แผนแก้ปัญหา 'น้ำประปาเค็ม' ขยายกำลังการผลิต เพิ่มอุโมงค์ส่งน้ำ

แผนแก้ปัญหา 'น้ำประปาเค็ม' ขยายกำลังการผลิต เพิ่มอุโมงค์ส่งน้ำ

สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ปัจจุบัน (2 ก.พ. 64) วัดค่าความเค็มได้ 0.25 กรัมต่อลิตร

ว่ากันว่าปีนี้ปริมาณต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผล ไม้ยืนต้นเป็นหลัก ไม่เพียงพอที่จะนำไปผลักดันความเค็มได้ตลอดเวลา โดยข้อมูล ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.พ.64) พบว่า 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,992 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,296 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณน้ำใช้การรวมกัน

สมศักดิ์ ปัสนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม การประปานครหลวง (กปน.) อธิบายว่า สาเหตุของปัญหาน้ำประปามีรสชาติกร่อยบางช่วงเวลา มาจากวิกฤติภัยแล้ง ฝนตกน้อยทำให้ปริมาณน้ำใช้การในเขื่อนหลักมีน้อย ทั้งกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการระบาย เพื่อให้มีน้ำเหลือเพียงพอต่อการใช้งานในทุกๆ ภาคส่วนตลอดช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องถึงช่วงต้นฤดูฝน

อีกทั้งปริมาณน้ำที่ระบายลงมาจากเขื่อนมีปริมาณจำกัด และมีการใช้น้ำระหว่างทางปริมาณมาก ทำให้เหลือลงมาไม่เพียงพอต่อการใช้งานในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการผลักดันลิ่มความเค็มที่รุกสูงขึ้นมา น้ำทะเลหนุนสูง พร้อมกับบางวันมีลักษณะการขึ้นลงแบบสองครั้งต่อเนื่อง (double peak) และมีการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัว (surge) เป็นแรงเสริมทำให้น้ำทะเลรุกสูงเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ซึ่งยากต่อการคาดการณ์และไม่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ แหล่งจัดหาน้ำดิบของการประปานครหลวง เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำประปา ส่ง/จ่ายให้บริการกับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ มี 2 แหล่ง (ไม่เชื่อมโยงกัน) ได้แก่ เขื่อนแม่กลอง และ แม่น้ำเจ้าพระยา

ปัจจุบัน กปน. ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง คือ น้ำดิบฝั่งตะวันออกลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกสูงถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล และปนเปื้อนในน้ำดิบที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำประปาอาจมีรสชาติกร่อยในบางช่วงเวลา เฉพาะผู้ใช้น้ำใน 3 จังหวัดดังกล่าวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ หลักสี่ ดอนเมือง ลาดกระบัง บางพลี บางนา สำโรง ฯลฯ ส่วนฝั่งตะวันตกจากลุ่มน้ำแม่กลองไม่ได้รับผลกระทบ

รักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ น้ำทะเลจะหนุนสูงกว่าปกติและส่งผลให้น้ำประปาบางช่วงเวลาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป แต่น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)

ที่ผ่านมา กปน. ได้ตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำ” เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยมีมาตรการรองรับสถานการณ์ดังนี้ 1. บริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ด้วยความรัดกุม โดยสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด ซึ่งความสามารถในการหลบเลี่ยงทำได้สูงสุดเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้ทุกพื้นที่ให้บริการของ กปน. ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ มีน้ำประปาใช้อย่างไม่ขาดแคลน

2. ร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ในการร่วมปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation : กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำทะเลหนุน โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2564 และ 28-31 มกราคม 2564

3. เปิดจุดบริการน้ำประปาดื่มได้ให้บริการฟรี ให้ประชาชนสามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาได้ที่สำนักงานทั้ง 18 แห่ง และ 4. แจ้งข้อมูลคาดการณ์คุณภาพน้ำประปารายวัน ผ่านทาง facebook / twitter /IG / Line : MWAthailand /แอปพลิเคชัน MWA onMobile และ www.mwa.co.th

นอกจากนี้ กปน. ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ด้วยแผนการดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2565 ด้วยงบประมาณกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบส่งน้ำ โดยขยายกำลังการผลิตน้ำของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมทั้ง ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มอีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อสร้างประสิทธิภาพในระบบสูบจ่ายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วยการเพิ่มสถานีสูบจ่ายน้ำแห่งใหม่ รองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

161245182856

  • แนวทางรับมือน้ำประปาเค็ม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ความเค็มจากน้ำประปา ซึ่งเกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลกระทบให้น้ำดิบมีความเค็ม แต่คุณภาพน้ำประปายังได้มาตรฐานเหมือนเดิม ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจจะรับรู้ถึงรสชาติกร่อยหรือเค็มของน้ำประปาที่เปลี่ยนไป โดยในชีวิตประจำวันของเรา มีโอกาสได้รับโซเดียมจากอาหารที่มีรสเค็มอื่นๆ เช่น ขนมกรุบกรอบ อาหารปรุงสำเร็จที่เติมน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส รวมวถึงอาหาร Fast Food โดยปริมาณโซเดียมที่แนะนำบริโภคต่อวัน ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

โดยปกติ การผลิตน้ำประปาจะผลิตให้โซเดียมไม่เกิน 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ คนดื่มน้ำ 1.5 – 2 ลิตร หรือ 6 – 8 แก้ว ดังนั้น หากดื่มน้ำประปาตามปกติ จะได้รับโซเดียม 200- 300 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่น้ำประปาที่เค็ม อาจทำให้น้ำประปามีโซเดียมเกินปกติเป็น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร หากดื่มน้ำตามปกติ 1.5 – 2 ลิตร หรือ 6-8 แก้ว จะได้รับโซเดียมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร

แนวทางการปฏิบัติตน ในการรับมือน้ำประปาเค็ม ได้แก่ 2 ลดกลุ่มปกติ” สามารถบริโภคน้ำประปาได้ตามปกติ และควรสำรองน้ำไว้ดื่มในช่วงที่ค่ำความเค็มต่ำ โดย 1. ลดปริมาณสารปรุงรสที่มีความเค็มในอาหาร และ 2 อาหารที่มีโซเดียมสูง 

สำหรับ “กลุ่มเสี่ยง 2 เปลี่ยน” ไม่ควรบริโภคน้ำประปาเค็ม ได้แก่ เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แนวทาง คือ 1. เปลี่ยนดื่มน้ำบรรจุขวดปิดสนิท ที่ผ่านมาตรฐาน อย. ยกเว้นน้ำแร่ น้ำด่าง หรือน้ำผสมวิตามิน และ 2. เปลี่ยนมาดื่มน้ำประปาผ่านระบบกรอง RO (Reverse Osmosis) สำหรับบ้านเรือนที่มีเครื่องกรองน้ำระบบ RO ควรดูแลรักษาเครื่องกรองให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม การต้มน้ำประปาไม่ได้ลดความเค็ม แต่กลับเพิ่มความเข้มข้นของโซเดียม เนื่องจากสิ่งที่ระเหยคือน้ำ แต่เกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย