเด็กไม่ขาดช่วง แม้ไม่ได้ไปโรงเรียน" รศ. ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ หัวหน้าโครงการครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ร่วมกับทีมโค้ชและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ประจำภูมิภาคต่างๆ ผู้คิดค้น Black Box เล่า

"เครื่องมือในกล่องดำ ถูกออกแบบตามชุดการเรียนรู้จากความร่วมมือของครูหลายสาขาวิชา เกิดเป็น 4 กลุ่มวิชา ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี, สังคมและมนุษยชน, วิทยาการการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา โดยจัดทำเป็นเอกสารการเรียนรู้ 3 ชุด คือ สมุนไพรใกล้ตัว, สวนผักแสนสนุก และฉันคือใคร

ในกล่องดำจะมีคู่มือและอุปกรณ์ขนาดเล็กเหมาะกับการใช้งานของเด็ก พร้อมข้อความอธิบายที่ง่ายต่อการลงมือปฏิบัติ โดยครูจะเป็นคนอธิบายเกี่ยวกับชุดการเรียนรู้ โดยกำหนดว่าช่วงเวลาไหน เด็กควรเลือกบทเรียนชุดไหน ในบางพื้นที่ครูสามารถติดตามผลใกล้ชิดด้วยการไปเยี่ยมเด็ก ๆ ที่บ้าน และบันทึกพัฒนาการการเรียนรู้ได้

ในกล่องดำ จะประกอบด้วย กล้องจุลทรรศน์ Foldscope, ปืนยิงกาว, กระถางและเมล็ดผัก, กระดาษลิตมัส, สีเมจิก, กระดาษสี, สีไม้, กาวร้อน, ไหมพรม, แว่นขยาย, ลวด, โกร่ง (ครกเล็ก), กาวน้ำ, สก๊อตเทป, ไม้ไอติม, ยางวง, ลูกปัด, หนังสือชุดการเรียนรู้ 3 ชุด วิชาสมุนไพรบ้านฉัน วิชาสวนแสนสนุก วิชาฉันคือใคร

ตัวอย่าง การทำงานในชุดวิชากระถางอัจฉริยะ จากเรื่องสวนผักแสนสนุก อุปกรณ์ในกล่องประกอบด้วยพืช, กระถาง, กระดาษลิตมัส พร้อมคำอธิบายขั้นตอนในการปลูกต้นไม้ด้วยตัวเอง โดยน้อง ๆ จะได้เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกว่า การปลูกพริกต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง หรือการเสาะหาดินที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการปลูกเมล็ดพันธุ์ สามารถใช้กระดาษลิตมัสทดสอบค่าความเป็นกรดหรือเบสของดินได้ โดยดูจากสีของกระดาษที่เปลี่ยนไป ทุกขั้นตอนการทำงานจะถอดออกมาจากชุดบทเรียนที่บรรจุไว้ในกล่อง

ส่วนในรายวิชาอื่น ๆ ก็จะมีอุปกรณ์ที่พร้อมรองรับกิจกรรมทั้งหมด เช่น วิชานวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเน้นที่การทำงานออกแบบและงานประดิษฐ์ อุปกรณ์ทั้งหมดจะจัดเป็นเซตง่ายต่อการทำความเข้าใจ และการลงมือประดิษฐ์งานชิ้นนั้น ๆ

 

 

  • ทางออกของปัญหา

"ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2561 กสศ.สำรวจพบว่า เด็กมีน้ำหนักส่วนสูงเทียบกับอายุต่ำกว่าเกณฑ์, เด็กมีภาวะทุพโภชนาการ จึงได้จัดสรรทุนเสมอภาคปีละ 3,000 บาทเป็นเวลา 2 ปี ทำให้เด็กมีน้ำหนักส่วนสูงเทียบกับอายุผ่านเกณฑ์มากขึ้น, อัตราการมาเรียนก็มีมากขึ้น แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระลอกสองปัญหาก็กลับมาเกิดซ้ำ

เด็กมีโอกาสเรียนรู้เพียงครั้งเดียวในชีวิตในแต่ละช่วงชั้น ถ้าปล่อยให้เป็นช่องว่างทางการศึกษา ก็จะไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการของเด็กและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น คุณครูต้องจัดการสอนเสริมใน 3 เดือนสุดท้าย กุมภาพันธ์-เมษายน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ก่อนเลื่อนชั้น รวมถึงช่วงรอยต่อ ประถมศึกษาปีที่1 มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมปีที่ 4 เด็กบางคนอาจตกหล่นหรือหลุดจากระบบการศึกษาได้" ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เล่าถึงสถานการณ์ที่ผ่านมา

"ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้ คือเด็กและเยาวชน เด็กเล็ก, เด็กประถม, เด็กมัธยม ที่เขาไม่พูด หมายถึง ความขาด ความหิวโหย เขากำลังเจอวิกฤตทางสังคม ทางอารมณ์ ความรู้สึก พวกเขาต้องได้รับการเรียนรู้อย่างสนุก มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีสังคมต่อกัน แต่การเรียนออนไลน์ตัดขาดไปหมด

บางครอบครัวไม่มีอุปกรณ์ เด็กก็ไม่ได้เรียน ส่งผลต่อการเรียนรู้ กังวลว่ามีเด็ก 3,000-5,000 คน ที่จะหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กมัธยมที่ต้องไปทำงานเพื่อความอยู่รอด อยากให้ทุกคนฟังเสียงเด็กว่าพวกเขาเป็นอย่างไร และไม่ควรปิดภาคเรียนนานกว่านี้" ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. แสดงความคิดเห็น ซึ่งในขณะนี้มีเพียงสิ่งเดียวที่ช่วยได้คือ กล่องดำ

161163128054

กล่องดำ Blackbox ตัวช่วยสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ 

"Black Box เป็นชุดเสริมทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เป็นบทเรียนออฟไลน์ ภายในกล่องจะมี 4 หมวดวิชาครอบคลุมพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ หลังจากนี้จะมีการส่งกล่องการเรียนรู้ Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดเข้าถึงการเรียนรู้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร, ชลบุรี, อยุธยา, เพชรบุรี และกาญจนบุรีก่อนขยายไปสู่จังหวัดต่างๆ ให้ครูทุกคนทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมการเรียนรู้ของเด็ก โดยเรียนให้จบภายใน 1 สัปดาห์ เลือกเรียนละ 1 วิชา ทำกิจกรรม 1 สัปดาห์ ซึ่งครูต้องออกแบบบทเรียน กระตุ้นการเรียนรู้ด้วย" หัวหน้าโครงการครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) กล่าว