‘วัคซีนโควิด-19’ จะมาแล้ว... ฉีดฟรีทุกคน มีเงินก็ซื้อก่อนไม่ได้
การจัดการวัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องทำอย่างไร เรื่องนี้มีคำตอบจากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และมุมวิชาการที่ยืนยันว่า ข้อมูลไวรัสโควิดเปลี่ยนทุกวัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมโลก
แม้ประชากรในซีกตะวันตกจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีผลยืนยันว่า ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง และอีกหลายเรื่อง เพราะการศึกษาเรื่องไวรัสโควิดและวัคซีนโควิด เป็นเรื่องใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การผลิตวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นภาระกิจเร่งด่วนที่ทุกประเทศดำเนินการ ถ้าจะประเมินผลในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ คงต้องรองานวิจัยระยะยาวที่หลายประเทศกำลังเริ่มต้นทำ
ณ วันนี้ (ปลายเดือนมกราคม 2564) วัคซีนที่ผลิตออกมา ยังไม่มีหลักฐานสรุปว่า ลดการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อ มีเพียงข้อมูลว่า ลดความรุนแรงของโรค
และอีกหลายเรื่องที่คนไทยสงสัย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า โรงพยาบาลเอกชนจะซื้อวัคซีนโควิดมาฉีดก่อนได้ไหม ,คนต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว ปลอดภัยจริงหรือ (อ่านบทสรุปเพิ่มเติมท้ายเรื่อง)
ต้องดูผลการศึกษาระยะยาว
“วัคซีนจะทยอยมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนที่มีอยู่ผ่านการวิจัยและทดลองว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในเบื้องต้นมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ตอนนี้ทั้งโลกมีแค่งานวิจัยระยะสั้น ต้องติดตามผลระยะยาว” นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 และผู้ช่วยรัฐมนตรีการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานวิชาการของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) เรื่อง “วิจัย-นโยบาย-เศรษฐกิจ” จัดการวัคซีนอย่างไรจึงได้ประโยชน์สูงสุด
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนทั้งประเทศ เป็นเรื่องที่คณะทำงานต้องวางแผนให้ดีที่สุด ประกอบกับการติดตามผลการศึกษาวิจัยเรื่องไวรัสโควิด-19 ในทุกๆ ด้าน เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีบางเรื่องที่คนไทยเข้าไม่ถึงข้อมูล
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ กรรมการที่ปรึกษาด้านการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน องค์การอนามัย และนักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) บอกว่า นอกเหนือจากประสิทธิผลการลดความรุนแรงของโรค เราต้องรู้ว่า วัคซีนมีระยะเวลาป้องกันนานแค่ไหน และมีผลข้างเคียงอย่างไร
“ต้องดูผลการศึกษาวิจัยระยะยาว ผมเข้าใจว่าทางกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและมีแผนที่จะติดตามผลเรื่องนี้”
วัคซีนโควิด-19 ล็อคแรก วางแผนไว้ว่า จะฉีดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 กลุ่มแรกที่จะได้วัคซีนคือ บุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบุคคลที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดัน มะเร็ง หัวใจ โรคอ้วน ฯลฯ ,ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
นายแพทย์โสภณ บอกว่า ดูจากผลการศึกษาวิจัย วัคซีนน่าจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะคนป่วยโรคเรื้อรัง คนอ้วน คนสูงวัย ฯลฯ
“ทั่วโลกจะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน และคนที่มีความเสี่ยง ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง รวมถึงคนในพื้นที่เสี่ยงอย่างสมุทรสาคร และพื้นที่สีแดงที่มีคนติดเชื้อเยอะ มีคนบอกว่าถ้าจะให้ได้ผลดีต้องให้กลุ่มเสี่ยงมากที่สุด”
วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค
เหมือนเช่นที่กล่าวมา ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่า วัคซีนโควิดช่วยลดการติดเชื้อ หรือมีผลสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ลดความรุนแรงของโรคได้ คุณหมอยศ บอกว่า ข้อมูลงานวิจัยไม่ได้ตอบคำถามอย่างที่สังคมคาดหวัง ต้องรอผลการศึกษาระยะยาว เพราะบริษัทที่ผลิตวัคซีนก็อยากให้วัคซีนออกมาเร็วที่สุด
“ง่ายที่สุดคือ ต้องติดตามคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลว่าลดการติดเชื้อหรือไม่ ตอนนี้มี 3 บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลคือ Astra Zeneca ,Moderna ,Pfizer
ทางเราก็ทำวิจัยกับนักวิจัยที่อ๊อกซฟอร์ด การประเมินเทคโนโลยี พบว่า วัคซีนมีผลป้องกันการติดเชื้อแค่ร้อยละ 5 ก็น่าจะมีประโยชน์ในกลุ่มติดเชื้อเยอะๆ อย่างแรงงานข้ามชาติ หรือวัยทำงาน แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ คงต้องรอ
อย่างตอนนี้อิสราเอลฉีดให้ประชากรประมาณ 40 % น่าจะมีข้อมูลเรื่องนี้ว่ามีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อหรือไม่ ถ้ามีข้อมูลตรงนี้จะมีผลต่อการวางแผนการจัดการวัคซีน วัคซีนที่ไทยจองไปแล้ว Astra Zeneca และSinovac ถ้ามีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ด้วย ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาวัคซีนตัวอื่น
ผมไม่เชื่อว่าวัคซีนตัวเดียวจะแก้ปัญหาได้ทุกกลุ่ม ถ้าวัคซีนที่ประชาชนได้ไม่สามารถลดการติดเชื้อได้ แต่ลดความรุนแรงของโรคได้ก็ควรฉีดให้กลุ่มผู้ป่วยหนัก ส่วนวัคซีนที่เรายังไม่ได้สั่งเข้ามา แต่มีข้อมูลว่า ลดการติดเชื้อได้ ก็อาจจะนำเข้ามา”
อีกเรื่องที่คุณหมอยศห่วงมากที่สุดคือ ความเข้าใจเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีน จนเป็นที่มาของข่าวเรื่อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้คนต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไทยโดยไม่กักตัว
“ในฐานะนักวิชาการ ผมกังวล นั่นหมายถึงยังไม่มีการพูดคุยกันชัดเจนว่าวัคซีนโควิดที่ฉีดให้คนทั้งโลกป้องกันการติดเชื้อได้จริง แต่ทางผู้บริหารททท. กำหนดนโยบายออกมา แสดงว่ามั่นใจว่าป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อได้ แต่ถ้าวัคซีนช่วยได้แค่ลดความรุนแรงของโรค ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ก็ไม่สามารถออกนโยบายแบบนั้นได้”
ไม่ต่างจากวัคซีนพาสปอร์ต ที่มีแนวทางว่า ใครฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไทยได้ คุณหมอยศ อธิบายเพิ่มว่า ถ้าคนต่างชาติฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่ขึ้นทะเบียนคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)บ้านเรา จะรับพวกเขาไว้ในประเทศไหม จะรู้ได้ยังไงว่าเอกสารที่ยืนยันว่าฉีดครบตามจำนวนเข็มที่ต้องการ หรือฉีดแล้วอยู่ในระยะเวลาที่เรายอมรับได้ จะเป็นไปตามเอกสารระบุไหม ต้องตกลงให้ชัด"
มีเงินก็ซื้อวัคซีนไม่ได้
อีกข้อสงสัยที่หลายคนคิดว่า ใครมีเงินก็สามารถซื้อวัคซีนโควิดได้ก่อน คุณหมอโสภณ บอกว่า มีโรงพยาบาลเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดต่อมาว่ามีงบประมาณซื้อวัคซีนเองได้
“หน่วยงานปกครองท้องถิ่นก็มาคุยว่ามีล้านกว่าคนจะซื้อ แต่ตอนนี้จะเอาวัคซีนที่ไหน ปัญหาคือ ยังหาวัคซีนไม่ได้ มีความต้องการเยอะ เงินไม่ใช่ปัญหา และนโยบายรัฐฉีดให้ประชาชนฟรีทุกคน ถ้าวัคซีนมาถึงเมืองไทยก็ต้องขึ้นทะเบียน แล้วโรงพยาบาลเอกชนจะซื้อวัคซีนที่ไหน และประเทศเรายิ่งได้วัคซีนเร็วยิ่งดี ส่วนใครไม่แน่ใจว่าจะฉีดแบบไหนก็รอเวลาที่เหมาะสม”
