ก้าวสำคัญ Transformation Education
ส่องตัวอย่าง "Education Transformation" การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญวงการศึกษา สะท้อนคุณภาพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่สามารถก้าวออกไปสู่สังคม ภายใต้ทักษะความรู้ความสามารถที่พร้อมสู่การแข่งขันได้
ท่ามกลางวิกฤติอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ชูธงบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำพาสถาบันสู่วิสัยทัศน์อันเป็นเป้าหมายร่วมกัน คือมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก ภายใต้แนวคิด KKU Transformation โดยการกำหนดทิศทางบริหารมหาวิทยาลัยให้พร้อมต่อระบบการศึกษาอย่างเสรีภาพ เข้าถึงแหล่งความรู้ทุกทิศทาง พร้อมต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาส่งมอบองค์ความรู้สู่สังคม
ผลลัพธ์ของความสำเร็จทางการศึกษา ย่อมหมายถึงคุณภาพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่สามารถก้าวออกไปสู่สังคม ภายใต้ทักษะความรู้ความสามารถที่พร้อมสู่การแข่งขัน การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา Education Transformation เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและประชาชน ซึ่งมีแนวคิดหลักคือ พัฒนาหลักสูตรเดิมสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยเน้นให้มีสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่เพียงพอ ปรับเนื้อหาของหลักสูตรให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ สู่ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มต้นในวันนี้
“คณะเกษตรศาสตร์” คือหนึ่งในคณะวิชาที่ดูเหมือนว่าจะเห็นการเคลื่อนไหวทางด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนักศึกษา ที่มีความเด่นชัดและเรียกความสนใจให้ผู้คนได้หันมามองทุกครั้ง โดยเฉพาะจากความสำเร็จของกิจกรรม แปลงกังหัน พื้นที่เนรมิตใหม่ที่เรียกแขกให้เข้ามามหาวิทยาลัยไม่ขาดสาย แปลงคัตเตอร์ที่สะพรั่งพราว รวมทั้งภาพจำของนักศึกษาที่ที่แบกจอบแบกเสียมลงแปลงทดลองปลูกพืชผักในยามเย็น พร้อมเสียงเรียกเชิญชวนผู้ผ่านไปมาให้แวะซื้อผลผลิตริมทาง กิจกรรมลงแปลงนาที่ได้เห็นภาพความร่วมแรงร่วมใจของทั้งครูอาจารย์และนักศึกษาลูกเกษตรที่น่ารักอบอุ่น ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้คือการปูทางไปสู่เป้าหมายให้กับนักศึกษาทุกคน
โดยทั่วไปแล้วการจัดการศึกษาจะมองไปยังบัณฑิตที่เราคาดหวังว่าต้องการให้ออกไปสู่ตลาดงานในลักษณะอย่างไร หลักสูตรจึงเป็นเหมือนพิมพ์เขียวบวกกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยในการสร้างหลักสูตรนั้นเราต้องให้ความสำคัญทั้งกิจกรรมในหลักสูตรและกิจกรรมเสริมหลักสูตร มาถึงวันนี้บริบททางสังคมเปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องที่จะมีผลต่อการออกสู่ตลาดงานของบัณฑิตเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมามองทบทวนตัวเอง
คำว่า วิทยา จริยา ปัญญา ที่เราใช้นับแต่ก่อตั้งมายังเป็นฐานคิดของการจัดการศึกษาที่ดี แต่สิ่งที่เราจะเติมเต็มลงไปเพื่อสร้างเขาให้มีคุณลักษณ์ตามบริบททางสังคม ทำให้เราได้กลับมามองย้อนถึงหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งเดิมเราเน้นเนื้อหาความรู้เราก็อยู่รอดได้เพราะสังคมไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่วันนี้เรากำลังมองหาคำตอบให้กับนักศึกษาของเราว่า “ควรรู้อะไร ควรทำอะไรเป็น และมีทัศนคติในการทำงานอย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำหลักสูตร “เกษตรนวัตกรรม” หลักสูตรของการบูรณาการการทำงานกับการเรียนการสอนเข้ามาด้วยกัน เป็นหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
“เกษตรนวัตกรรม” หลักสูตรจะมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการให้นักศึกษาได้ออกมาลงแปลง มาฝึกเรียนรู้ในสถานการณ์จริงกลับไป เพื่อถอดบทเรียนต่อยอดความคิด แต่ด้วยการเป็นหลักสูตรนำร่องจึงรับนักศึกษาได้น้อยเพียง 40-50 คนต่อปี ซึ่งดำเนินการมาถึง 3 ปี พบว่าเราต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของเวลาและการที่อาจารย์ต้องลงไปเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งวันนี้ยังถือได้ว่าไม่เป็นอุปสรรคมากนัก เพราะเราที่มีสถานที่ฝึกของนักศึกษาเกษตรอยู่ภายในมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นแคมปัส มีครูอาจารย์อาศัยอยู่ภายใน
แต่หากวันข้างหน้าของการใช้หลักสูตรนี้แล้วต้องขยายวงการฝึกประสบการณ์ที่กว้างออกไป จะต้องกลับมาเพื่อเตรียมความพร้อมกัน ตอนนี้เราใช้หลักสูตรเกษตรนวัตกรรมเป็นเสมือนไข่แดงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะลง Facility แล้วดึงหลักสูตรอื่นๆ มาเชื่อมโยง เพื่อเตรียมความพร้อมและให้นักศึกษาในหลักสูตรทั่วไปได้เข้ามาฝึกฝน
ประเทศที่มีฐานด้านการเกษตรเหมือนที่เราเป็นอยู่ จะมีความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นทุนอยู่แล้ว แล้วยิ่งมาเจอสภาวการณ์ที่ทำให้การเคลื่อนที่ไปมาหากันยากลำบาก การเกษตรยิ่งมีความสำคัญเป็นทวีคูณ เมื่อปลายน้ำมีความสำคัญเช่นนี้ การพัฒนากำลังคนเพื่อไปตอบสนองเสมือนต้นน้ำจึงเป็นโจทย์ใหญ่ โอกาสนี้จึงเป็นเวลาที่ครูบาอาจารย์และผู้บริหารที่ต้องสนับสนุนส่งเสริมและสร้างพวกเขาให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