กทม. เดินหน้าค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าว ในโรงงาน
เผยสถานการณ์โควิด-19 ในกทม. แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง ผู้ติดเชื้อในสถานกักกันราว 5-10 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงสมุทรสาครมีประปราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงผับบาร์สงบลง เร่งค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าวในโรงงานขนาดเล็ก กลาง และใหญ่
วันนี้ (30 มกราคม 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถานบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในกทม. โดยระบุว่า ขณะนี้ ยังคงมีรายงานผู้ป่วยต่อเนื่องทุกวัน แต่แนวโน้มลดลง วันนี้ตัวเลขผู้ป่วยใหม่อยู่ที่หลักหน่วยซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยสะสมขึ้นมาเล็กน้อย เนื่องจากกลุ่มก้อนการระบาดในกลุ่มงานวันเกิด และพนักงานในห้าง
สำหรับ ผู้ติดเชื้อในสถานกักกัน พบวันละราว 5-10 ราย ส่วน ผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงสมุทรสาครมีประปราย ผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงผับบาร์สงบลงแล้ว แสดงให้เห็นว่ามาตรการสถานบันเทิง ผับ บาร์ มีประสิทธิภาพ
ในส่วนของการตรวจแรงงาน ในโรงงาน พื้นที่ กทม. ได้ทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานประกันสังคม สุ่มสำรวจโรงงานที่มีแรงงงานต่างด้าวจำนวนมาก ระยะแรก 5 เขต ได้แก่ บางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ หนองแขม และบางแค สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 40 โรงงาน
ผลการสำรวจพบผู้ติดเชื้อ ในสถานประกอบการ 4 แห่ง โดย 3 แห่งแรกเป็นที่เดิมที่พบในเขตบางขุนเทียน และบางบอน ส่วนอีก 1 โรงงาน เป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ที่เขตภาษีเจริญ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ในส่วน การติดเชื้อในชุมชน ที่มีแรงงานต่างด้าวในเขต บางขุนเทียน บางบอน จำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยก่อนหน้า และโรงงานที่ทำงาน
ผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับเพื่อนสนิท มีรายงานเพิ่มขึ้นมาเยอะ อาจจะบ่งชี้ว่า ต้องมีมาตรการเมื่ออยู่กับเพื่อน คนใกล้ชิด เมื่อเอาตัวเข้าไปเสี่ยงหากไม่กักตัว จะสามารถนำเชื้อมาสู่คนใกล้ชิดได้ สำหรับ การเปรียบเทียบสถานการณ์ระลอกแรก และ ระลอกสอง การระบาดรอบใหม่ไม่สูงเท่าระลอกแรก แต่แนวโน้มค่อนข้างมีต่อเนื่อง ยังวางใจไม่ได้ ผู้ป่วยใน กทม. ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน
นพ.วิชาญ กล่าวต่อไปว่า กรณีงานเลี้ยงวันเกิด 2 งาน ในกทม. พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 30 ราย สถานการณ์ค่อนข้างนิ่งแต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป กรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญของทั้ง กทม. และคนไทยทั้งประเทศ ในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง ไม่นำตัวเองสู่สถานที่ กิจกรรมเสี่ยง และใกล้ชิดคนที่เสี่ยง ซึ่งส่งผลให้ทั้งตัวเองติดเชื้อและแพร่กระจายไปสู่คนใกล้ชิดจำนวนมากได้ ไม่ควรประมาท แม้จะมีมีอาการเพียงเล็กน้อย หากเสี่ยงต้องรีบไปตรวจ
“ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เป็นเรื่องสำคัญในการจัดการระบาด ทุกคนต้องมีจิตสาธารณะ ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ในการควบคุมโรค ต้องไม่เอาตัวไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่ารอให้เกิดการระบาดลุกลาม จนไม่สามารถควบคุมได้ อาจจะสายเกินไป สุดท้าย ในช่วงสถานการณ์ที่ใกล้จะสงบ ขอให้ร่วมมือเพื่อให้สถานการณ์ยุติโดยเร็ว กิจกรรมงดได้งด หากเสี่ยงขอให้เลี่ยง ใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ห้ามปรามกัน ในภาวะวิกฤติ” นพ.วิชาญ กล่าว
ในส่วนของ มาตรการสำคัญ กทม. ได้กำหนดแผนงานปรับเพิ่มการควบคุมโรคในหลายเรื่อง ได้แก่ ระบบเฝ้าระวัง โดยหารือในเรื่องของมาตรการเฝ้าระวังเชิงรับ เพิ่มความเข้มข้นปรับนิยามเฝ้าระวัง พื้นที่เสี่ยง ประชากรเสี่ยง และความรวดเร็วในการจัดการการระบาด ถัดมา คือ เฝ้าระวังเชิงรุก เน้นย้ำ เพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น ค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง โดย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยสำรวจพื้นที่โรงงาน ค้นหาการติดเชื้อในแรงงาน มุ่งเป้าที่โรงงานที่มีแรงงานต่างด้าวทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่
นอกจากนี้ ยังทำการศึกษาระบาดวิทยาเพิ่มเติม ระหว่าง กทม. และ กรมควบคุมโรค เพื่อค้นหาการติดเชื้อในชุมชน มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนไทย อาชีพบริการ ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสแรงงานต่างด้าว หรือ บุคากรทางด้านสาธารณสุข อาชีพขับรถรับจ้าง พนักงานแคชเชียร์ เจ้าหน้าหน้าที่สำนักงานเขต ฯลฯ
มาตรการควบคุมในสถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าว มีการทบทวนมาตรการดูแลผู้ป่วย โดยให้ส่งผู้ป่วยเข้ารักษา ให้ครบระยะเวลาที่กรอบการแพทย์ระบุไว้ ในสถานที่ที่กำหนด พร้อมสั่งตรงไปยังสถานประกอบการและที่พักที่มีแรงงานต่างด้าว ให้นำกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มากักกันในสถานที่ที่ กทม. กำหนด