ทางด้าน คุณหมอยศ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า วัคซีนต้นปี 2564 มีไม่พอ แต่ปลายปีอาจล้นตลาด เนื่องจากปีนี้ปีเดียว Astra Zeneca ,Moderna ,Pfizer มีกำลังผลิตสำหรับ 6 พันล้านคน แล้วมีวัคซีนอินเดีย รัสเซีย ออกมาอีก รวมถึงวัคซีนของจอห์สันแอนด์จอห์นสันฉีดเข็มเดียวได้ ถ้ารวมสี่ห้าตัว ประเทศเราจะมีวัคซีนเกินพอดี
"อังกฤษฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ฉีดให้ประชากรได้ไม่ถึง 10 ล้านคน และไวรัสโควิดยังระบาดหนัก ประเทศไทยเองมีลักษณะเฉพาะ ยากที่จะเปรียบเทียบกับประเทศเริ่มฉีดวัคซีนแล้วในยุโรป หรือสิงคโปร์
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า สามารถฉีดวัคซีนมากกว่าหนึ่งชนิดของผู้ผลิตได้ไหม คุณหมอยศ บอกว่า ฉีดวัคซีนตัวเดียวก็สร้างภูมิต้านทานได้ แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่ก็มีผลข้างเคียงได้ ถ้าฉีดวัคซีนมากกว่าหนึ่งตัวหรือหนึ่งบริษัท อาจมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์
“ถ้าถึงเวลาฉีดว้คซีน ถ้ามีคนฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต อย่าเพิ่งเหมารวมว่าเกิดจากวัคซีน บางทีคนๆ นั้นอาจเป็นคนสูงอายุที่กำลังจะเสียชีวิตก็เป็นได้ แล้วแชร์ข้อมูลออกไปกันโดยไม่ดูความจริง และอนาคตอันใกล้ ทุกประเทศอยากเห็นความร่วมมือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข
“ในอาเซียนสิบกว่าประเทศ มีแผนจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคที่ดูแลเกี่ยวกับโรคติดต่อ เพราะคนเรียนรู้มากขึ้นว่า ไม่มีประเทศเดียวที่อยู่รอดได้ และเมื่อไม่นานมีการคุยกัน 6-7 ประเทศ เรื่องแผนหลังจากบริหารจัดการเมื่อมีวัคซีนใช้แล้ว"
"""""""""""""""""""""""""""
สรุปงานวิชาการเรื่องการจัดการวัคซีน (29 มกราคม 2664)
(จากเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว)
1. วัคซีนโควิด ไม่ใช่มาตรการที่จะหยุดยั้งโรคได้ทั้งหมด ยังต้องใช้การรักษาสุขอนามัย กินร้อน ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เพื่อจะช่วยการยับยั้งโรค
2. การศึกษาเรื่องโรคโควิดและวัคซีนโควิด มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีชุดความจริงอันใหม่ที่มีหลักฐานมากกว่ามาเปลี่ยนแปลงความรู้เดิมได้เสมอ และปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมากด้วย คงต้องติดตามข่าวที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบันที่สุด
3. ณ เวลาปัจจุบัน ผลของวัคซีนโควิดคือ “ลดความรุนแรงของโรค” ส่วนเรื่องลดการแพร่กระจาย เรื่องลดการติดเชื้อ หรือผลการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะมาอ้างประสิทธิภาพเหล่านั้น ยังต้องรอผลการศึกษาที่ทำอยู่ในระยะยาว และการศึกษาใหม่ที่ออกมาโดยตรง
4. จากผลการศึกษาหลักคือ ความรุนแรงของโรค ดังนั้นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ควรจะได้รับวัคซีนคือ คนที่เป็นโรคแล้วจะรุนแรง คือ ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ผู้ที่น้ำหนักตัวมากเกินกำหนด และเมื่อกลุ่มคนที่กล่าวมาได้วัคซีนเพียงพอแล้ว จึงกระจายไปสู่บุคคลกลุ่มอื่นต่อไป
5. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อน เพราะต้องดูแลคนกลุ่มเสี่ยงสูง และเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่มไป หากบุคลากรป่วยและติดต่อกันจำนวนมาก (ลองคิดดูว่า คนที่รักษาเราก็ป่วย มันคงไม่ค่อยดีเท่าไร)
6. ถามว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่ระบาด หรือลดการแพร่กระจายจากคนนั้น จริงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่อง ลดการแพร่กระจายหรือลดการติดเชื้อ ดังนั้นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดยังคงต้องติดตามต่อไป หรือแม้แต่ vaccine passport ก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะมันไม่ได้ยืนยันว่าคนที่ฉีดจะไม่แพร่เชื้อหรือไม่ติดเชื้อ แต่ช่วยไม่ให้ติดเชื้อแล้วอาการหนัก
