อัพเดท! ร่าง พ.ร.บ. 'กฎหมายทำแท้ง' จะมีบริการ 'ยุติการตั้งครรภ์'

อัพเดท! ร่าง พ.ร.บ. 'กฎหมายทำแท้ง' จะมีบริการ 'ยุติการตั้งครรภ์'

ร่าง พ.ร.บ. "กฎหมายทำแท้ง" ผ่านมาตรา 301 และมาตรา 305 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครม. มีมติเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ หนึ่งในนั้นคือ จะจัดให้มีบริการ "ยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์"

วันนี้ (2 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. “กฎหมายทำแท้ง” โดยระบุว่า

ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก หรือที่เรียกว่า “กฎหมายทำแท้ง” ได้มีการผ่านมาตรา 301 และมาตรา 305 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในการพิจารณาครั้งนั้น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติต่อ ซึ่ง ครม. ก็มีมติเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว นั่นคือ

1. แก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

2. ให้ “แพทยสภา” ปรับปรุงข้อบังคับของแพทยสภา ว่าด้วยหสลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการ “ยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามาตรา มาตรา 301 และมาตรา 305 โดยเร่งด่วน

3. กระทรวงสาธารณสุข ควรกำหนดมาตรการบริการ ให้กับผู้หญิงที่จะมารับบริการดังกล่าว โดยให้ศูนย์บริการภาครัฐทุกแห่ง จัดให้มีบริการ "ปรึกษาทางเลือก แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ และ การยุติการตั้งครรภ์" อย่างทั่วถึง รวมทั้งจัดให้มีศูนย์บริการในโรงพยาบาลของรัฐ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ที่เกี่ยวข้องกับการ "ยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย"

4. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณ และสนับสนุนช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่ “ตั้งครรภ์ไม่พร้อม” และควรกำหนดให้มีการจัดทำรายงานติดตามประเมินผลการทำงานทุกปี เสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลก็มีความพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายละเอียดที่ทางแพทยสภา จะจัดการเขียนรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับสถานพยาบาลและผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนสบายใจได้

สำหรับรายละเอียดของมาตรา 301 และมาตรา 305 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น มีรายละเอียดดังนี้

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301

จากเดิม : กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แก้ไขเพิ่มเติมเป็น : มาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ “ไม่เกิน 12 สัปดาห์” สามารถทำแท้งได้ ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าว เป็นไปตามความเห็นของแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

อีกทั้ง มีการแก้ไขลดอัตราโทษ เพื่อให้เหมาะสม แก้ไขเป็น : มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305

จากเดิม : ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ

(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284

ผู้กระทำไม่มีความผิด

แก้ไขเป็น : ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ มาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะ "ยุติการตั้งครรภ์"