นพ.นคร เปรมศรี : มองให้ไกลเรื่อง'วัคซีน'
ถ้า"ไวรัสโควิด"ไม่แพร่ระบาดขนาดนี้ รัฐบาลคงไม่อนุมัติงบพัฒนาวัคซีนให้นักวิทยาศาสตร์ไทย เรื่องนี้ผู้บริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มองว่า ต่อไปประเทศเราต้องสร้างคนต้นคิดในการผลิตวัคซีนในประเทศ และล่าสุดกับการจัดการวัคซีนโควิด กลุ่มไหนยังไม่ควรรับวัคซีน
คงรู้กันแล้วว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์หรืออาจเดือนมีนาคม (2564) คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 และรัฐบาลได้ไฟเขียวให้งบพัฒนาวัคซีนโควิดแก่นักวิทยาศาสตร์ไทย 1,800 ล้านบาท สนับสนุนนักวิจัยหลายสถาบันที่กำลังทดลองวัคซีนโควิดในมนุษย์
ก่อนหน้านี้ คุณหมอนคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตอบคำถามทั้งดราม่าและไม่ดราม่าเรื่องวัคซีน โดยเฉพาะบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้สิทธิผลิตวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนก้า เขาตอบชัดเจนว่า เป็นบริษัทที่มีความพร้อมมากที่สุด
ส่วนความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องวัคซีนไม่พอ มีพอสำหรับทุกคน ตอนนี้ผู้ผลิตวัคซีนในโลกทยอยประกาศประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีน
“เป้าหมายการผลิตวัคซีนของเราไม่ได้ต้องการแค่การวิจัย ถ้าเราอยากได้วัคซีนจริงๆ เราต้องเดินหน้าต่อ เครือข่ายที่ทำงานเรื่องวัคซีนก็ร่วมมือกัน ไม่มีกำแพง เป็นโอกาสในการพัฒนาวัคซีนในเมืองไทย ถ้าเทียบกับอเมริกา อังกฤษหรือจีน เราคงไม่พร้อมที่จะสู้กับนักวิจัยเหล่านั้น เมื่อสู้นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติไม่ได้ ก็ไม่ใช่ว่ารอซื้อวัคซีนอย่างเดียว ที่ผ่านมาเราตั้งรับอย่างเดียว ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องพึ่งพิงตนเอง”
-1-
เหตุใดคนไทยติดเชื้อไม่เยอะเท่าคนในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบระบาดวิทยาของเมืองไทยมีรากฐานที่ดี เนื่องจากแพทย์ด้านนี้ได้สร้างเครือข่ายโยงใยติดตามการระบาดได้ทั้งประเทศ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงไปถึงหมู่บ้าน จนหลายประเทศให้คำชมเชยในเรื่องการป้ัองกันไวรัสโควิด
คุณหมอนคร บอกว่า การป้องกันไวรัสโควิดในประเทศไทย ทั่วโลกยกย่องพวกเรา ซึ่งทั้งหมดอยู่ในการดูแลของหมอด้านระบาดวิทยาที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะมานาน
"ผมเองก็เคยเป็นหมอด้านระบาดวิทยา ได้นำแนวทางมาประยุกต์ใช้ป้องกันโรคให้คนไทย ครูแพทย์ของผม อาจารย์หมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ บอกว่า การป้องกันโรคที่ดีจะสามารถช่วยชีวิตคนได้ จากการตัดสินใจครั้งเดียวอาจช่วยคนได้หลักล้าน ขณะที่ประเทศอื่นติดเชื้อเป็นแสนเป็นล้านคน แต่บ้านเราอยู่ที่หลักหมื่น หลักการทำงานของหมอระบาดวิทยา ก็จะยึดแนวทางนี้ให้เกิดประโยชน์ในมุมกว้าง ”
-2-
ส่วนการจัดหาวัคซีน คุณหมอนคร เล่าถึงสถานการณ์ตอนนี้ว่า ยังอยู่ภาวะเร่งด่วน มีความแปรเปลี่ยนทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน
“การระบาดไวรัสรอบใหม่ หลายคนก็บอกว่าต้องหาวัคซีนมาเร็วๆ ต่างจากตอนที่ระบาดไม่เยอะ แม้วัคซีนของแอสก้าซินิก้าจะได้เดือนมิถุนายนก็ไม่มีปัญหา ตอนนี้ลงนามในสัญญาไปแล้ว ก็จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ใช้เวลาในการผลิตวัคซีนล็อคใหญ่ ซี่งในกรณีเร่งด่วนแบบนี้ ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก”
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการวัคซีน คงต้องดูทั้งสถานการณ์โลกและปัจจัยภายในประเทศ คุณหมอนคร บอกว่า กำลังผลิตวัคซีนจะออกมาเยอะ ช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน
“ตอนนี้ผมไม่กังวลเรื่องวัคซีนไม่พอแล้ว มีพอสำหรับทุกคน ผู้ผลิตวัคซีนทยอยออกมา ภายในไตรมาส 3 ในปีนี้ เราจะเห็นกำลังผลิตวัคซีนมหาศาล คงหาวัคซีนได้ไม่ยาก”