7. การฉีดวัคซีนโดยภาพรวมให้ถึงเป้าหมาย นอกเหนือจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านเศรษฐกิจและสังคม ว่าอย่างน้อย เราก็มีมาตรการป้องกันโรคที่ดีพอ ที่จะทำให้ประเทศกลับมาเหมือนเดิมได้ เราจะดำเนินการฟื้นฟูประเทศอย่างมั่นใจมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายให้ #วัคซีนฟรี# กับประชาชน ตามลำดับความจำเป็นและข้อมูลทางวิชาการ
8. ตอนนี้ให้ใช้วัคซีนตามข้อมูลที่ศึกษาและข้อบ่งชี้ ยังไม่มีข้อมูลว่า ฉีดวัคซีนรวมกันจากหลายบริษัท หรือฉีดปนกันต่างบริษัท หรือฉีดเร็วกว่า ฉีดช้ากว่า จะดีหรือไม่ดีกว่ากัน ทั้งหมดเป็นการประยุกต์แนวคิดที่น่าสนใจ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนการประยุกต์ต่าง ๆ จึงแนะนำให้ใช้ตามหลักฐานปัจจุบันก่อน และยังไม่แนะนำให้ใช้นอกเหนือข้อบ่งชี้เพราะตอนนี้วัคซีนยังไม่เพียงพอ
9. ในอนาคตจะมีวัคซีนเพียงพอ (หรืออาจล้นตลาดได้) ด้วยกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทที่ได้รับการอนุมัตินั้น ถือว่าภายในหนึ่งปีนี้น่าจะเพียงพอ และยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังจะผลิตเพิ่ม รวมทั้งต้องคิดต่อเนื่องเรื่องการกลายพันธุ์หรือการกระตุ้น เข็มสามเข็มสี่ต่อไปด้วย ดังนั้นกำลังการผลิตกำลังเดินหน้าเต็มพิกัด
10. ความปลอดภัยของวัคซีนและประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ วัคซีนก็ใหม่ เราคงไม่สามารถรอให้เกิดคำว่า ปลอดภัย “100%” ได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ และเราอาจแย่จากตัวโรคไปก่อน แค่เราพิสูจน์ว่าประโยชน์มากกว่าผลเสียอย่างชัดเจน และพอจัดการผลเสียนั้นได้ ก็เพียงพอในการนำวัคซีนมาจัดการในทางสาธารณสุข และช่วยสร้างความเชื่อมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจ
11. สำหรับเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน จะเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นเพราะปริมาณการฉีดมากแล้ว ในปัจจุบันพบอันตรายถึงแก่ชีวิตในผู้ที่รับวัคซีน แต่ตอนนี้เท่าที่สืบสวนพบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัววัคซีน อาจจะเคยติดเชื้อมาก่อน หรือมีโรคร่วมอื่น ที่ทำให้เสียชีวิต
** ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ไม่เท่ากับ เสียชีวิตจากวัคซีน** ต้องมาพิสูจน์เสมอว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แม้แต่วัคซีนที่เรากำลังจะฉีดในอีกไม่กี่เดือน ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งไปโทษวัคซีน ต้องพิสูจน์ก่อนเสมอ
12. สำหรับเรื่องประสิทธิภาพโดยรวม การลดการติดเชื้อในระดับชุมชนหรือประเทศ ต้องรอเก็บข้อมูลในไทยหลังรับวัคซีน ข้อมูลประเทศต่าง ๆ ที่มีนั่น เขามีบริบทที่ต่างจากเรา และหากเราไปดูข้อมูลประเทศที่ฉีดไปแล้ว ส่วนใหญ่บริบทก็ต่างจากเรามาก หรือประเทศบริบทใกล้เคียงเราก็ยังรับวัคซีนน้อยเกินไปกว่าที่จะคำนวณได้ ดังนั้นข้อมูลประเทศอื่น ๆ ใช้ได้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น
.....................
อ่านเพิ่มเติมเรื่องวัคซีนได้ที่
-ถ้าวัคซีนมาถึงแล้ว เลือกแบบไหนดี : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/916216
-วัคซีนโควิด-19 ก้าวไกลแค่ไหน : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/917216
-นักไวรัสวิทยา ไขข้อข้องใจ : โควิด-19 กลายพันธุ์ แบบไหนอันตราย? :https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/914387