ก่อนหน้านี้ คนไทยแทบจะไม่สนใจเลยว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำอะไรบ้าง แต่ตอนนี้ได้รับความสนใจมาก คุณหมอนคร บอกว่า หน่วยงานเราช่วยสนับสนุนการวิจัยวัคซีนในประเทศ และสนับสนุนการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการจัดหาวัคซีนเบื้องต้น
“ตอนนี้วัคซีนทีผลิตหลายแห่ง ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ข้อมูลยังไม่นิ่ง เราต้องติดตามเพื่อนำเสนอข้อมูลให้คณะอนุกรรมการต่างๆ ตัดสินใจ โดยเฉพาะคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และอีกหลายคณะกรรมการ ตอนนี้มีนโยบายว่า ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง”
แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าวในไทยก็ต้องจัดหาวัคซีนให้ คุณหมอนคร เล่าถึงการจัดการว่า กลุ่มประชากรต่างด้าวก็ต้องหากลไกในด้านงบประมาณ อาจใช้บัตรประกันสังคม หรือนายจ้างรวมกลุ่มกัน สมาคมผู้ประกอบการช่วยกัน
“การจัดหาวัคซีนให้ประชาชนทุกคน มีบางกลุ่มไม่อยู่ในข่ายรับวัคซีน คืออายุต่ำกว่า 18 ปีหรือหญิงตั้งครรภ์ ต้องรอจนกว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าสามารถรับวัคซีนได้ จึงจะขยายกลุ่มให้วัคซีน ในการฉีดวัคซีนคาดคะเนว่า คงใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ ที่ผมห่วงมากที่สุดคือ เรื่องการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึง
-3-
ในฐานะผู้บริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คุณหมอนคร มองว่า รากฐานการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยต้องขยับไปอีกขั้น ต่อไปประเทศเราต้องมีความมั่นคงด้านวัคซีน ทั้งเรื่องการสร้างคนและโครงสร้างพื้นฐาน
"ถ้าโควิดไปแล้ว เราก็คงเจอโรคอุบัติใหม่อยู่เรื่อยๆ ในช่วงชีวิตของเรา พวกเราเจอไวรัสระบาดมาหลายตัวแล้ว แต่ไม่อยู่ในใจเราเท่าโควิด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ก็เคยระบาด ผู้นำประเทศตอนนั้นยังเคยนั่งกินไก่โชว์ แล้วยังมีเมอร์ส ซาร์ส อีโบล่า ฯลฯ
การแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ระหว่างคนกับสัตว์ ยังไงก็ต้องเจอ ที่เรารับมือคราวนี้ได้ เพราะที่ผ่านมาเรารับมือกับโรคต่างๆ ได้ดี เรามีต้นทุนเดิม"
นั่นทำให้ต้องมองการณ์ไกล โดยเฉพาะเรื่องการผลิตวัคซีน คุณหมอนคร บอกว่า ต้องมีการสร้างคน สร้างหลักสูตรการผลิตวัคซีน ค่อนข้างออกแบบยาก ต้องมีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขารวมตัวกันถ่ายทอดความรู้เรื่องวัคซีน
"เมืองไทยยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะแบบนี้ มีแค่การอบรมระยะสั้น ในต่างประเทศมีหลักสูตรวิทยาการด้านวัคซีน เรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าสถาบันวัคซีนแห่งชาติและสถาบันการศึกษามาช่วยกันต่อจิกซอก็เป็นไปได้ และที่ผ่านมายังไม่เห็นความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพนี้ ขณะที่อุตสาหกรรมด้านวัคซีนในต่างประเทศ หากใครเรียนสาขานี้ เงินเดือนสูงมาก "
แม้การบริหารจัดการในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด ผู้บริหารอย่างเขาต้องทำงานหนัก แต่คุณหมอมองว่า ไม่ใช่องค์กรเดียวที่ทำงานหนัก ทุกภาคส่วนทำงานหนักหมด เพราะเป็นวิกฤติของประเทศ
"พวกเรามีเป้าหมายที่จะควบคุมการระบาดของโรค เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมดำเนินต่อไป และพวกเราคนไทยมีสุขภาพที่ดี ถ้าร่วมมือร่วมใจกัน จะทำให้การระบาดของโรคยุติได้เร็ว
ผมเองก็ประยุกต์ความรู้ด้านระบาดวิทยากับการทดลองวัคซีนไวรัสเอดส์ที่ผมทำมานาน และผมเคยเป็นผู้ช่วยนักวิจัยเรื่องวัคซีนมาก่อน ผมอยากให้ประเทศไทยผลิตและพัฒนาวัคซีนเอง ถ้าไม่มีการระบาดของโรค ก็พัฒนาวัคซีนออกมาขายได้"